ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเริ่มต้นโครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์(Phuket Sandbox) ซึ่งเป็นแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่อนุญาตให้นักเดินทางต่างชาติที่ได้วัคซีนครบโดสแล้ว สามารถเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว และเที่ยวใน จังหวัดภูเก็ต ได้ 14 วัน โดยไม่ต้องกักตัวในห้องพัก ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในไทย หากผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ซึ่งทำให้หลายคนเกิดคำถามว่าทำไมถึงตั้งชื่อโครงการว่าแซนด์บอกซ์ ?

Sandbox

คำนี้แปลแบบขวานผ่านซากในภาษาอังกฤษจะหมายถึง กระบะทรายที่มักเป็นพื้นที่หนึ่งในสนามเด็กเล่น พบเห็นได้ในหลายประเทศ.กระบะทรายนั้นเป็นสิ่งที่มีเริ่มแรกในสนามเด็กเล่นของอเมริกา ช่วงต้นฤดูร้อนในปี ค.ศ.1885 กลุ่มสตรีใจบุญเห็นว่าในเมืองบอสตันต้องการพื้นที่ให้เด็กอพยพมีสถานที่เล่นในถนนที่อันตราย เธอจึงเรี่ยไรเงินมาซื้อกองทรายเทในลนของโบสถ์แห่งหนึ่งของถนนพาร์เมนเทอร์ให้เด็กมาเล่นฟรีๆ โดยนำแนวคิดการเล่นดังกล่าวมาจากสวนทราย ในประเทศเยอรมนี ที่มีตั้งแต่ปี 1850 ก่อนจะขยายพื้นที่ไปอีกหลายจุด และกระบะ หรือกล่องไม้ได้ถูกนำมาเป็นพื้นที่สำหรับเก็บไม่ให้ทรายกระจายไปยังจุดอื่น

คำนี้ถูกใช้ในเชิงธุรกิจเริ่มแรกกับธุรกิจประเภทคอมพิวเตอร์ในช่วงทศวรรษที่ 1970s นักวิจัยของมหาวิทยาลัย คาร์เนกี้ เมลลอน กำลังต้องพื้นที่จำลองซึ่งปลอดภัยสำหรับทดลองโค้ดใหม่ในระบบปฏิบัติการของพวกเขา เพื่อไมให้เป็นอันตรายหรือกระทบกับระบบอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งต่อมาเรียกกลไกรักษาความปลอดภัยนี้ว่าแซนด์บอกซ์ และถูกพัฒนาเรื่อยมาจากเดิมที่มีเฉพาะบางระบบปฏิบัติการ ก็กลายเป็นเครื่องมือรักษาความปลอดภัยของซอฟต์แวร์จำนวนมาก

คำนี้ยังถูกใช้แพร่หลายในนวัตกรรมสำหรับธุรกิจการให้บริการทางการเงิน หรือ FinTech ซึ่งในหลายประเทศได้สร้างกลไกเพื่อแก้ปัญหากฎหมายหรือกฎระเบียบจำนวนมากที่ล้าสมัย ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เรียกว่า Regulatory Sandbox หมายถึงสนามทดสอบสำหรับแนวคิดทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่เป็นการทดสอบในตลาดจริง ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มใช้ครั้งแรกในประเทศอังกฤษปี 2016

สำหรับคนทั่วไปคำนี้คุ้นหูเมื่อปีที่ผ่านมาเนื่องจากปรากฎในซีรี่ส์เกาหลีใต้เรื่องดังซึ่งสามารถชมทางบริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix โดยในเรื่อง คือชื่อสถานที่หลักซึ่งตัวเอกของเรื่องใฝ่ฝันจะมีส่วนร่วม องค์กรด้านไอทีที่เปิดพื้นที่สำหรับคนอยากทำธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพ โดยนอกจากจะมีพื้นที่สำหรับผู้ชนะการแข่งขันนำเสนอโครงการในลักษณะ Co-Working Space ยังเปิดในลักษณะพื้นที่เปิดสำหรับคนมีความฝัน และอยากพัฒนาสร้างสรรค์ธุรกิจต่างๆ ทั้งนี้ตัวซีรี่ส์เปรียบเทียบว่าที่นี่ได้แรงบันดาลใจจากกระบะทราย สถานที่ซึ่งสามารถให้คนลองผิดลองถูกได้ ผิดพลาดและล้มได้โดยไม่เจ็บตัวไม่ต่างจากการที่เด็กสามารถเล่นขุดดิน เรียนรู้สิ่งต่างๆ บนพื้นที่เฉพาะดังกล่าวโดยไม่เป็นอันตรายใดๆ

ภายใต้สถานการ์โควิด-19 ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ หรือในชื่อเดิมว่า ภูเก็ตโมเดล จึงเปรียบได้ลักษณะคล้ายๆ กันนั้น คือเป็นแผนทดลองเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่จำกัด และอยู่ภายใต้การควบคุม และมีมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าอย่างรัดกุมในสถานการณ์ที่โรคยังระบาดอยู่ อาทิ เช่น เดินทางจากประเทศที่กำหนด โดยพำนักในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน, มีหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (COE), ได้รับวัคซีนครบโดส อย่างน้อย 14 วัน โดยต้องเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ องค์การอนามัยโลก (WHO) ฯลฯ ทั้งนี้หากเกิดข้อผิดพลาดใดๆ ก็จะเกิดในพื้นที่จำกัด ไม่กระทบกับจังหวัดหรือพื้นที่อื่นของประเทศไทย

ทั้งนี้รัฐบาลโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประมาณการนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ภายใต้โครงการภูเก็ต แซนด์บอกซ์ จำนวน 100,000 คน ในไตรมาส 3 (เดือน ก.ค.-ก.ย. 64) ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้อยู่ที่ 8,900 ล้านบาท และหากประสบความสำเร็จก็จะขยายไปยังจังหวัดอื่น ทั้ง กระบี่ พังงา เชียงใหม่ พัทยา และบุรีรัมย์ ต่อไป จึงนับเป็นโครงการที่ต้องจับตาของรัฐบาลนี้

ที่มา :