หกเดือนหลังพระราชพิธีโสกันต์ของพระองค์เจ้าอาภากรฯ ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ เกิด “วิกฤตการณ์ปากน้ำ”(Paknam Incident) หรือที่มักเรียกกันตามปีรัตนโกสินทรศก คือศักราชอันเริ่มนับแต่ปีก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ว่า “กรณี ร.ศ. ๑๑๒”

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 4 - วิกฤตการณ์ปากน้ำ และแผนใหม่

เรือตรวจการณ์แองกงสตัง (Inconstant) และเรือปืนโกแมต (Comète) ของฝรั่งเศส ละเมิดสนธิสัญญาพระราชไมตรีสยาม-ฝรั่งเศส แล่นรุกล้ำเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาต จนเกิดปะทะกับเรือรบและป้อมปืน “พระจุลจอมเกล้า” ของสยามที่ “ปากน้ำ” เมืองสมุทรปราการ แต่ในที่สุด เรือรบทั้งสองลำสามารถตีฝ่าจนแล่นขึ้นมาจนถึงกรุงเทพฯ แล้วไปจอดสมทบกับเรือปืนลูแตง (Lutin) ที่ทอดสมอรออยู่หน้าสถานกงสุลฝรั่งเศส ย่านบางรัก

การปะทะที่ปากน้ำทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความเสียหายและมีผู้เสียชีวิต

จากเหตุการณ์นี้ฝรั่งเศสจึงประกาศปิดอ่าว ห้ามเรือทุกชนิดแล่นเข้าออกจากอ่าวสยาม (ปัจจุบันเรียกว่า “อ่าวไทย”) และไม่รับรองความปลอดภัยใดๆ สำหรับผู้ฝ่าฝืน ซึ่งเท่ากับตัดขาดกรุงเทพฯ จากโลกภายนอก พร้อมกันนั้นยังยื่นคำขาดให้สยามยอมยก “ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง” (คือส่วนใหญ่ของดินแดนลาว) ให้แก่ฝรั่งเศส และจ่าย “ค่าเสียหาย” ภายใน ๔๘ ชั่วโมง เป็นเงินสด ๓ ล้านฟรังก์ (คิดเป็นเงินสยามราว ๑ ล้าน ๖ แสนบาท หรือประมาณร้อยละ ๑๐ ของงบประมาณแผ่นดินประจำปีขณะนั้น) พ่วงด้วยข้อเรียกร้องปลีกย่อยอีกหลายประการ

ระหว่างช่วงสัปดาห์กลางเดือนกรกฎาคมในปี ๒๔๓๖ ถือได้ว่าสยามจวนเจียนจะเสียเอกราชอยู่รอมร่อ เพราะการหาเงินสดมากมายขนาดนั้นภายในระยะเวลาอันสั้นเป็นเงื่อนไขข้อเรียกร้องที่ฝ่ายฝรั่งเศสตั้งใจกำหนดขึ้น เพื่อให้สยามไม่มีทางหามาชดใช้ได้ทัน ทั้งเงินงบประมาณแผ่นดิน สมทบด้วยเงินสดและเครื่องเพชรเครื่องทองที่เจ้านายขุนนางร่วมแรงร่วมใจกันสละ ตลอดจน “เงินถุงแดง” ซึ่งเล่ากันมาว่าเป็นพระราชทรัพย์ของรัชกาลที่ ๓ ที่ทรงสะสมมาจากการค้าสำเภา แล้วยังเหลือตกค้างอยู่บ้างในท้องพระคลัง ถูกนำมากองนับเพื่อจ่ายค่าเสียหายตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส

ก่อนหน้านั้น ในปี ๒๔๒๘ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชุดแรกจำนวนสี่พระองค์ ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อในทวีปยุโรป ได้แก่ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอ่วม) พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ) พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแช่ม) และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทับทิม) โดยให้แต่ละพระองค์ทรงเลือกวิชาความรู้ที่จะเล่าเรียนได้ตามพระทัยปรารถนา

ทว่า หลังจาก “วิกฤตการณ์ปากน้ำ” ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๓๖ ผ่านพ้นไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยส่งพระเจ้าลูกยาเธออีกสองพระองค์ไปทรงศึกษาในทวีปยุโรป ได้แก่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี (พระราชโอรสในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) และพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด) โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้ไปศึกษาวิชาการทหารเรือเป็นการเฉพาะ เพราะประสบการณ์จากกรณี ร.ศ. ๑๑๒ ทำให้ตระหนักว่า สยามในฐานะชาติเล็ก ไม่อาจไว้วางใจให้นายทหารตะวันตกคนใดมาเป็นผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ผู้บังคับการเรือ หรือผู้บังคับการป้อมปืนได้อีกต่อไป โดยความมุ่งหวังสูงสุดประการสำคัญคือเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาในกรมทหารเรือให้คนไทยเข้าแทนที่ฝรั่งทั้งหมด

ทั้งสองพระองค์มีวัยใกล้เคียงกันมาก คือพระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงเป็น “เจ้าพี่” ที่มีอายุมากกว่าเพียง ๑๓ วัน นอกจากนั้นยังทรงเติบโตมาด้วยกันในพระบรมมหาราชวัง และทรงเป็น “ศิษย์เก่า” โรงเรียนราชกุมารทั้งคู่


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ