ศัพท์ซอยวิทย์ - โดรน drone

โดรนถ่ายภาพที่พบเห็นบ่อยในปัจจุบัน ภาพนี้เป็นรุ่น DJI Phantom 


คงเคยได้ยินคำว่า โดรน (drone) กันมาบ้างนะครับ ภาพถ่ายหรือวิดีโอจากมุมสูงในรายงานข่าวทางโทรทัศน์จำนวนมากก็ได้มาจากโดรนแทบทั้งนั้น

“โดรน” มักใช้เรียกเครื่องจักรบินได้ที่ ไร้คนขับ (unmanned aerial vehicle – UAV) หรือระบบอากาศยานไร้คนขับ (unmanned aircraft system – UAS) ในทางชีววิทยา โดรนใช้เรียกตัวผู้ของมด ผึ้ง หรือตัวต่อ นอกจากนี้ยังเป็นชื่ออัลบัมเพลง ภาพยนตร์ หรือชื่อตอนในซีรีส์ ไซไฟอย่าง Star Trek ด้วย

drone03

โดรนยอดนิยมที่เห็นบ่อยในภาพยนตร์ ในภาพคือรุ่น MQ-9 Reaper ที่ใช้ในภารกิจล่าสังหาร

โดรนทางทหาร

โดรนทางทหารมีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยใน ค.ศ. ๑๘๔๙ ออสเตรียส่งบอลลูนปราศจากคนขับบรรทุกระเบิดไปโจมตีเมืองเวนิส แต่เริ่มมีการพัฒนา UAV อย่างจริงจังในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ เช่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ บริษัท Dayton-Wright Airplane Company ประดิษฐ์ตอร์ปิโดอากาศที่จะระเบิดได้ตามเวลาที่ตั้งไว้ล่วงหน้า

นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) เคยเขียนถึงความเป็นไปได้ในการใช้กองยาน UAV ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๕ กองทัพนาซีก็พัฒนาโดรนเพื่อใช้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไม่ต่างจากฝ่ายสัมพันธมิตร แต่โดรนในยุคนั้นยังต้องใช้การควบคุมระยะไกล ไม่ได้เป็นอากาศยานที่ “ทำงานได้เอง (ตามที่โปรแกรมไว้)”

โดรนเต็มรูปแบบที่บินปฏิบัติการได้ด้วยตัวเองนั้นเริ่มมีการนำมาใช้ในสงครามเวียดนาม และยังพัฒนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

วิกิพีเดียระบุว่า ใน ค.ศ. ๒๐๑๒ กองทัพอากาศสหรัฐฯ มี UAV รวม ๗,๔๙๔ ลำ ซึ่งมากถึงหนึ่งในสามของอากาศยานทั้งหมด แม้แต่ซีไอเอก็มี UAV ค.ศ. ๒๐๑๓ ไม่น้อยกว่า ๕๐ ประเทศมีโดรนไว้ใช้งาน ผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ของโลกคืออิสราเอลและสหรัฐฯ และมีจีนพุ่งตามมา แม้แต่มหาวิทยาลัยบางแห่งก็มีงานวิจัยและโปรแกรมฝึกอบรมเกี่ยวกับโดรนด้วย

โดรนทางทหารมีเทคโนโลยีเกี่ยวข้องเยอะนะครับ ทั้งในแง่การออกแบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ประจำยาน รูปทรงที่ตรวจจับด้วยเรดาร์ยาก แต่ยานต้องมีระบบสมดุลที่ดี ระบบพลังงาน (ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แบตเตอรี่แบบลิเทียมพอลิเมอร์) ระบบจับภาพและถ่ายภาพ ระบบเซนเซอร์ตรวจหาเป้าหมาย รวมไปถึงระบบสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ

ยุคทองของโดรน

ความนิยมโดรนนี้เห็นได้ชัดจากตัวเลขอากาศยาน ค.ศ. ๒๐๐๕ มีโดรนแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์ พอถึง ค.ศ. ๒๐๑๐ กลับมีมากเป็น ๔๑ เปอร์เซ็นต์ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ใช้งบไปกับ UAS ใน ค.ศ. ๒๐๐๐ รวม ๒๘๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ค.ศ. ๒๐๑๐ ก็เพิ่มเป็น ๓.๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดรนมีขนาดตั้งแต่ ๕ เซนติเมตรไปจนถึง ๕๐ เมตร และน้ำหนักตั้งแต่กิโลกรัมกว่า ๆ ถึง ๓.๔ ตัน

โดรนพลเรือนกลายเป็นเทรนด์ใหม่เพราะราคาถูกลงเรื่อย ๆ อย่างโดรนจิ๋วขนาดวางไว้บนฝ่ามือได้ในปัจจุบันเพียง ๑,๐๐๐ กว่าบาทเท่านั้น แถมประยุกต์ใช้ได้มากมายจริง ๆ เช่น ใช้เป็นเครื่องเล่นและแข่งขันแบบเดียวกับเครื่องบินบังคับ ใช้ในการลาดตระเวนตรวจสอบฝูงปศุสัตว์ ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ทำแผนที่ไฟป่า และตรวจสอบรอยแตกของท่อส่งน้ำมัน

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ใช้โดรนช่วยในการถ่ายทำภาพยนตร์หรือสารคดีมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ในหลายประเทศทำได้แค่เฉพาะพื้นที่นอกเมืองเพราะกลัวภัยจากการก่อการร้าย ใน ค.ศ. ๒๐๑๔ มีการใช้โดรนช่วยถ่ายภาพในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งทำให้ได้ภาพที่งดงามกว่าที่ใช้กล้องติดสายเคเบิลแบบเดิมมาก

ในสหรัฐฯ มีการนำโดรนมาใช้ค้นหาและช่วยชีวิตผู้คน นับจากถูกเฮอริเคนเล่นงานที่ลุยเซียนาและเทกซัสใน ค.ศ. ๒๐๐๘ ใช้เป็นไลฟ์การ์ดเพื่อช่วยชีวิตนักว่ายน้ำ โดยติดกล้องตรวจจับความร้อนสำหรับช่วยค้นหา ส่วนที่เซิร์ฟไซด์บีช (Surfside Beach) ในแคลิฟอร์เนียใช้โดรนในการสอดส่องฉลาม

มีกรณีหนึ่งที่โดรนช่วยชีวิตชายอายุ ๘๒ ปีไว้ กีเยร์โม เดเวเนเซีย (Guillermo DeVenecia) เป็นโรคอัลไซเมอร์ อาศัยอยู่ในแถบชนบทของรัฐวิสคอนซิน เขาหายตัวไป ๓ วัน มีการส่งสุนัขดมกลิ่น เฮลิคอปเตอร์ และอาสาสมัครออกค้นหา แต่ก็ไร้ผล ทว่าหลังจากปล่อยโดรนออกไปเพียง ๒๐ นาที ก็พบร่างของเขาที่หมดสติอยู่ในทุ่งข้าวโพดอันหนาทึบและยากจะเดินค้นหา

ในงานโฆษณาก็มีร้านขายอาหารในรัสเซียชื่อ ว็อกเกอร์ (Wokker) ที่ใช้ฝูงโดรน ๑๐ ลำติดป้ายโฆษณาเรียกลูกค้ามากินอาหารกลางวัน

การอนุรักษ์ธรรมชาติในนามิเบียมีการนำโดรนมาใช้ติดตามและตรวจจับสัตว์หายาก รวมทั้งใช้เฝ้าระวังนายพรานล่านอแรด อุทยานแห่งชาติของเนปาลก็นำโดรนไปใช้ในภารกิจคล้ายคลึงกัน แม้แต่ทวีปอันหนาวเหน็บอย่างแอนตาร์กติกาก็มีผู้ใช้โดรนเฝ้าระวังการล่าวาฬด้วย มีงานอนุรักษ์ทำนองนี้อีกมากมายหลายแห่งทั่วโลก

ในเปรูมีนักโบราณคดีนำโดรนขึ้นบินเก็บข้อมูลแล้วสร้างภาพจำลองสามมิติของสถานที่ขุดค้นเพื่อวางแผนการขุดรวมไปถึงป้องกันการโจรกรรม วิธีเช่นนี้ช่วยลดเวลาการทำแผนที่จากหลาย ๆ เดือนหรือเป็นปีให้เหลือเพียงไม่กี่วันได้

drone02

โดรนชื่อ อกีลา ของเฟซบุ๊ก

อนาคตของโดรน

สหรัฐอเมริกาประเมินว่า ใน ค.ศ. ๒๐๒๕ จะมีผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์จากโดรน ๐.๘-๑.๐ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และภายใน ๑๐ ปีจะมีงานใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับโดรนเพิ่มขึ้นราว ๑ แสนตำแหน่ง

การประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการขนส่งสิ่งของจำเป็นหรือสินค้ามาแรงมาก ๆ เช่น มีบริษัทสตาร์ตอัปชื่อ แมตเทอร์เน็ต(Matternet) ใช้โดรนช่วยส่งเวชภัณฑ์ในแถบซับสะฮารา แอฟริกา เพราะในช่วงฤดูฝนถนนราว ๘๕ เปอร์เซ็นต์จะใช้การไม่ได้ ในเฮติกับสาธารณรัฐโดมินิกันก็กำลังทดสอบการใช้งานแบบนี้เช่นกัน

ค.ศ. ๒๐๑๕ บริษัทเม็กซิโกชื่อ Burrito Bomber ใช้โดรนส่งอาหารไปยังลูกค้าที่อยู่ใกล้ ๆ ร้าน ส่วนงานร็อกเฟสติวัลที่แอฟริกาใต้ก็ส่งเบียร์โดยให้โดรนไปหย่อนเบียร์ติดร่มชูชีพในงาน !

แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่ค้าขายหนังสือ (หลัง ๆ ขายอย่างอื่นด้วย) อย่างอเมซอนก็ประกาศจะใช้โดรนชื่อ “ไพรม์แอร์” (PrimeAir) ขนส่งสินค้าน้ำหนักไม่เกิน ๒.๕ กิโลกรัม และระยะทางห่างจากคลังสินค้าไม่เกิน ๑๖ กิโลเมตร คาดว่าจะเริ่มส่งได้ในเร็ววัน ขณะนี้เริ่มเปิดคลังหนังสือในหลายเมืองแล้ว

ต้น ค.ศ. ๒๐๑๖ นี้เองเริ่มมีบริษัทที่ประกาศแผนจะใช้โดรนในการขนส่งคนด้วย !

แต่ความเด็ดของการประยุกต์ใช้งานต้องยกให้ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กครับ เพราะมีแผนการจะเชื่อมโลกอินเทอร์เน็ตกับโลกจริงของผู้คนที่อยู่ห่างไกลทางภูมิศาสตร์และเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต โดยอาศัยโดรนที่ออกแบบเป็นพิเศษชื่อ “อกีลา” (Aquila) เป็นตัวส่งสัญญาณไวไฟ นัยว่าน่าจะมีข้อดีเหนือกว่าวิธีอื่น ๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน (เช่นตั้งเสาสัญญาณ)

ที่กล่าวมาเป็นแค่บางส่วนของการประยุกต์ใช้งานโดรน และคงจะมีมากขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้

ที่มาภาพ

  • https://en.wikipedia.org/wiki/Unmanned_aerial_vehicle#/media/File:DJI_Phantom_2_Vision%2B_V3_hovering_over_Weissfluhjoch_(cropped).jpg
  • http://www.wired.com/2016/07/facebooks-giant-internet-beaming-drone-finally-takes-flight/#slide-1
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Unmanned_aerial_vehicle#/media/File:MQ-9_Reaper_in_flight_(2007).jpg