สองศตวรรษก่อน เมื่อปี ๒๓๖๔ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ นายจอห์น ครอว์ฟอร์ด (John Crawfurd) หรือที่ฝ่ายสยามออกนามว่า “ยอน การะฝัด” ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนของข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำแคว้นเบงกอล เดินทางเข้ามาขอทำสัญญาทางพระราชไมตรี แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ แม้กระนั้น บันทึกรายวันของนายครอว์ฟอร์ด ซึ่งพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Journal of an embassy from the Governor-General of India to the courts of Siam and Cochin-China (จดหมายเหตุทูตจากข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดีย สู่ราชสำนักสยามและโคชินจีน) ได้ให้ภาพที่น่าสนใจของกรุงเทพฯ ยุคนั้น ซึ่งไม่อาจหาได้จากที่อื่นใด

ตามรอยฤๅษีดัดตน (4) – บันทึกทูตอังกฤษ John Crawfurd

วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๓๖๔ คณะเจ้าหน้าที่อังกฤษเดินทางไปชมวัดพระเชตุพนฯ และจดบันทึกสิ่งที่ได้พบเห็นไว้อย่างละเอียด รวมถึง “รูปฤๅษีดัดตน” ซึ่งย่อมต้องเป็นรูปชุดที่สร้างคราวบูรณะวัดครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อนหน้า

ในที่นี้ขออ้างตามสำนวนแปลของ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (๒๔๒๘–๒๕๑๗) จากพระนิพนธ์ “เรื่องวัดพระเชตุพนในรัชกาลที่ ๒” ว่า

“นอกจากระเบียงวิหารทิศนี้ออกไป มีลานใหญ่จดกำแพงวัด และมีวิหารและศาลาหลายหลัง ศาลาหนึ่งไม่มีพระพุทธรูปเลย แต่มีรูปคนทำท่าต่าง ๆ อย่างผิดธรรมชาติ (ฤาษีดัดตนตามศาลาราย) มีจารึกใต้รูปเป็นภาษาพื้นเมือง อธิบายวิธีทำท่านั้น ๆ เพื่อแก้โรคบางอย่าง สังเกตว่าท่าเหล่านี้หลายท่า หากเราทำเข้าแล้วน่าจะทำให้โรคกำเริบมากกว่าบรรเทา”

กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงสันนิษฐานไว้ด้วยว่า เหตุที่ครอว์ฟอร์ดสนใจรูปภาพเหล่านี้ คงเนื่องมาจากเขาเป็นนายแพทย์ปริญญาของอังกฤษมาก่อน

เมื่อย้อนกลับไปดูต้นฉบับภาษาอังกฤษ จดหมายเหตุของครอว์ฟอร์ดกล่าวว่า

“Between the quadrangular portion of the building now described, and the outer wall, is an extensive area , in which are several scattered and detached buildings. The first of these which we entered was a long arcade, which contained no images; but on the wall of which were daubed many human figures, thrown into attitudes the most whimsical, distorted, and unnatural that can well be conceived. Under these figures were inscriptions in the vernacular language, giving directions how to assume the attitudes in question, and recommending them as infallible remedies for the cure of certain diseases. In many of the cases which we saw, the remedy, if practicable, would certainly be worse than the disease, what ever that might be.”

ข้อความ “on the wall of which were daubed many human figures” อาจทำให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่า รูปฤๅษีดัดตนสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งครอว์ฟอร์ดพบเห็น อาจเป็นภาพวาด (หรือภาพปูนปั้นนูนต่ำระบายสี ?) ซึ่งอยู่ “บนผนัง” (on the wall) กล่าวคือมิได้เป็นรูปหล่อลอยตัว เหมือนกับรูปฤๅษีดัดตนวัดพระเชตุพนยุคถัดมา


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ