โดย ศรัณย์ ทองปาน

ฝึกงานประจำเรือรบหลวง  HMS Revenge เรือธงประจำกองเรือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
d

เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงปฏิบัติได้ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้แล้ว กลางปี ๒๔๔๐ ทางกระทรวงทหารเรือของอังกฤษจึงต้องจัดให้พระองค์ลงฝึกงานประจำเรือรบราชนาวี

ก่อนหน้านี้เคยมีคนไทยไปเรียนวิชาการเดินเรือในอังกฤษมาแล้ว และน่าจะได้รับเกียรติว่าเป็น “คนไทยคนแรก” ที่เคยกระทำเช่นนั้น คือนายฉ่าง แสง-ชูโต (๒๔๑๕-๒๔๘๙ ภายหลังเป็นพลเรือเอก พระยามหาโยธา) น้องชายคนเล็กของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)

นายฉ่างได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี ๒๔๒๕ หรือเมื่อพระองค์เจ้าอาภากรฯ มีพระชันษาเพียง ๒ ขวบ นายฉ่างเข้าเรียนในโรงเรียนพาณิชย์นาวีของอังกฤษจนสำเร็จการศึกษาในปี ๒๔๓๐ จากนั้นจึงศึกษาต่อวิชาปืนและวิชานำร่องในวิทยาลัยทหารเรือ แล้วเข้ารับราชการในราชนาวีอังกฤษ และเคยประจำการกับกองเรือรบอังกฤษที่ “สถานีจีน” (China Station) (ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการในเขตทะเลจีน และมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก) ก่อนกลับเข้ามารับราชการในกรมทหารเรือของสยาม จนสุดท้ายได้รับตำแหน่งสูงสุดคือจเรทหารเรือ

เข้าใจว่าจากกรณีของนายฉ่างคงเป็นข้อเทียบเคียงให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าอาภากรฯ ลงฝึกงานกับ “สถานีจีน” บ้าง

ช่วงต้นปี ๒๕๖๒ มีบทความของอาจารย์ริชาร์ด เอ. รูท (Richard A. Ruth) หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ของโรงเรียนนายเรือ สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ สิงคโปร์ ว่าด้วยพระประวัติช่วงนี้

อาจารย์รูทค้นพบจากหลักฐานทางฝ่ายอังกฤษว่า รัฐบาลสยามแจ้งความประสงค์ว่าต้องการให้พระองค์เจ้าอาภากรฯ ลงฝึกงานในกองเรือทะเลจีน (คงอ้างตามกรณีของนายฉ่าง) โดยขอให้จัดลงประจำเรือรบหลวง “พาวเออร์ฟูล” (HMS Powerful) เรือรบที่ทันสมัยที่สุดลำหนึ่งของราชนาวีอังกฤษและเป็นเรือธงประจำกองเรือทะเลจีน แต่ทางการอังกฤษบ่ายเบี่ยง อ้างว่าเรือลำดังกล่าวมีลูกเรือลงประจำเต็มอัตราแล้ว

แต่เหตุผลแท้จริงเบื้องหลังคำปฏิเสธนั้น คือเรื่องความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์

ในปลายศตวรรษที่ ๑๙ อังกฤษคงไม่สามารถยินยอมให้มีนักเรียนทำการนายเรือที่เป็นถึงเจ้าชายแห่งโลกตะวันออก (an Eastern Prince) ไปป้วนเปี้ยนอยู่บนเรือรบที่มีเทคโนโลยีล่าสุด มิหนำซ้ำยังมีโอกาสได้ล่วงรู้นโยบาย หรือแนวทางปฏิบัติการทางทหารของอังกฤษในน่านน้ำเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สุดท้ายทางการอังกฤษจึง “จัดการ” ส่งพระองค์เจ้าอาภากรฯ ลงฝึกงานประจำเรือรบหลวง “รีเวนจ์” (HMS Revenge) เรือธงประจำกองเรือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อันแสนห่างไกลจากทะเลจีนและราชอาณาจักรสยาม

หนังสือกราบบังคมทูลของพระยาวิสุทธฯ ฉบับวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๔๑ กล่าวถึงการฝึกงานของพระองค์เจ้าอาภากรฯ ไว้ว่า

“…เรือริเวนช์ยังเชิญเสด็จไปเที่ยวร่อนเร่อยู่ในฝั่งเตอรกี ทั้งข่าวคราวและรายงานกว่าจะได้ก็ยากที่สุด เพราะนานๆ ได้ทีหนึ่ง…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ