กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 5 - สู่ยุโรป

วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๓๖ หรือเพียงเดือนเดียวให้หลังจากกรณี ร.ศ. ๑๑๒

ณ เวลาย่ำรุ่ง (๖ นาฬิกา) สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมขุนเทพทวาราวดี และพระองค์เจ้าอาภากรฯ ได้เข้ากราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ณ พระราชวังบางปะอิน ครั้นแล้วโดยเสด็จพระราชดำเนินกลับลงมากรุงเทพฯ ตามลำน้ำเจ้าพระยา ด้วยเรือหลวง “มกุฎราชกุมาร” ทว่า พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น ณ ท่าราชวรดิฐ หน้าพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร ก่อน เมื่อเวลาใกล้เที่ยง

จากนั้นพระราชโอรสทั้งสองพระองค์และผู้นำเสด็จ คือพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (ภายหลังคือสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์, ๒๔๐๘-๒๔๗๘) จึงประทับเรือหลวง “มกุฎราชกุมาร” ออกเดินทางล่องจากกรุงเทพฯ สู่อ่าวไทย มุ่งหน้ายังเกาะสิงคโปร์ พร้อมด้วยพระอภิบาล หรือ “พี่เลี้ยง” คือพระมนตรีพจนกิจ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล, ๒๔๑๐-๒๔๕๙ ภายหลังเป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ บรรดาศักดิ์สูงสุดคือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี)

ที่เกาะสิงคโปร์ คณะเดินทางเปลี่ยนไปลงเรือโดยสาร “โอลเดนเบิร์ก” (SS Oldenburg ของบริษัทนอร์ดดอยท์เชอร์ลอยด์ Norddeutscher Lloyd) มุ่งหน้าสู่ทวีปยุโรป

การเดินทางไปยุโรปด้วยเรือเดินสมุทรยุคนั้นใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ระหว่างทางเรือต้องจอดเติมถ่านหินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง พร้อมแวะรับส่งผู้โดยสารและสินค้าตามเมืองท่าเป็นระยะ กว่าจะได้ขึ้นบกที่เมืองเนเปิลส์ในอิตาลีก็คือปลายเดือนกันยายน ๒๔๓๖

ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ในอิตาลีจนถึงต้นเดือนตุลาคม แล้วจึงทรงจับรถไฟต่อไปยังฝรั่งเศส ทรงพำนักอยู่ที่กรุงปารีสอีกร่วมเดือน ถึงได้ข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังกรุงลอนดอน ต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๔๓๖

แม้ยังไม่มีการเผยแพร่จดหมายหรือบันทึกลายพระหัตถ์ในช่วงระหว่างการเดินทางครั้งนั้น แต่ย่อมเชื่อได้ว่าสำหรับพระเจ้าลูกยาเธอซึ่งก่อนหน้านี้ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับอยู่ภายในกำแพงพระบรมมหาราชวังของกรุงเทพพระมหานคร โลกภายนอกย่อมน่าตื่นตะลึงเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเรือเดินสมุทรลำมหึมา (และใหญ่กว่าเรือรบที่ใหญ่ที่สุดของราชนาวีสยาม) ท้องทะเลกว้างไกลสุดขอบฟ้า ผู้คนต่างภาษาต่างผิวพรรณ แล้วไหนจะบ้านเมืองที่แปลกแตกต่าง การเดินทางด้วยรถไฟเครื่องจักรไอน้ำอันเป็นนวัตกรรมสำคัญของศตวรรษที่ ๑๙ ฯลฯ

เนื่องด้วยพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ ล้วนเสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรปขณะเมื่อมีพระชันษาเพียง ๑๓-๑๔ ปีเท่านั้น จึงต้องมี “พระอภิบาล” (พี่เลี้ยง) ทั้งที่เป็นขุนนางชาวสยามและครูฝรั่งที่จ้างมาเป็นพิเศษคอยดูแลควบคู่กัน โดยไม่ว่าจะมีแผนการให้ไปทรงศึกษาต่อในประเทศใด ทุกพระองค์ต้องถูกส่งไปประทับยังกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษเป็นขั้นแรกก่อนเสมอ

เมื่อพระองค์เจ้าอาภากรฯ เสด็จถึงกรุงลอนดอนนั้น สถานที่สำคัญอันเป็น “หมุดหมาย” (landmark) ของกรุงลอนดอนอย่างที่เราคุ้นตากัน เช่น หอนาฬิกาประจำพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ หรือที่รู้จักกันในนาม “บิ๊กเบน” (Big Ben) ตีระฆังบอกเวลามาได้มาหลายสิบปีแล้ว ส่วนสะพาน “ทาวเออร์บริดจ์” (Tower Bridge) ข้ามแม่น้ำเทมส์ ก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ ใกล้จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ

ทั้งสองพระองค์มีวัยใกล้เคียงกันมาก คือพระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงเป็น “เจ้าพี่” ที่มีอายุมากกว่าเพียง ๑๓ วัน นอกจากนั้นยังทรงเติบโตมาด้วยกันในพระบรมมหาราชวัง และทรงเป็น “ศิษย์เก่า” โรงเรียนราชกุมารทั้งคู่


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ