“…นับแต่นั้นมา ก็หามีใครได้ยินว่าผีนางนากออกอาละวาดอีกเลย ส่วนท่านสมเด็จพุฒาจารย์โตก็ได้นำกระดูกน่าผากนางนากชิ้นนั้นมาทำเปนปั้นเหน่งรัดประคด เกบไว้กับตัวตลอดมา เล่ากันว่าต่อมาหลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว กระดูกน่าผากนางนากชิ้นนั้นได้ตกไปอยู่ในครอบครองของสมเด็จกรมหลวงชุมพรฯ แลเปลี่ยนมือไปอีกหลายคนจนบัดนี้ ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ใด…”

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 79 - เสด็จเตี่ย ผจญ อีนากพระโขนง”(1)

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ในฐานะผู้เขียนบท ปิดท้ายภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” (๒๕๔๒) อันโด่งดัง ของผู้กำกับฯ นนทรีย์ นิมิบุตร ไว้ตรงนั้น

น่าสนใจว่าข้อความนี้มิได้เป็นการเสริมเติมแต่งขึ้นตามจินตนาการของผู้เขียนบท หากแต่ส่อแสดงว่าคุณวิศิษฏ์ได้ “ทำการบ้าน” ค้นคว้ามาเป็นอย่างดี

มีเกร็ดประวัติเรื่องกระดูกหน้าผากของนางนาก ว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ ต้นกำเนิด “พระสมเด็จ” อันลือลั่น เป็นผู้เดินทางไปปราบผีนางนากพระโขนง (โบราณออกชื่อกันว่า “อีนากพระโขนง”) ด้วยตัวของท่านเอง แล้วสกัดเอากะโหลกหน้าผากของนาง (พร้อมด้วยวิญญาน) มาทำเป็น “ปั้นเหน่ง” หรือหัวเข็มขัด เก็บรักษาไว้

เมื่อท่านถึงแก่มรณภาพแล้ว ปั้นเหน่งชิ้นนั้นถูกเปลี่ยนมือไปเป็นทอดๆ จนตกมาอยู่กับกรมหลวงชุมพรฯ

เรื่องนี้ พระธิดาคือหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร ทรงเล่าว่า เสด็จในกรมฯ “มีกระดูกหน้าผากแม่นาคพระโขนง คาดไว้ที่บั้นพระองค์ ไม่ทราบว่าใครนำมาถวาย”

นั่นคือท่านหญิงยืนยันว่ากรมหลวงชุมพรฯ ทรงเคยมีหัวเข็มขัดกระดูกหน้าผากผีชั้นนั้นไว้ในความครอบครองจริงๆ และทรงคาดไว้กับบั้นพระองค์ (เอว) ติดตัวตลอดเวลา แต่ท่านหญิงเองไม่ทรงทราบว่าเสด็จในกรมฯ ได้มาจากใคร

ที่มาของ “ปั้นเหน่ง” ชิ้นนี้ มีคำเล่าลือแตกเป็นสองเสียง

บ้างว่าทรงได้รับตกทอดมาจากสายวัดระฆังฯ ผ่านทางสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) ดังที่พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) บันทึกไว้ในหนังสือ “ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)” ว่า

“ปั้นเหน่งซึ่งเป็นกระดูกหน้าผากของนางนาคพระโขนงนั้น ตกอยู่กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระธรรมเจดีย์ ได้เป็นเสด็จอุปัชฌาย์ของผู้เรียงประวัติเรื่องนี้ ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัศ) ไปครองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระนคร จึงได้มอบปั้นเหน่งกระดูกหน้าผากนางนาคพระโขนง ให้กรรมสิทธิ์ไว้แก่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ) เจ้าอาวาสวัดระฆัง แต่ครั้งยังดำรงตำแหน่งพระพิมลธรรมนั้น (ได้ยินแว่วๆ ว่าปั้นเหน่งนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ถวาย ฯลฯ แล้ว)…”

ข้อความตอนท้ายที่ว่า “ได้ยินแว่วๆ” ว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ถวาย “ฯลฯ” แล้ว คงเป็นการที่ผู้บันทึกละไว้ “ในฐานที่เข้าใจ” จึงเป็นไปได้ที่ “ฯลฯ” นั้น น่าจะหมายถึงผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์ หรือเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง

แต่บางท่านก็ว่า กรมหลวงชุมพรฯ ทรงได้รับปั้นเหน่งกระดูกหน้าผากนางนากมาจากหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่เสด็จในกรมฯ ทรงให้ความนับถืออย่างยิ่ง


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ