เมื่อถึงทศวรรษสุดท้ายแห่งคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ กรุงลอนดอนเปรียบเสมือน “เมืองหลวงของโลก” คนไทยยุคนั้นถึงกับเรียกว่าเป็น “เมืองแก้ว” เพราะแม้แต่อาคารจัดงานแสดงสินค้าขนาดมหึมา เช่นคริสตัลพาเลซ (Crystal Palace) ยังสร้างด้วยกระจกทั้งหลัง

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 6 จดหมายจากอังกฤษ

แนวทางที่วางไว้ในการจัดการศึกษาของพระเจ้าลูกยาเธอคือ เบื้องแรกต้องได้ประทับอยู่กับครอบครัว “ผู้ดี” ชาวอังกฤษก่อนสักระยะหนึ่ง เพื่อให้เรียนรู้ทั้งภาษา ขนบธรรมเนียม และนิสัยใจคอของ “ฝรั่ง” โดยต้องเลือกเฟ้นอย่างพิถีพิถัน พิจารณาทั้งภูมิหลัง ชาติตระกูล และการศึกษาของบุคคลในครอบครัวนั้นๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน

ในช่วงแรกทั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงพำนักศึกษาวิชาเบื้องต้นด้วยกันกับครอบครัวของนายทอมสัน (Basil Thomson) ที่นอร์ทลอดจ์ เมืองแอสคอต (Northlodge, Ascot)

แต่แล้วในเดือนมกราคม ๒๔๓๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ประชวรและเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันขณะมีพระชันษา ๑๗ ปี สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ซึ่งเสด็จมาประทับที่ประเทศอังกฤษได้ปีกว่า ทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมาร

จากหลักฐานหนังสือกราบบังคมทูล คือจดหมายที่พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ส่งเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ บอกเล่าถึงชีวิตประจำวันและผลการศึกษาเล่าเรียน เหมือนเป็นรายงานจากอาจารย์ที่ปรึกษาที่ส่งตรงถึง “ผู้ปกครองของนักเรียน” มักกล่าวถึง “พี่น้อง” สองพระองค์นี้ ว่าทรงร่วมกิจกรรมต่างๆ เคียงข้างกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีการ เช่นเมื่อราชสำนักอังกฤษกราบบังคมทูลเชิญสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ณ พระราชวังวินด์เซอร์ พระองค์เจ้าอาภากรฯ ก็โดยเสด็จด้วย หรือแม้แต่เมื่อทรงหัดขี่จักรยาน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีคำเรียกภาษาไทย เพียงแต่ทับศัพท์ภาษาอังกฤษกันว่า “ไบซิกล์” หรือ “ไบสิเกิล” (bicycle) ก็ทรงหัดพร้อมๆ กัน

หลักฐานในพระฉายาลักษณ์ (ภาพถ่าย) ช่วงนั้น เป็นประจักษ์พยานให้เราเห็นถึงความสนิทสนมระหว่างทั้งสองพระองค์ รวมถึงความใกล้ชิดกับ “เจ้าพี่” สี่พระองค์ที่เสด็จมาทรงศึกษาก่อนหน้า

หากแต่เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ทรงอยู่ในสถานะผู้สืบสันตติวงศ์ลำดับต่อไป ทำให้ต้องมีการวางแผนการศึกษาของสมเด็จพระยุพราชเสียใหม่ จากเดิมที่จะทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ จึงต้องหันเหเป็นวิชาทหารบกและรัฐศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทรงราชย์เป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งสยาม จึงเหลือเพียงพระองค์เจ้าอาภากรฯ ที่จะทรงศึกษาวิชาทหารเรือต่อไปตามแผนเดิม

ไม่กี่เดือนต่อมา ทั้งสองพระองค์ทรงต้องแยกย้ายกันไปศึกษาวิชาการตามที่พระราชบิดาทรงกำหนดแนวทางไว้ให้

ทั้งสองพระองค์มีวัยใกล้เคียงกันมาก คือพระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงเป็น “เจ้าพี่” ที่มีอายุมากกว่าเพียง ๑๓ วัน นอกจากนั้นยังทรงเติบโตมาด้วยกันในพระบรมมหาราชวัง และทรงเป็น “ศิษย์เก่า” โรงเรียนราชกุมารทั้งคู่


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ