นันทิศา แดงนรรักษ์รัศมี : เรื่อง
แพรว ศิริอุดมเศรษฐ : ภาพ

นักซ่อมหนังสือ ผู้เชื่อมคุณค่าผ่านกาลเวลา
สมุดจดบันทึกของพ่อ ที่ลูกค้าเก็บไว้ดูเป็นของต่างหน้า ผ่านการชุบชีวิตด้วยการใช้ชิ้นกระดาษสาพยุงตัวกระดาษเดิมที่เปื่อยไปตามกาลเวลา หากไม่ได้มองย้อนแสงเนื้อกระดาษก็จะเนียนกันไป สังเกตแทบไม่เห็นว่าต่างจากหน้าอื่นๆ

เวลาบ่ายแก่ๆ หลังจากได้รับเล่มสำเนาของหนังสือนิยายแปลต่างประเทศเล่มหนึ่งที่ไม่มีการผลิตซ้ำมานานแล้ว 10 กว่าปีจากเพื่อน ภารกิจต่อไปที่ต้องทำคือ การเข้าเล่มให้เหมือนของเดิมมากที่สุด

“ร้านบอกว่าขนาดที่ต้องการไม่ใช่ A4 แบบปรกติที่ร้านเคยทำ ร้านถ่ายเอกสารให้ได้ แต่เข้าเล่มให้ไม่ได้นะ”

เพื่อนบอกมาอย่างนั้น ซึ่งยอมรับว่าตอนนั้นเราเองก็มองว่ามันคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร ก็แค่เข้าเล่มทำเหมือนหนังสือที่ขายทั่วๆ ไป ร้านถ่ายเอกสารที่ไหนก็น่าจะรับทำอยู่แล้ว ดูไม่น่ายาก

ด้วยความคิดแบบนั้นทำให้เราพยายามเดินหาร้านถ่ายเอกสารแถวที่ทำงานอยู่นาน ตอนแรกพอร้านได้ยินว่าเข้าเล่ม เขาก็บอกว่ารับอยู่หรอก แต่พอเห็นหนังสือขนาดประมาณพ็อกเกตบุ๊กทั่วไป ต้องการเข้าเล่มเหมือนหนังสือจริง รวมถึงหน้าปกที่ถ่ายเอกสารสีมาแยกต่างหาก ร้านแล้วร้านเล่าก็ได้แต่ส่ายหน้าและไม่รับ

“ผมไม่เคยทำ ไม่มั่นใจ กลัวเสีย หน้าปกเองก็ถ่ายแยกมา จริงๆ มันต้องถ่ายให้หุ้มเล่มได้ด้วย แบบนี้ทำไม่ได้หรอก”

จะรอดไหมล่ะแบบนี้ เราก็ไม่อยากให้หนังสือเราพังเหมือนกันนะ หลังจากพยายามเปลี่ยนร้านอื่นๆ อีกสักพัก เราจึงเริ่มทำใจแล้วเดินกลับ แต่ระหว่างทางความคิดดันวิ่งไปถึงคนคนหนึ่งขึ้นมาได้ เรากดโทรศัพท์ พูดคุยกับปลายสายสักพัก บอกว่าสำหรับเธอแล้วไม่มีปัญหา

“เพราะร้านทั่วๆ ไปเขาเคยชินกับวิธีการทำงานไม่กี่แบบ แต่จริงๆ มันทำได้หมดแหละ รีบไหมล่ะ”

“ไม่รีบค่ะพี่หญิง ขอแบบดีที่สุดนะคะ แพงหน่อยไม่เป็นไรค่ะ” เราตอบ สุดท้ายก็ไม่พ้นนักซ่อมหนังสือ ทำอย่างไรได้ เล่มนี้ของรัก กว่าจะหาได้ใช้เวลาตั้งหลายปี ตอนนี้เหลือแค่เข้าเล่มสวยๆ เพราะฉะนั้นไม่ขอเสี่ยงแล้ว รอนานไม่ว่า ขอให้งานออกมาดี

bookrepairer02
หญิง ขันคำ เจ้าของร้าน Book Clinic สาขาใหม่ กำลังตรวจสภาพหนังสือที่ได้จากลูกค้า ข้างหลังและในบ้านมีกองหนังสือจำนวนมากที่ลูกค้าส่งมาซ่อมและยินดีรอ แม้ว่าจะต้องใช้เวลารอหลายเดือนก็ตาม

แรกพบ

หนึ่งเดือนที่แล้ว กลางฤดูฝน บ่ายคล้อยเมฆครึ้ม ละอองน้ำเบาบางโปรยปรายไม่ขาดสาย เรามองป้ายเล็กๆ เขียนว่า โชคชัย 4 ซอย 24 อีกครั้งเพื่อความแน่ใจ ก่อนเดินย่ำไปบนถนนซีเมนต์สีขาวเส้นเล็กๆ จนถึงประมาณกลางซอย ที่นั่น ทาวน์เฮาส์หลังกะทัดรัดทาสีขาวอยู่ติดหัวมุมถนน หน้าประตูบ้านมีโต๊ะและอุปกรณ์ยิบย่อย รวมไปถึงกองหนังสือ ดูแปลกตาจากบ้านหลังอื่น

หญิง ขันคำ เจ้าของบ้านและร้าน Book Clinic สาขาโชคชัย 4 ยืนอยู่ตรงนั้น เจ้าของเรือนผมดำยาว ร่างเล็ก ในชุดอยู่บ้านสบายๆ กำลังส่งงานให้ลูกค้าที่เข้ามารับ หลังจากเสร็จธุระเราจึงได้พูดคุยกันแบบค่อนข้างส่วนตัวเพราะไม่มีคนอื่นเลย

หญิงสาววัย 37 ปี เล่าให้เราฟังอย่างเป็นกันเองว่า จริงๆ แล้วเธอมีอาชีพหลักคือรับราชการอยู่ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง แต่ที่ได้มาข้องเกี่ยวกับอาชีพซ่อมหนังสือ เป็นเพราะเธอรู้จักกับรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อกุ๊ก-ภัทรพล ฉัตรชลาวิไล ผู้ก่อตั้งร้าน Book Clinic ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของร้าน Book Clinic สาขาบางบัวทอง เขาเป็นนักซ่อมหนังสือ มีงานล้นมืออยู่ตลอดเวลา แต่กลับต้องทำงานคนเดียว เห็นดังนั้นเธอจึงอาสาช่วย

กุ๊ก อดีตเจ้าของธุรกิจร้านถ่ายเอกสาร ผู้รักงานซ่อมหนังสือ เขาทุ่มเทพัฒนาฝีมือจนมันกลายมาเป็นอาชีพหลักของตัวเอง ยินดีสอนให้อย่างไม่หวงวิชาโดยเริ่มจากงานเล็กๆ น้อยๆ ค่อยๆ ขยับไปตามขั้นตอนที่ซับซ้อนขึ้น และเมื่อมีฝีมือมากพอจะซ่อมได้ประมาณหนึ่งก็แบ่งงานที่เหมาะสมมาให้ โดยรายได้จากงานนั้นถือว่าเป็นของเธอ ไม่มีการหักส่วนแบ่งแต่อย่างใด

เธอช่วยงานรุ่นพี่หนุ่มอยู่ประมาณ 4 ปี จึงซื้อร้านสาขานี้ต่อ จากนั้นก็เริ่มรับงานซ่อมหนังสืออย่างจริงจังหลังเวลาเลิกงานและในวันหยุด โดยยังมีกุ๊กเป็นที่ปรึกษาเวลาเจอเคสยากๆ

bookrepairer04
แม้ว่าในยุคนี้จะมีหนังสือออนไลน์แล้ว แต่ธุรกิจซ่อมหนังสือก็ยังคงเดินต่อไปได้ เพราะหนังสือที่ถูกส่งมาซ่อมแต่ละเล่มล้วนมีความหมายกับเจ้าของ บางเล่มก็ไม่สามารถหาซื้อได้อีกแล้ว บางเล่มก็มีเล่มเดียวในโลก

เรื่องของคนกับงาน

กองหนังสือหน้าบ้านว่าเยอะแล้วนะ

แต่พอเราเดินตามเจ้าของเข้าไปในบ้าน ภาพที่เห็นคือกล่องกระดาษ กล่องพลาสติก และกองหนังสือจำนวนมาก กินเนื้อที่ชั้นล่างไปถึงหนึ่งในสาม เธอพาเดินชมทีละกอง มีทั้งหนังสือพระเครื่องส่งมาจากร้านหนังสือมือสอง หนังสือสะสมส่วนตัวสุดหวงปกแข็งเล่มใหญ่เบ้อเริ่มเป็นภาพ เอลวิส เพรสลีย์ อีกมุมเป็นหนังสือของบริษัทเอกชน ห้องสมุด และเล่มเอกสารจากสำนักงานกฎหมายอีก 200 กว่าเล่ม

ลังกระดาษใหม่เอี่ยมขนาดใหญ่แบบเดียวกันเจ็ดลังวางชิดผนังใกล้ๆ ประตูหน้าบ้าน เมื่อเปิดดูก็เจอเอกสารเก่าชำรุดเล่มหนาเตอะแบบที่ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนักบรรจุอยู่เต็ม หน้ากล่องมีกระดาษติด บอกว่าเป็นเอกสารราชการระหว่างปี 2485-2499 ส่วนกล่องข้างๆ เก่าน้อยลงมาหน่อย แต่อายุก็ไม่ต่ำกว่า 30-40 ปีทั้งนั้น พวกนี้เพิ่งมาใหม่จากกรมปศุสัตว์

เห็นแค่ปริมาณก็ขนลุกแล้ว นี่เองที่ทำให้งานเสร็จช้า ต่อให้เร่งทำทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันเป็นเดือนไม่หยุด ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะเสร็จทั้งหมดหรือไม่ ยังไม่รวมงานใหม่ที่มีมาทุกวันอีก และที่สำคัญคือ ในบ้านมีคนที่ชำนาญขนาดทำได้ทุกขั้นตอนแค่หญิงคนเดียว คนอื่นๆ ช่วยได้แค่งานพื้นฐานง่ายๆ เท่านั้น แต่ถึงจะนานอย่างไร ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยินดีรอ เพื่อจะได้รับหนังสือที่มีคุณค่าต่อจิตใจกลับไปในสภาพที่ดีที่สุด

bookrepairer03
งานซ่อมหนังสือนั้นต้องทำมือทีละเล่ม ทีละหน้า อีกทั้งยังต้องใช้ทั้งฝีมือ ความอดทน ความประณีต และความรัก

เรื่องของงานกับเงิน

งานเยอะไม่ได้แปลว่าเงินเยอะเสมอไป คำพูดนี้อาจใช้ได้กับหลายเรื่อง แต่ใช้กับหญิงไม่ได้

“วันหนึ่งถ้าเราทำจริงๆ อย่างต่ำมันก็จะได้ที่ประมาณสี่เล่ม ทำแบบเรื่อยๆ สบายๆ เลยนะ ก็ตก 1,500 บาท ที่พี่เคยทำสูงสุดก็ 1 หมื่นบาทต่อวัน แล้วแต่งาน”

รายได้ดีมากๆ จนหญิงเองยังยอมรับกับเราว่ามีหลายครั้งที่เธอแอบหวั่นไหว อยากจะลาออกมาทำงานนี้เต็มตัว แต่ติดที่ตัวเองเป็นคนขี้เบื่อ ไม่ชอบอยู่ติดบ้าน ขณะที่งานประจำจะพาออกต่างจังหวัดบ่อย มันกลับตอบโจทย์เธอตรงนี้ เลยยังรีๆ รอๆ อยู่

นอกจากนี้ราคายังขึ้นอยู่กับสภาพหนังสือด้วย ความเก่าไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่อยู่ที่ว่าชำรุดมากน้อยเท่าไร ซ่อมยากแค่ไหน ต้องใช้วัสดุแพงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการตกลงกันก่อนการซ่อม ขึ้นอยู่กับงบและความต้องการของลูกค้า และการเลือกตรงนี้จะมีผลต่อวิธีการและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ซ่อมด้วย

ส่วนตัวแล้วพอเดาได้แต่แรกว่าน่าจะรายได้ดี แต่คนอื่นที่ไม่รู้มันต้องมีแน่ หญิงยกยิ้มขำ บอกเราว่าต้องมีอยู่แล้ว ยิ่งพอได้ยินว่าเธอทำอาชีพซ่อมหนังสือไปด้วยก็ยิ่งงง มีบ้างที่ออกแนวดูถูก ด้วยความที่ติดภาพว่าเป็นหนึ่งในงานเล็กๆ น้อยๆ ของบรรณารักษ์ห้องสมุด จนเธอต้องเอางานที่ทำเสร็จแล้วให้ดูถึงจะรู้สึกทึ่ง หลังจากนั้นพอเขาเริ่มถามเรื่องรายได้ก็ค่อยเล่าให้ฟังแบบนี้ แล้วเขาก็จะเปลี่ยนความคิดไปเอง

เรื่องของเงินกับคน

ในเมื่องานเยอะ เงินดี แล้วทำไมคนทำน้อยจัง ความคิดนี้แทรกเข้ามากะทันหัน เชื่อว่าทุกคนก็คงอยากรู้เหมือนกัน

“งานพวกนี้มันไม่ใช่มาเรียนเดือนเดียวแล้วจะได้ งานหนังสือแต่ละเล่มมันจะซ่อมไม่เหมือนกัน อย่างหนังสือปกอ่อน มันมีทั้งปกขาด ปกไม่ขาด ต้องทำปกใหม่ ต้องเสริมปก แค่เล่มเดียวมันชำรุดต่างกัน พัง 10 อย่าง เราก็ต้องซ่อมได้ 10 อย่าง ไม่ใช่มีแพตเทิร์น 1-2-3-4 แล้วจะได้ เพราะฉะนั้นคนมาเรียน เราสอนไปหนึ่งวิธี สองวิธี พอมาเจอวิธีที่ 3 เขาก็แก้ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นพอบางคนมาเรียนแล้วหวังคอร์สเดียวแล้วได้เลย เป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยการฝึกบ่อยๆ”

ในฐานะที่ตัวเองเคยเรียนซ่อมหนังสือมาบ้าง เราเห็นด้วยกับคำพูดนี้ หากเปรียบหนังสือเป็นร่างกายมนุษย์ และนักซ่อมเป็นหมอ องค์ความรู้ที่ต้องมีและเป็นพื้นฐานก็คงเป็นร่างกายมนุษย์หรือโครงสร้างหนังสือ ต้องรู้จักอย่างถ่องแท้ กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท อวัยวะต่างๆ อาจเปรียบได้กับวิธีเย็บเล่ม เข้าปก ติดสัน ชนิดกาว กระดาษ หมึกพิมพ์ที่ใช้ จึงจะวินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้อง ไม่ใช่รื้อออกมาแล้วนั่งงง แม้แต่ใส่กลับคืนเหมือนเดิมยังทำไม่ได้

ถ้าหมอคนต้องรับผิดชอบชีวิต หมอหนังสือก็ต้องรับผิดชอบความรักและความทรงจำที่ผ่านห้วงเวลาอันยาวนานด้วยเช่นกัน

การสร้างนักซ่อมหนังสือสักคนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ใช้เวลานาน อีกทั้งงานเหล่านี้ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการทำงาน รักที่จะเห็นหนังสือที่ล้วนแล้วแต่มีที่มาและความผูกพันกลับฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ รวมถึงใจที่รับผิดชอบสูง หากต้องการแค่เงิน ทำงานแบบพอเสร็จๆ ก็เท่ากับลดความน่าเชื่อถือ ลดคุณค่าของงาน ลดคุณค่าของตัวช่างเอง

ดังนั้นสำหรับฉันเอง นักซ่อมหนังสือเป็นอาชีพที่เท่ ไม่ใช่ว่าใครก็เป็นได้

กุ๊ก ครูและรุ่นพี่ของหญิง ก็เปิดคอร์สสอนซ่อมหนังสือมาได้ 2 ปีกว่าแล้ว เนื่องจากเหตุผลทางสุขภาพ ทำให้เขาอยากผันตัวมาเป็นครูเต็มตัว แม้จะมีคนสนใจมาเรียนเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อทำเป็นอาชีพ ส่วนตัวเธอก็มีสอนคนอื่นบ้างเช่นกัน แต่เป็นรูปแบบให้เรียนรู้ผ่านการช่วยงานมากกว่า ที่ผ่านมามีคนสนใจมาฝึกงานหลายคน แต่น้อยมากที่จะมีแววจริงๆ แอบกระซิบเราด้วยว่าหากใครต้องการมาฝึกเธอก็ยินดีรับนะ ไม่มีการเก็บเงิน

หนังสือ ซ่อมทำไม

หนังสือบางเล่มก็ไม่พิมพ์แล้ว ต้องส่งซ่อมอย่างเดียว บางทีก็มีลูกๆ หลานๆ เอาหนังสือเก่าของพ่อแม่ปู่ย่าตายายของตัวเองมาส่งซ่อม เพื่อเอาไปเป็นของขวัญเซอร์ไพรส์ในโอกาสพิเศษ

หญิงหยิบหนังสือเล่มใหญ่หนาเป็นคืบให้ฉัน สภาพถือว่าเก่ามาก ปกนอกที่เขียนด้วยภาษาจีนตัวเต็มกับตัวเล่มหลุดออกจากกัน เนื้อกระดาษเป็นแบบโบราณ

“เล่มนี้ก็ใช่ ลูกเขาเอามาส่งซ่อม”

เป็นพจนานุกรมภาษาจีนนี่เอง ฉันลองเปิดดู เล่มนี้เนื้อหาเก่าจริง เพราะตัวสัญลักษณ์การค้นยังเป็นระบบเก่าอยู่ ในร้านหนังสือปัจจุบันไม่น่าจะมีขายแล้ว แต่ถึงจะมี ฉันในฐานะที่เป็นหนึ่งในคนรักหนังสือก็เข้าใจดีว่าคุณค่าทางใจของหนังสือเล่มเดิมกับเล่มใหม่นั้นไม่มีทางเท่ากัน ถึงแม้จะเป็นหนังสือเรื่องเดียวกัน เนื้อหาเหมือนกันก็ตาม

bookrepairer05
ภัทรพล ฉัตรชลาวิไล ผู้ก่อตั้ง Book Clinic และคุณครูวิชาซ่อมหนังสือของ หญิง ขันคำ กำลังเจาะรูที่หนังสือสำหรับการเข้าสัน

มากกว่างานซ่อมหนังสือ

ในตอนนั้นเองมีลูกค้าอีกเจ้าเดินเข้ามาติดต่องานใหม่ เราสองคนหยุดคุยกันชั่วครู่ น่าแปลกตรงที่ชายคนนี้มาติดต่อทำพร็อปโฆษณา ส่วนคนเมื่อเช้าเพิ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นคนจากกองถ่ายละคร มาติดต่อทำพร็อปคุณภาพสูงเช่นกัน งานที่สั่งจะเป็นพวกหนังสือหรืองานสแกนละเอียดที่ไปซื้อสำเร็จข้างนอกไม่ได้ ในช่วงแรกๆเจ้าของร้านอย่างหญิงเองก็แปลกใจว่ารู้จักร้านเธอจากไหน หลักๆ มาจากการแนะนำกันเองภายในกลุ่มทำฉาก และบางส่วนรู้จักผ่านเว็บไซต์ ซึ่งถือเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มอื่นๆ

มีแบบนี้ด้วย เป็นนักซ่อมหนังสือ แต่ไม่ได้ทำแค่ซ่อมหนังสือ

แถมพอคุยไปเรื่อยๆ บางงานยังออกแนวคนทำสมุดหนังสือขายด้วยซ้ำ

หญิงบอกว่าก็ประมาณนั้น พูดถึงเรื่องสมุด จะมีลูกค้าประจำคนหนึ่งซึ่งมีฐานะดี เป็นเจ้าของบริษัท ทุกปีเขาจะสั่งทำสมุดแพลนเนอร์จากเมืองนอกมาแจกลูกค้า พอแกะออกมาเจอว่าสันส่วนสมุดเป็นสันผ้าแบบมีรู ไม่ได้ติดกาวแนบไปกับกระดาษ เขารู้สึกไม่ชอบเลยเอามาแก้ บางทีก็มีลูกค้าที่ไม่ชอบขอบหนังสือดีไซน์หยักเป็นคลื่น เลยส่งมาให้ตัดแก้ให้เรียบเท่ากันก็มี อันนี้ไม่เกี่ยวกับการผลิตผิดพลาด แต่เป็นเรื่องของรสนิยมความชอบล้วนๆ

หลังติดต่องานเสร็จ เราจึงได้โอกาสถามเธอต่อว่าสอนคนอื่นมากๆ ไม่กลัวถูกแย่งงานหรือ คำถามออกแนวท้าทาย แต่หญิงกลับตอบยิ้มๆ ว่าถึงมีก็ไม่เป็นไร จะได้พัฒนางานแข่งกัน อีกอย่างงานซ่อมหนังสือเป็นงานฝีมือ ดังนั้นช่างซ่อมแต่ละคนก็มีเทคนิคและเอกลักษณ์ที่แตกต่าง อาจเรียกได้ว่าเป็น “ลายเซ็นเฉพาะตัว” ที่ลูกค้าประจำหรือคนที่คลุกคลีบ่อยๆ จะรู้

ตรงนี้ก็แล้วแต่ลูกค้า ชอบสไตล์ใครก็ไปอุดหนุนคนนั้น

ความต่างระหว่างวงการซ่อมหนังสือไทยกับต่างประเทศ

หญิงเล่าว่าในต่างประเทศจะมีสถาบัน มีหลักสูตรเฉพาะ อย่างออสเตรเลียก็จะมีสมาคมของตัวเอง จบมามีงานในองค์กรรองรับ เครื่องไม้เครื่องมือจะทันสมัยมาก ราคาจ้างก็สูงตามไปด้วย จึงทำให้ชาวต่างชาติบางส่วนตัดสินใจออกมาจ้างช่างซ่อมนอกประเทศ เพราะราคาถูกกว่าหลายเท่า ร้าน Book Clinic เองก็เป็นหนึ่งในตัวเลือก มีมาจากหลายประเทศทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ ชิลี ฯลฯ หนังสือส่วนใหญ่ที่เอามาซ่อมจะเป็นพวกหนังสือวิชาการไม่ก็หนังสือแนวศาสนา อย่างพวกคัมภีร์ไบเบิลเก่าแก่เป็นร้อยๆ ปีก็เยอะ แต่คนรับงานจากต่างประเทศโดยหลักจะเป็นรุ่นพี่ของเธอ

bookrepairer06
ที่ร้านรับงานจากทั้งลูกค้าไทยและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีตัวเรียงพิมพ์อักษรละติน สำหรับพิมพ์ปกหนังเก็บไว้ด้วย ในภาพเป็นตัวเรียงพิมพ์สำหรับหน้าปกคัมภีร์ไบเบิล

นิสัยรักหนังสือในคนแบบไทยกับต่างชาติ

จากประสบการณ์ของหญิง เธอพบว่าชาวต่างชาติจะให้ความสำคัญกับหนังสือเก่ามาก งบไม่อั้นเวลาส่งซ่อม แต่ในทางกลับกันจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับหนังสือใหม่ ต่างกับคนไทย ที่นอกจากหนังสือเก่าแล้วก็ยังมีนิสัยที่รักและหวงหนังสือใหม่มากๆ เธอย้ำอีกครั้งว่ามากจริงๆ บางคนแค่ปกหนังสือการ์ตูนพองเล็กน้อยต้องส่งให้เธอมารื้อซ่อมใหม่ กระดาษหลุดหนึ่งแผ่น ตัวอักษรทองเลือนหนึ่งตัว หรือตัวหนังสือบนสันเบี้ยวไปเล็กน้อย ก็รีบส่งมาทำใหม่แล้ว มีกระทั่งที่ไม่ชอบวิธีเข้าเล่มของต่างประเทศเลยส่งมาให้เข้าเล่มใหม่ทั้งหมด มีครั้งหนึ่งลูกค้าซื้อหนังสือมาใหม่ยังไม่ทันแกะซองพลาสติก แต่ไปเจอว่าชำรุดเล็กน้อยก็ตกใจและรีบส่งให้เธอทันทีทั้งแบบนั้น ด้วยความรักมากหวงมาก ทำให้บางคนจุกจิกขนาดที่ห้ามมีรอยหมึกรอยเปื้อนบนหน้ากระดาษแม้แต่นิดเดียว ทำเอาช่างซ่อมอย่างเธอเครียดจนไม่กล้าแตะไปหลายวัน ทั้งๆ ที่ถ้าทำทันทีก็ใช้เวลาแค่ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น

พูดถึงเวลาซ่อม บางทีก็เจอจดหมายน้อยหรือเงินโบราณสอดมาในหนังสือเก่าด้วย ถ้าเจอก็จะคืนลูกค้าในสภาพเดิมทั้งหมด เพราะของเหล่านี้มีความหมายต่อเจ้าของมากแค่ไหน เราไม่มีทางรู้

bookrepairer07
บางครั้งบางคราว นักซ่อมหนังสือก็เจอชิ้นส่วนความทรงจำที่ถูกแอบซ่อนไว้ในหนังสือ ถือเป็นสีสันเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตการทำงาน

ยุค E-book เฟื่องฟู หนังสือหดหาย ส่งผลอย่างไรกับนักซ่อม

คุณผู้อ่านคงคิดกันใช่ไหมว่าคราวนี้ต้องแย่แน่

แต่เปล่าหรอก จริงๆ แล้ว e-book กลับทำให้หญิงมีงานมากขึ้น เพราะลูกค้าที่มาจ้างสแกน e-book มักต้องการซ่อมเล่มจริงด้วย บางคนถึงกับสั่งทำเล่ม copy เผื่ออีกชุดเอาไว้อ่านจริง แล้วเก็บเล่มต้นฉบับไว้ในตู้ สำหรับตัวเธอ ไม่รู้สึกว่างานซ่อมเล่มลดน้อยลงเลย แต่กลับมีมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเมื่อไม่มีการพิมพ์หนังสือซ้ำ เท่ากับว่าซื้อของใหม่ไม่ได้ ต้องซ่อมอย่างเดียว

หญิงเสริมให้ฟังต่ออีกว่าเร็วๆ นี้จะมีงานผนึกกระดาษสา 4 หมื่นแผ่นพร้อมกับซ่อมเล่ม คิดราคาต่อแผ่น องค์กรใหญ่ๆ ห้าแห่งพุ่งมาที่นี่เพื่อจ้าง Book Clinic โดยเฉพาะ จริงอยู่ที่องค์กรเหล่านี้อาจจะมีเครื่องไม้เครื่องมือแพงๆ ทันสมัย สแกนหนังสือเข้าเล่มได้เอง แต่ก็มีงานซับซ้อนยุ่งยากอีกหลายอย่างที่พวกเขาทำไม่ได้ ต้องมาติดต่อรายย่อยอย่างเธอ และนั่นทำให้เธอมีสิทธิ์เลือก

พูดซะอยากเป็นช่างซ่อมบ้างเลยใช่ไหมล่ะ เรารู้ทันนะ แน่นอนว่าจัดให้ถูกใจทุกท่านแน่ๆ

bookrepairer08
ลูกค้าที่เข้ามาโดยส่วนมากรู้จักร้านจากทางอินเทอร์เน็ตบ้าง ทางโซเชียลมีเดียบ้าง

สำหรับคนที่สนใจอยากเรียนเป็นนักซ่อมหนังสือ

“ไม่จำเป็นต้องไปเรียนถึงต่างประเทศหรอก” หญิงเอ่ย เธอเปลี่ยนอิริยาบถ หันไปทำงานสาธิตให้เราดูไปด้วย “สมัยนี้ความรู้หาง่าย ในอินเทอร์เน็ตมีเยอะแยะ ศึกษา ลองทำเองที่บ้าน พื้นฐานคือต้องรู้จักโครงสร้างหนังสือให้ดีก่อน ลองผิดลองถูกไปเรื่อยเดี๋ยวก็เก่ง ไม่สวยก็แก้ใหม่ ที่สำคัญคือใจชอบทางนี้แน่ไหม ถ้าชอบแล้วก็จะตั้งใจขึ้นมาเอง พอเห็นงานออกมาดีความภูมิใจมันเกิด แล้วอยากพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ”

ไหนจะความได้เปรียบของยุคนี้ที่เป็นยุคโซเชียลฯ อยากทำธุรกิจอะไรไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ถ้าใช้เป็น เดี๋ยวลูกค้าก็เข้ามาหาเอง

bookrepairer09
ภัทรพลยังคงศึกษาด้านการซ่อมหนังสืออยู่อย่างสม่ำเสมอและยังเปิดสอนสำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย

รู้จักนักซ่อมให้มากขึ้น

จริงๆ แล้วนักซ่อมหนังสือไม่ได้มีแค่นักซ่อมอิสระแบบหญิงกับกุ๊กเท่านั้น ในต่างประเทศมีการศึกษากันเป็นแบบแผนจริงจังมานานแล้ว

กุ๊ก-ภัทรพลเล่าให้ฟังเมื่อครั้งไปสัมภาษณ์ที่ร้าน Book Clinic สาขาบางบัวทอง หมู่บ้านจันทิมาธานี 2 ซอย 4 ว่านักซ่อมหนังสือแบ่งได้เป็นสองแบบ คือ book binder หรือคนเข้าเล่ม ประเภทนี้จะเน้นว่าซ่อมให้น้อยและเหมือนของเดิมให้ได้มากที่สุด กับอีกแบบคือ conservator หรือนักอนุรักษ์ ซึ่งจะเน้นเรื่องของการเก็บสภาพเอกสาร เก็บหนังสือ ให้มีอายุนานขึ้น เน้นที่วัสดุมากกว่า

สำหรับคนที่ทำงานอนุรักษ์ หลักๆ จะต้องทำงานกับหนังสือโบราณอายุหลายร้อยปี ซึ่งเป็นช่วงที่คนเริ่มผลิตหนังสือแรกๆ ก็จะต้องมีความรู้เฉพาะด้าน อย่างเช่น ต้องรู้ว่ากระดาษประเภทนี้เป็นประเภทยังไง กาวนี้จะใช้อะไรเป็นตัวละลาย วิธีรื้อที่ถูกต้อง วิธีเย็บสมัยก่อนเป็นแบบไหน มีกี่แบบ ต้องรู้ทั้งหมด

นักซ่อมหนังสือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญนะ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย

ฟังแล้วทำให้อดคิดขึ้นมาไม่ได้ อาชีพที่คนไม่รู้จัก ไม่นิยม แต่มีรายได้ดียังมีอีกมากมาย ทั้งๆ ที่ความต้องการจ้างงานมีมาก แต่กลับขาดแคลน เพราะไม่ใช่อาชีพที่เป็นกระแส ไม่มีสวัสดิการรองรับ ขาดการส่งเสริม

บ้านเราในตอนนี้ถือได้ว่าขาดแคลนนักซ่อมหนังสือ เรายังไม่มีสมาคมนักซ่อมหนังสือในประเทศไทยด้วยซ้ำ ปัจจัยหลักๆ เป็นเพราะคนที่มีความรู้ความสามารถยังมีจำนวนน้อยเกินไป และหากเจาะลึกร้านซ่อมหนังสือที่มีตอนนี้จะพบว่าแต่ละร้านก็มีการรับงานเฉพาะด้านลงไปอีก อย่างบางร้านเน้นซ่อมหนังสือชุด จำพวกสารานุกรม พระไตรปิฎก บางร้านเน้นซ่อมรายย่อย จิปาถะ บางที่เน้นสอนการเย็บเล่ม ทำสมุดหนังสือ นั่นเพราะไม่ใช่ทุกร้านจะทำได้ทุกอย่าง

ปัญหาในการส่งเสริมอีกอย่างคือค่านิยมไม่สนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่ได้ลองในเส้นทางที่แตกต่าง

“เพราะมันมองไม่เห็นรายได้ไง แต่พี่ว่าทุกอาชีพมันอยู่ได้ คือทุกอาชีพเนี่ยมันมีทั้งคนรวยและคนจน เพราะฉะนั้นทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น แค่หาจุดของตัวเองให้ได้ พวกนี้มันต้องทำเอามันก่อนน่ะ ถ้าเด็กๆ อยู่ทำไปไม่ต้องเก็บเงิน ทำแล้วให้มันมีคนเห็น เฮ้ย เข้าท่าว่ะ ค่อยๆ ต่อยอดไปทีละเล็กละน้อย”

แล้วหลักฐานจากความสำเร็จที่ก่อร่างขึ้นไปจะทำลายกำแพงที่ปิดกั้นในใจของทุกคนเอง

ตัวอย่างไม่ต้องหาที่ไหนไกล ตอนแรกที่กุ๊กตัดสินใจจะยึดการซ่อมหนังสือเป็นอาชีพหลัก ตอนนั้นเขาไม่เด็กแล้ว คนในครอบครัวโดยเฉพาะภรรยาไม่เชื่อว่าจะไปรอด แต่สุดท้ายเธอก็ยอมรับ เมื่อเห็นว่าอาชีพแปลกๆ ที่สามีของเธอชอบ แต่แทบไม่มีคนทำนั้น สามารถเลี้ยงเธอกับลูกได้จริง

เกร็ดน่ารู้ โดยอาจารย์การุณ โรหิตรัตนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมรักษาหนังสือ หอสมุดแห่งชาติ

เรียบเรียงจากงาน หนังสือเก่าซ่อมได้ง่ายจังคราฟต์ วันที่ 7 ตุลาคม 2561 จัดโดย สารคดี-เมืองโบราณ ณ บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด ซอยนนทบุรี 22 ถนนนนทบุรี (สนามบินน้ำ)

>> คนทั่วไปมักคิดว่าการซ่อมหนังสือเป็นเรื่องเล็กน้อย จึงมักใช้วัสดุและวิธีการซ่อม หรือวิธีเก็บรักษาตามความเข้าใจของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม ทำลายหนังสือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และบางอย่างก็แก้ไขไม่ได้
>> ช่างซ่อมหนังสือเก่งไม่เก่งวัดกันที่การควบคุมกาว
>> เวลาซ่อมหนังสือ การใช้กาวเข้มข้นน้อย ถ้าเกิดการผิดพลาดแก้ง่าย แต่กาวเข้มข้นมากถ้าผิดพลาดจะแก้ยากมาก ไปจนถึงแก้ไม่ได้เลย ดังนั้นการควบคุมกาวจึงสำคัญมาก
>> กาวสำหรับการซ่อมหนังสือมีหลายแบบ เหมาะกับวัตถุประสงค์เฉพาะ ไม่ควรเอามาใช้ผิดประเภท
>> การป้องกันแมลงกินหนังสือ ไม่ควรใช้การบูรมากเกินไป เพราะถ้าใช้มากเกินไปจนกลิ่นติดเข้าไปในเนื้อหนังสือ ในระยะยาวจากกลิ่นหอมจะกลายเป็นกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
>> ซึ่งแก้ได้โดยการใช้พริกไทยคั่วจนหอมเอาไปวางใกล้ๆ หนังสือเพื่อดูดกลิ่นออก และต้องคอยเปลี่ยนใหม่เรื่อยๆ
>> การใช้กาวแป้งเปียกจะทำให้มีโอกาสถูกแมลงสาบกินหนังสือได้
>> การกำจัดความชื้น แบบตะวันตกใช้ซิลิกาเจล ส่วนวิธีแบบไทยโบราณใช้ถ่านแทน
>> ความร้อน+ความชื้น = หนังสือขึ้นรา
>> วิธีบรรเทาคือใช้แอลกอฮอล์ใส (สีฟ้าใช้ไม่ได้ ความเข้มข้นต่างกัน) ทาบนกระดาษที่เป็นรา จะช่วยฆ่าเชื้อราได้
>> วิธีรักษาสภาพหนังสือ ต้องอยู่ในที่แห้งไม่โดนแดด ถ้าจะเปิดแอร์ต้องเปิดตลอดเวลา เพราะถ้าปิดๆ เปิดๆ อาจทำให้ชั้นหนังสือเกิดความชื้นและขึ้นราได้
>> สมัยโบราณแก้เรื่องนี้ด้วยการทำห้องหนังสือไว้บนตึกสูงๆ ห้องที่มีลมโกรกตลอดเวลา
>> ใบลานกับหนังสือปัจจุบันไม่ควรเก็บร่วมกัน คนโบราณเอาใบลานไปผ่านกรรมวิธีการหมักเฉพาะ ทำให้มีสภาพเป็นด่าง เก็บได้นาน แต่หนังสือสมัยใหม่มีสารเคมีในขั้นตอนการผลิตทำให้มีความเป็นกรด เก็บไว้ไม่ได้นานเท่า ถ้าเก็บรวมกันแล้วมีการรั่วซึม อาจทำให้ใบลานมีสภาพเป็นกรดไปด้วย ทำให้เสื่อมสภาพเร็ว