เรื่อง : นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา
ภาพ : ธเนศ แสงทองศรีกมล

สองข้างของถนนสายวัฒนธรรมในชุมชนปากน้ำประแสร์ที่เงียบสงบในเวลาเกือบเที่ยงวัน บรรยากาศของตลาดที่ไร้รสชาติของชีวิต ร้านค้าและบ้านปราศจากผู้คน ทางถนนเรียบที่เงียบเหงาไร้เสียงเท้า คงมีแต่เสียงรถมอเตอร์ไซค์และจักรยานที่ขับผ่านมาบ้างเท่านั้น แต่แล้วบรรยากาศสงบที่แห้งเหี่ยวหายไปทันทีเมื่อผมเดินมาถึงหน้าร้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ตอนกลางของถนนสายนี้

“เหลืออีกกี่คิว” ชายคนหนึ่ง คร่อมขาอยู่บนรถมอเตอร์ไซค์ตะโกนถามชายอีกคนที่ยืนอยู่ภายในร้านแห่งนี้เพียงผู้เดียว

ชายคนที่ยืนในร้านหันไปนับ “หนึ่ง สอง สาม สี่ หกคิว” เขาตอบ

“เดี๋ยวกลับมาใหม่” ชายขับมอเตอร์ไซค์ตอบสวนกลับไป

เวลาเดียวกัน เสียงผู้คน เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ และชายวัยกลางคน นั่งคุยแทรกกันตลอดเวลา บรรยากาศเหมือนศาลาประชาคมกลางหมู่บ้าน แต่ไม่ใช่

นี่เป็นร้านเก่า เจ้าของร้านนี้ไม่ใช่ใครอื่น เขารู้จักกับ “ผม” ดีที่สุดในย่านนี้แล้ว เขาชื่อ “โด่ง”

ผม ประแสร์ และคนชื่อโด่ง บุญล้อม

โด่งเป็นใคร ทำไมเขาสนิทกับ “ผม”

โด่ง บุญล้อม บุญพรม เจ้าของร้านตัดผมในตลาดเก่าปากน้ำประแสร์วัย 50 ปี ชายชาวร้อยเอ็ดที่เดินทางห่างบ้านมุ่งเข้ามาเฮ็ดงานยังชุมชนปากน้ำประแสร์ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ผ่านการชักชวนของเพื่อนชาวร้อยเอ็ดที่จ้างให้เขามาเป็นผู้ช่วยในร้านตัดผมในชุมชนปากน้ำประแสร์เมื่อประมาณปี 2537

ชีวิตช่างตัดผมในประแสร์ของโด่ง เริ่มต้นขึ้นในร้านของเพื่อนที่เปิดกิจการอยู่แถวอาคารสันทนาการ หมู่ที่ 8 ศาลากลางหมู่บ้าน พื้นที่วิกเก่าหรือโรงหนังเก่าของชุมชน

“เพื่อนเขาเข้ามาก่อน พอมีเพื่อนอีกคนจะแยกร้าน เขาเลยเอาเรามาอีกคน แต่ก่อนร้านแรก ๆ อยู่ตรงโน่น ตรงหน้าวิก แต่เขารื้อไปหมดแล้ว ตอนนี้ไม่มีแล้ว” โด่งเล่าให้ฟังถึงชีวิตแรกเริ่มของเขากับ “ผม” ในประแสร์

ไม่นานโด่งก็ได้เป็นคนประแสร์อย่างเต็มตัวด้วยการได้พบรักและแต่งงานกับ “ภัณ” ภัณฑิรา บุญพรม สาวชาวปากน้ำประแสร์ จนมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน

เส้นทางชีวิตของโด่งดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนแยกกิจการกับเพื่อนมาเปิดร้านตัดผมแรกของตัวเองโดยเช่าบ้านเก่าบนถนนสายวัฒนธรรมข้างร้านปัจจุบันที่เปิดอยู่ตอนนี้

จะไม่ให้สนิทกับ “ผม” ได้ยังไง ในเมื่อเขาเจอกับ “ผม” มาเกือบทั้งชีวิต ยิ่งเมื่อ 30 ปีที่เข้ามาอยู่ประแสร์เขาได้พบเจอกับ “ผม” มากมายนับไม่ถ้วน

dongboonlom02
dongboonlom03

ร้านที่โด่งอยู่กับ “ผม”

ร้านของโด่งเป็นบ้านไม้เก่าสูงสองชั้น ตัวบ้านมีรายละเอียดงานประดับตกแต่งสวยงาม เช่นลายฉลุไม้เหนือประตูทางเข้าที่เป็นประตูบ้านเฟี้ยมสองบานขนาดใหญ่ แสดงความจงใจสรรค์สร้างของผู้สร้าง เป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นของบ้านเก่าหลังนี้ และยังบอกอายุสมัยได้ว่าบ้านหลังนี้สร้างขึ้นอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ 6 หรือประมาณร้อยกว่าปีที่แล้ว

เดิมบ้านหลังนี้เป็นของ อุไร ช่างทอง หญิงสูงวัยที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ประแสร์ สร้างขึ้นตั้งแต่รุ่นพ่อของอุไร แต่ก่อนบ้านนี้เคยทำอาชีพประมงก่อนเลิกกิจการเปิดหน้าบ้านเป็นร้านตัดเย็บเสื้อผ้า และเปลี่ยนมาเป็นร้านขายของชำ

บ้านหลังนี้แหละโด่งได้มาเช่าเพื่อเปิดร้านตัดผม หลังจากเปิดร้านอยู่ข้างๆ ร้านหลังปัจจุบันมาเกือบสิบปี

บ้านเก่าหลังนี้คือร่องรอยความเจริญในอดีตที่ปัจจุบันกลายมาเป็นของที่ไร้ชีวิต หากแต่ตอนนี้พี่โด่งนำของใหม่เข้ามาสร้างสีสันให้กับบ้านเก่าหลังนี้เพื่อคืนชีวิตให้กับบ้านอีกครั้ง

โต๊ะเครื่องแป้งติดกระจกบานใหญ่ ตั้งประชันอยู่ด้านหน้าของเก้าอี้เหล็กที่หมุนได้รอบตัว พัดลมใบพัดห้อยลงมาจากเพดาน เป็นของเก่าประจำร้านสามชิ้นที่โด่งเล่าว่าเป็นของเดิมที่มีมาตั้งแต่เปิดร้าน เก้าอี้นั่งไม้สำหรับนั่งรอตัดผมพร้อมกระดานหมากฮอสที่ตั้งไว้ให้ลูกค้าเล่นระหว่างรอคิว กรรไกรรุ่นเก่าที่มีสนิมจำนวนหลายอัน

ปลัดขิก เครื่องรางลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชาย ปรากฏอยู่ในร้านของโด่งถึงสามที่

ตั้งแต่ยันต์ที่ห้อยอยู่ตรงหิ้ง สร้อยที่ห้อยอยู่ตรงคอของโด่ง และเท้าแขนสองข้างของเก้าอี้ตัดผมที่ลูกค้านั่งอยู่นั้นแหละที่มีปลัดขิกท่อนใหญ่ ถ้าลูกค้าไม่ทันสังเกตก็คงไม่เห็น

“แล้วนี่เห็นมาตลอดไหมครับ” ผมชี้ที่ปลัดขิกตรงเท้าแขนของเก้าอี้แล้วถาม “ปูม้า” ธีรพันธุ์ พุ่มทอง ชายชาวจันทบุรี วัย 56 ปี ลูกค้าประจำของร้านโด่ง ด้วยความไม่รู้

“ไม่เคยเห็นเลย พึ่งเห็นเนี่ย ถ้าไม่ชี้ดูก็ไม่เห็น โด่งทำไมทำงี้” เขาหัวเราะ ปนยิ้ม

“สงสัยเป็นของดีเนี่ย คนหลงกัน” ปูม้าแซวโด่ง

ปลัดขิก ใช้เป็นเครื่องราง ให้คุ้มครองป้องกันภัย ให้เกิดเมตตามหานิยม-ราชบัณฑิตยสภา สิ่งนี้คงจะเป็นของดีและเป็นเคล็ดลับสร้างกำลังใจในการประกอบอาชีพของโด่ง ในยุคที่อะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน

dongboonlom04
dongboonlom05

ชีวิตในประแสร์ของ “ผม” และโด่ง

เด็ก วัยรุ่น คนสูงวัย นักเรียน ช่างก่อสร้าง ชาวประมง ไต้ก๋งหรือกัปตันเรือ ทุกคนนั่งรอคิวตัดผมอย่างเท่าเทียมอยู่ในร้าน มีเพียงโด่งเท่านั้นที่ยืนทั้งวันตั้งแต่เช้าจนคนหมดในเวลาค่ำ

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นขาประจำที่เคยตัดผมกับเขามาตั้งแต่แรก ๆ ตอนที่ประแสร์ไม่ได้มีร้านตัดผมเพียงร้านเดียว

“แต่ก่อนร้านตัดผมมีหกร้านเจ็ดร้าน คนเยอะ” โด่งบอกผม

โด่งอยู่กับ “ผม” คนประแสร์มาหลายรุ่น

“พ่อตา พี่ชาย ลูกชาย ตัดเรียบ ตาคนนี้ เล่นหัวเกลี้ยงเลยเนี่ย มาตั้งแต่ลูกชายเล็ก ๆ ตอนยังเอาไม้กระดานพาด (พาดไม้กระดานบนเท้าแขนของเก้าอี้ให้เด็กเล็กนั่งสำหรับตัดผม-ผู้เขียน) จนตอนนี้โตกว่าพ่ออีก” “บูลย์” ไพบูลย์ โพธิศาล ลูกค้าประจำของโด่งวัย 48 ปี เล่าอย่างติดตลก

“คิงออฟเจนเนอเรชั่นจริง ๆ” ผมนึกในใจ

จากตอนที่โด่งมาอยู่ประแสร์แรก ๆ ร้านโด่งไม่ได้เก่าและเก๋าที่สุดในชุมชน แต่ตอนนี้เขากลายมาเป็นคนที่อยู่กับ “ผม” นานที่สุดในย่านนี้

“ลูกค้าเขาเยอะ ไม่ค่อยว่าง นาน ๆ จะว่างสักที เสาร์อาทิตย์คนเยอะ เนี่ยวันนี้จะเยอะ (วันเสาร์-ผู้เขียน) ธรรมดาตัดตั้งแต่เก้าโมงยันโน่นแหละสองทุ่ม นี่ดีมาวันที่ไม่ค่อยมีคน บางทีมานั่งรอห้าหกเจ็ดแปดคิวเกือบทุกวัน” ปูม้า ลูกค้าเจ้าประจำของโด่งบรรยายบรรยากาศในร้านตัดผมแห่งนี้ที่เขามักเจอกับตัว

ตลอดเวลาที่ลูกค้านั่งบนเก้าอี้ตัดผม โด่งจะพูดคุยกับลูกค้า แลกเปลี่ยนเรื่องราว ทำให้โด่งรู้ทุกเรื่อง รู้ทุกความเคลื่อนไหวของประแสร์เป็นอย่างดี แม้เขาจะยืนอยู่กับ “ผม” ในร้านแห่งนี้เท่านั้น

“แต่ก่อนมีเรือลาก เดี๋ยวนี้ไม่มี เหลือแค่เรือได และก็มีเรือปลาโอ แต่เรือปลาโอออกน้อยกว่าแต่ก่อน ประมาณไม่กี่ลำหรอกตอนนี้ เดี๋ยวอีกสักพักพอเข้าพรรษา เรือทยอยลงใต้ เพราะทางบ้านเราอยู่ไม่ได้ จะกลับมาก็ตอนทางใต้มีพายุ สองสามเดือนที่แล้วก็ลงไปประจวบ เพราะประจวบมีอ่าวเรือ ฝั่งเราก็ไป มันเป็นอย่างนี้เรือเราถึงน้อยลง” โด่งเล่าอย่างรู้ลึก รู้จริง เหมือนเขาเป็นชาวประมง

“ไม่ได้ทำประมงแต่ก็รู้เรื่องประมง?” ผมถามโด่ง

“รู้จากพวกเถ้าแก่ พวกไต้นี่แหละ เวลามาตัดผม เขาก็คุยกันอะไรกัน แกไปตอนไหนอะไรเนี่ย” โด่งบอกให้ฟัง

“นักบันทึกสังคม” ผมนึกในใจ

ชีวิตโด่งมี “ผม” อยู่ด้วยเสมอมา แต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี เขาต้องเจอผู้คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาแล้วกี่หัว ผมคิด

ในหัวของโด่งคงเป็นคลังชีวิตของคนประแสร์จำนวนหนึ่งเลยทีเดียว

dongboonlom06

ประแสร์ที่โด่งเล่าต่อหน้า “ผม”

ช่วงแรกที่โด่งเข้ามาประแสร์ เขายังได้เห็นภาพของประแสร์ที่ไม่เหมือนกับวันนี้

“มาถึงก็มาตัดผม แรก ๆ คนเยอะ รู้จักกันหมด พวกบ่อกุ้งมีแต่คนต่างจังหวัดทั้งนั้น แถวนี้บ่อกุ้งเต็มหมด ฝั่งโน่นก็มี ฝั่งนี้ก็มี หนังมีทุกคืน เห็นมั้ยเมื่อเช้าที่เดินไป ตรงวิกเก่าเลิกไปนานละนะ ทำโดมแทน แต่เลยร้านก๋วยเตี๋ยวไปจะเป็นอีกวิก ฉายทุกคืน สองเรื่องสิบบาท” โด่ง ชายผู้ชำนาญการตัดผมพูดไปพลางตัดผมลูกค้าไปด้วย

“แต่ก่อนเจริญ หลังร้านตัดผมร้านเก่า มีแต่แหล่งท่องเที่ยว อาร์ซีเอเลย (สถานบันเทิง-ผู้เขียน) มันต้องมีเพราะว่าชาวประมงเยอะ มีทั้งนั้นแหละสามสี่บ้าน” โด่งพูดต่อ

ภาพของประแสร์ช่วงแรกในความทรงจำของเขา เป็นความเจริญเมื่อราวสามสิบปีก่อน ที่ยังมีโรงหนัง ผู้คน และอาชีพประมงเป็นจุดสร้างชีวิตให้ชุมชนแห่งนี้ ผิดกับที่ผมเห็น

เหมือนกับที่ “รัตน์” นิรัตน์ พุทธชาติ ชายวัย 74 ปี กับ “มด” ศิริคำ ศรีสุวรรณ หญิงวัย 66 ปี สองสามีภรรยาที่อาศัยอยู่ในบ้านข้างโรงหนังเก่าได้พูดคุยกับผมตอนที่เดินไปดูอดีตวิกเก่าใกล้กับตลาดเช้า

“เมื่อก่อนคนเยอะมาก พวกเรือจะมาก เรืออวน เรือเข้ามาก็มีหนังกลางแปลง มีหนังฉาย” “แต่ก่อนทุ่มสองทุ่ม คนยังเยอะแยะ ร้านค้าหน้าวิกมีคนขาย ลิเกก็เล่นเต็มหมดแต่ก่อน” สองสามีภรรยานั่งอุ้มหลานอยู่หน้าบ้านผลัดกันเล่า

“ฉันเกิด อยู่แดน อีสาน ถิ่นกันดารที่เขา ดูหมิ่น ดูแคลน จากไกลไปหากินต่างแดน ก็อาลัยแสนเมื่อจำต้องพรากบ้านมา” เพลงตังเก ของ “หมู” พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ คงเหมาะกับเรื่องที่ผมเล่า เพราะเพลงนี้แต่งขึ้นในปี 2534 ช่วงเดียวกับที่โด่งได้เดินทางจากบ้านจังหวัดร้อยเอ็ดมายังประแสร์

เพลงนี้สะท้อนภาพว่าคงไม่ได้มีเฉพาะโด่งและเพื่อนของเขาเท่านั้นที่ออกจากภูมิลำเนา แต่ยังคงมีคนอีสานจำนวนมากที่เดินทางออกจากถิ่นของตนเพื่อเข้าสู่เมืองที่เจริญกว่า และประแสร์ก็คงเป็นปลายทางอีกแห่งหนึ่งที่พวกเขามุ่งหวังจะเข้ามา

“บูลย์” ไพบูลย์ โพธิศาล ลูกค้าเจ้าประจำคนเดิมของร้านโด่ง เป็นหนึ่งในคนอีสานที่อาศัยอยู่ในประแสร์ที่ผมพบตอนที่เขามาตัดผม บูลย์เป็นคนร้อยเอ็ด คนบ้านเดียวกับโด่ง บูลย์เล่าว่าเขาเดินทางจากอีสานเข้ามาประกอบอาชีพช่างก่อสร้าง ในช่วงเดียวกับที่โด่งเข้ามาเป็นช่างตัดผมที่ประแสร์ ความเจริญของประแสร์ในยุคนั้นดึงเขาเข้ามาเช่นกัน

“แต่ก่อนประแสร์มีแต่คนอีสานทั้งนั้นออกเรือ เรือประมงทุกลำอีสานล้วน ๆ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ อุดร ขอนแก่น มานี่หมด มาออกเรือ” โด่งยืนยัน

“ความจำเป็น” ชักนำให้พวกเขาเข้ามาประแสร์ ดินแดนที่เวลานั้นเป็นสวรรค์ของแรงงาน

“ตราบใดที่สภาวะธรรมชาติไม่สามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แผ่นดินอีสานเพื่อยึดผู้คนอีสานให้ติดแน่นกับมาตุภูมิ (ซึ่งตามปกติแล้วมนุษย์จะไม่ยอมพรากจากไปถ้าหากไม่ถูกความจำเป็นบังคับ) ตราบนั้นการย้ายถิ่นของคนอีสานเพื่อแสวงหาวิถีทางการดำเนินชีวิตที่ดีกว่าก็ยังคงดำเนินต่อไป” ชีวิตลูกเรือประมงอีสาน ของ เสวภา พรสิริพงษ์ พิมพ์ปี 2535

เป็นวรรคที่ทำให้ผมคิดภาพย้อนกลับถึงชีวิตของโด่ง เพื่อนของเขา และแรงงานอีสานที่ต่างดั้นด้นกันเข้ามาประแสร์

แรงงานอีสานเดินทางออกนอกภูมิลำเนาของตัวเองมาตลอด แต่สำหรับชาวอีสานในชุมชนปากน้ำประแสร์ พวกเขาน่าจะเข้ามามากในช่วงหลังปี 2530 เพราะก่อนหน้านั้นรัฐมีนโยบายกระจายความเจริญและการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ภาคตะวันออกตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529)

dongboonlom07

“ผม” กับโด่ง มองเห็นประแสร์ที่เริ่มเปลี่ยนไป

ชีวิตโด่งอยู่กับ “ผม” มาตั้งแต่ค่าบริการตัดผมลูกค้าผู้ใหญ่อยู่ที่ราคา 30 บาท จนตอนนี้ขึ้นมาเป็น 60 บาท ผมคนนอกเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“ตอนนั้นตัดผมหัวละ 30 เมื่อก่อนประแสร์คนเยอะ เจริญกว่านี้ หาเงินง่าย ซื้อของง่าย กลางคืนมีร้านขายข้าวจนไปถึงสามสี่ทุ่ม ตอนนี้ไม่ใช่ เราไม่ใช่คนประแสร์แท้ ๆ ยังรู้เลยว่าเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน ชาวบ้านออกไปทำงานข้างนอก” โด่งบอก

“ไม่เหมือนเดิม ดูยังไงก็ไม่เหมือนเดิม จากเรือลำหนึ่งลูกน้องสามสิบสี่สิบคน มันเหลือลำละหกเจ็ด สามสี่คน แต่ก่อนป่านนี้เสียงบึ้งบังบึงบังแล้ว เรือออก ประทัดดังลั่นหมดแล้ว ตอนนี้เงียบกริบ แต่ก่อนเรือออกเขาจะไหว้ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว”

โด่งยังบอกอีกว่า แต่ก่อนลูกเรือชาวประมงส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน แต่เดียวนี้แรงงานต่างชาติเข้ามาเยอะขึ้น

“พวกพม่าก็มาทำเรืออวนลากบ้าง เขมรก็มาทำเรือ มีลาวนี่ละไม่ค่อยทำเรือ ลาวจะเลี้ยงไก่ เลี้ยงกุ้ง ไม่ค่อยลงทะเล เขาไม่มีทะเลมั้ง” โด่งพูดปนหัวเราะ

“คนต่างด้าวเข้ามาช่วงที่เราขึ้นค่าแรง เมื่อก่อนก็มี แต่ไม่มากเหมือนอย่างนี้ เพราะคนไทยเราทำอยู่ สมัยก่อนมีแต่คนโตเข้ามา ไม่มีเด็กเข้ามา กลับบ้านไปทีซื้อรถถงรถไถได้ พอตอนยุคหลังนี่แหละ เป็นเด็กวัยรุ่นมา” โด่งพูดต่อ

ผมไม่ได้เห็นกับตาว่าร้านของโด่งมีแรงงานเพื่อนบ้านมาใช้บริการมากน้อยแค่ไหน แต่ภาพธนบัตรต่างชาติชนิดต่างๆ ที่เหน็บจนเต็มข้างกระจก พอทำให้จินตนาการภาพได้ว่าแรงงานเหล่านี้คงเข้ามาไม่น้อย

“เขมรตัดก็เอามาให้ พม่าตัดก็ให้ ลาวตัดก็ให้” ช่างตัดผมมือทองขวัญใจแรงงานเล่าถึงที่มาของธนบัตร

ธนบัตรเหล่านี้เป็นของแทนคุณค่าทางจิตใจที่แรงงานเพื่อนบ้านมอบให้กับโด่ง ช่างที่เขามาใช้บริการเป็นที่ระลึก ขณะเดียวกันก็เป็นภาพแทนแรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาประกอบอาชีพยังประแสร์ด้วยเช่นกัน

ผมพอสรุปภาพความเข้าใจชีวิตและแรงงานคนประแสร์ ได้ว่า ในช่วงแรกตั้งแต่ชุมชนประแสร์มีกลุ่มคนจีนอพยพเดินทางเข้ามาเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ชุดแรกในพื้นที่ บ้างเข้ามาแต่งงานกับชาวไทย และอยู่ต่อไปจนมั่งมี จนสามารถขยับขยายเปลี่ยนสถานะกลายเป็นเถ้าแก่ดำเนินกิจการใหญ่โตในพื้นที่ หลังจากนั้นช่วงหลังปี 2530 กลุ่มคนอีสานได้เข้ามาหางานเป็นแรงงานในพื้นที่ประแสร์แทนที่แรงงานชาวจีนกลุ่มเดิม จนถึงยุคปัจจุบันแรงงานประเทศเพื่อนบ้านได้เข้ามาทดแทนคนอีสานกลุ่มเดิมมากขึ้น คนอีสานที่เข้ามาอยู่ก่อนบางกลุ่มเดินทางกลับบ้าน บางกลุ่มก็อยู่ต่อ บางกลุ่มก็กระจายตัวออกไปด้วยความเปลี่ยนแปลงของประแสร์

ประแสร์เปลี่ยนกลุ่มคนไปเรื่อย ๆ ตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ

dongboonlom08

ประแสร์ โด่ง และ “ผม” ในวันข้างหน้า

โด่งบอกกับผมว่า ถึงแม้ประแสร์จะเปลี่ยนไป เขาก็จะอยู่กับ “ผม” ต่อไปเรื่อย ๆ

“ประแสร์เจริญคงยากแล้วแหละ เพราะประมงไม่มีแล้ว ประมงน้อยลง ไม่เหมือนข้างนอก ข้างนอกยังทำไรได้ มันยังมีทางผ่าน” นี่คืออนาคตของประแสร์ที่โด่งมอง

“อย่างของผมไม่ค่อยกระทบหรอก เพราะมีขาประจำอยู่แล้ว แต่ลูกเรือก็จะน้อยลง แต่ถ้ามีเด็กเกิดใหม่อยู่เรื่อยๆ เราก็ยังอยู่ได้ เพราะเดือนหนึ่งก็ต้องตัด ก็คงทำจนกว่าเราแก่ตัวลงโน่นแหละ จนกว่าเด็กรุ่นใหม่จะมาแทนเรา” นี่คืออนาคตของโด่งที่เขามองตัวเอง

“ไม่เกินยี่สิบวันเดี๋ยว ‘ผม’ ก็ยาว เดือนต่อเดือนจำเป็นต้องตัด นอกจากเขาย้ายไปทำงานที่อื่นก็ห่างกัน ถ้ายังอยู่แถวนี้ก็ไป ๆ มา ๆ อยู่ได้” และนี่คืออนาคตของ “ผม” ที่โด่งมอง

โด่ง ชายที่อยู่กับ “ผม” มาเกือบทั้งชีวิต อย่างน้อยก็เกินครึ่งชีวิตที่เขาได้มอบให้กับ “ผม” ในประแสร์ ตัวเขาจึงได้เห็นชีวิตคนประแสร์มานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่ยุคประแสร์รุ่งเรืองมาสู่ช่วงโรยรา

“ผม” งอกกลับมาใหม่ได้ แต่ “ประแสร์” ไม่เป็นเช่นนั้น

ประแสร์ไม่งอกกลับคืน กลับสั้นลงและหดหายไปพร้อมรากเก่าและกำลังถูกแทนที่ด้วยรากใหม่ไม่แข็งแรงที่ผู้หวังดียัดเอามาให้

“ประแสร์ขาดประมงก็เหมือนคนขาดชีวิต” ผมเชื่อในลักษณะเดียวกับโด่ง ไม่รู้ว่าข้างหน้า “ประแสร์” จะเป็นเช่นไร จะดีขึ้นหรือแย่ลง ได้แต่หวังว่าผู้หวังดีจะเห็นคุณค่าของวิถีทางของชาวประมงตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ที่นี่เพียงเท่านั้น