กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๗ นักเรียนนายเรือสยาม

หลังจากทรงศึกษาวิชาเบื้องต้น และทรงสร้างความคุ้นเคยกับภาษา วัฒนธรรม และผู้คนชาวอังกฤษได้ราว ๒ ปี ในเดือนตุลาคม ๒๔๓๘ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนกินนอนชื่อ “เดอะไลมส์” (The Limes) ของนายลิตเติลจอห์น (William Thomas Littlejohn) ณ เมืองกรีนิช (Greenwich) ซึ่งเป็น “โรงเรียนกวดวิชา” อันมีชื่อเสียงสำหรับนักเรียนที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรือของอังกฤษ

เมื่อสรุปผลการเรียนตลอดหลักสูตรของพระองค์เจ้าอาภากรฯ ปรากฏว่าทรงมีคะแนนดีหลายวิชา เช่น เลขคณิต (arithmatic) พีชคณิต (algebra) เรขาคณิต (geometry) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงมีฝีมือยอดเยี่ยมในวิชาวาดเขียนและกีฬา

ตามหลักสูตรการศึกษาวิชาทหารเรือของอังกฤษสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นักเรียนที่สมัครเป็นนักเรียนนายเรือ (cadet) ต้องพำนักและเล่าเรียนวิชาทั้งฝ่ายสามัญและวิชาทหารในเรือหลวง “บริตาเนีย” (HMS Britannia) เรือรบที่เป็นเรือใบ ทอดสมออยู่ ณ ปากแม่น้ำดาร์ต เมืองดาร์ตมัท (Dartmouth) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน หลักสูตรใช้เวลาราว ๑ ปี ๔ เดือน จากนั้นต้องลงฝึกงานประจำเรือรบจริง ในฐานะนักเรียนทำการนายเรือ (midshipman) อีก ๒-๓ ปี จึงมีโอกาสสอบเลื่อนชั้นเป็น “ว่าที่เรือตรี”

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๔๓๖ เมื่อพระองค์เจ้าอาภากรฯ เสด็จถึงกรุงลอนดอน ทางรัฐบาลอังกฤษได้แจ้งให้ตัวแทนรัฐบาลสยามที่เป็นชาวอังกฤษทราบว่า เพิ่งมีการออกกฎข้อบังคับใหม่ ห้ามรับชาวต่างชาติเข้าศึกษาในโรงเรียนนายเรือของราชนาวีอีกต่อไป ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ทว่าทางฝ่ายสยามยังคงพยายามจัดการวิ่งเต้น สืบเสาะหาช่องทางให้เจ้านายไทยได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายเรือ “เป็นกรณีพิเศษ” เรื่อยมา ทว่าไม่เป็นผล

ท้ายที่สุดกระทรวงทหารเรือของอังกฤษยังยืนกรานตามหลักการเดิม แต่เปิดช่องให้ว่าจะยินยอมให้พระองค์เจ้าอาภากรฯ ข้ามขั้นไปเข้ารับการฝึกเป็นนักเรียนทำการนายเรือประจำเรือรบของอังกฤษได้ เมื่อทรงมีพระชันษาเทียบเท่านักเรียนนายเรืออังกฤษที่สำเร็จการฝึกศึกษาเบื้องต้นแล้ว คือประมาณ ๑๖ ปี แต่เนื่องจากยังไม่เคยทรงศึกษาในโรงเรียนนายเรือเลย ดังนั้นจึงขอให้พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงมีสถานะเป็นนักเรียนนายเรือของสยามเสียก่อนด้วย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งแรกโดยเรือพระที่นั่ง “มหาจักรี” ระหว่างทางพระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงโดยสารเรือย้อนจากอังกฤษกลับมาเฝ้าฯ รับเสด็จที่เมืองกอลล์ (Galle) เมืองท่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะลังกา เมื่อเวลาทุ่มเศษของคืนวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๔๐ ทรงมีพระราชหัตถเลขาว่า หลังจากไม่ได้พบพระเจ้าลูกยาเธอเกือบ ๔ ปี

“…อาภากรโตขึ้นมากแลขาวขึ้น เขามีเครื่องแต่งตัวเปนมิดชิบแมนมาพร้อมแล้ว ฉันได้มอบให้อยู่ในใต้บังคับกัปตันเปนสิทธิ์ขาด เว้นแต่วันนี้เขาอนุญาตให้มากินข้าวกับฉันวันหนึ่ง…”

นั่นเท่ากับว่าพระองค์ทรง “แก้เกม” ที่ฝ่ายอังกฤษวางเงื่อนไขไว้ ด้วยการแต่งตั้งพระองค์เจ้าอาภากรฯ ให้มีฐานะเป็นนักเรียนนายเรือสยาม โดยทรงเป็นนักเรียนทำการนายเรือประจำเรือพระที่นั่ง “มหาจักรี” ระหว่างมุ่งหน้าสู่ทวีปยุโรป ว่าที่จริงขณะนั้นสยามยังไม่มีโรงเรียนนายเรือ หรือสถาบันฝึกอบรมนายทหารเรือโดยเฉพาะแต่อย่างใด ดังนั้น เราจึงย่อมสามารถเทิดพระเกียรติได้ว่า พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงเป็น “นักเรียนนายเรือ” คนเแรกของสยาม โดยการแต่งตั้งของรัชกาลที่ ๕

เมื่อเรือพระที่นั่งแล่นเข้าคลองสุเอซที่ขุดผ่านอียิปต์ เชื่อมระหว่างทะเลแดงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว นาวาเอกคัมมิง (Robert Dalton Stevenson Cuming, 1852-1940 ภายหลังเป็นพลเรือเอก) นายทหารเรืออังกฤษที่รัฐบาลสยามขอยืมตัวมาเป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่ง จึงให้พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงหัดถือท้ายเรือพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวด้วยความภาคภูมิใจไว้ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๔๐ ว่า “…กัปตันชมนักว่าอาภากรถือท้ายดีอย่างยิ่ง วันนี้ถือในที่แคบไม่ได้ส่ายเลย ดูแกหยอดเต็มทีแล้ว…”

หยอด เป็นศัพท์แผลงหรือ “สแลง” ของยุคนั้น หมายถึงปลาบปลื้มชื่นชม หรือเอ็นดูเป็นพิเศษ


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ