พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) หนึ่งใน “ลูกศิษย์ก้นกุฎิ” ของ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ บันทึกเรื่องราวที่ท่านเคยได้ยินได้ฟังมาเกี่ยวกับพระองค์เจ้าอาภากรฯ ในระหว่างเป็นนักเรียนทำการนายเรือประจำเรือรบอังกฤษ ว่าพระองค์เคยต้องทรง “ยกพลขึ้นบก” เพื่อไปปราบจลาจลบนเกาะครีต

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๑๑ ยกพลขึ้นบก

เจ้าคุณหาญฯ เล่าไว้ดังนี้

“…ต้องนอนกลางดินกินกลางทราย หนาวก็หนาว ในสนามรบต้องนอนกับศพที่ตายใหม่ๆ และบางคราวซ้ำยังอดอาหาร ต้องจับหอยทากมาทอดเสวยกับหัวหอม ศพที่ถูกยิงที่ท้องนับว่าเหม็นร้ายกาจมาก ถึงจะเป็นศพตายใหม่ๆ ก็ตาม…”

จากเรื่องเล่าของพระยาหาญกลางสมุทร ต่อมา พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช ได้ค้นคว้าเพิ่มเติม จนกลายเป็นเนื้อหาสำคัญตอนหนึ่งในพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ฉบับที่แพร่หลายทั่วไป ว่าในช่วงที่พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงเป็นนักเรียนทำการนายเรือประจำเรือรบอังกฤษในกองเรือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เกิดเหตุเรียกร้องเอกราชขึ้นที่เกาะครีต (Crete) ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ใต้อำนาจปกครองของจักรวรรดิออตโตมาน (ตุรกี) ชาติมหาอำนาจยุโรป ทั้งรัสเซีย ฝรั่งเศส และอังกฤษ ต่างฉวยโอกาสเข้าแทรกแซง

เดือนกันยายน ๒๔๔๑ หน่วยทหารอังกฤษที่ประจำอยู่บนเกาะครีตถูกโจมตี รัฐบาลจึงส่งกองเรือรบอันมีเรือรบหลวง “รีเวนจ์” เป็นเรือธง เข้าควบคุมสถานการณ์ พระองค์เจ้าอาภากรฯ พระชันษา ๑๗ ปี จึงต้องนำทหารในบังคับบัญชายกพลขึ้นบก ทำการรบเป็นเวลาถึง ๓ เดือน

อาจารย์ริชาร์ด เอ. รูท (Richard A. Ruth) หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ โรงเรียนนายเรือ สหรัฐอเมริกา นักวิชาการต่างชาติผู้สนใจศึกษาพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ เสนอในบทความที่เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ช่วงต้นปี ๒๕๖๒ ว่าจากการค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุ ไม่เคยพบเรื่องดังกล่าวในหลักฐานราชนาวีอังกฤษ หรือแม้แต่ในปูมเรือใดๆ เลย รวมทั้งเมื่อพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล ย่อมไม่น่าเป็นไปได้ที่ทางการอังกฤษจะยอมปล่อยให้พระราชโอรสของกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรที่มีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน และเป็นเพียง “นักเรียนทำการนายเรือ” อายุแค่ ๑๗ ปี ออกไปสู้รบเสี่ยงตาย

ข้อเสนอของอาจารย์รูทอาจมีน้ำหนักมากขึ้น หากพิจารณาเทียบเคียงจากกรณีที่คล้ายคลึงกัน คือระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระโอรสในรัชกาลที่ ๕ อีกพระองค์หนึ่ง คือเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (ภายหลังเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗) ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารเมืองวูลิช (Royal Military Academy, Woolwich) และประจำการในกรมทหารปืนใหญ่ม้า (Royal Horse Artillery) ของอังกฤษ ทรงมีพระประสงค์สมัครเข้าร่วมรบในสมรภูมิยุโรปเช่นเดียวกับพระสหายนายทหารคนอื่นๆ แต่ทางรัฐบาลอังกฤษปฏิเสธคำขอดังกล่าวอย่างเด็ดขาด

แต่ขณะเดียวกัน มีเรื่องเล่าที่เพิ่งปรากฏขึ้น แต่กลับยืนยันซ้ำเรื่องการปราบจลาจลบนเกาะครีตของ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ อีก เมื่อ พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ เผยแพร่เอกสารจากคุณจารุพันธุ์ ศุภชลาศัย บันทึกเรื่องที่ “ท่านแม่” คือท่านหญิงจารุพัตรา พระธิดาของกรมหลวงชุมพรฯ เคยเล่าให้ฟัง มีความตอนหนึ่งว่า

“…ในช่วงเวลาที่ฝึกงานอยู่ในเรือ Revenge นั้น ได้เกิดจลาจลขึ้นที่ในเกาะ Crete ซึ่งอยู่ในปกครองของตุรกี ทหารในเรือรบของอังกฤษต้องยกพลขึ้นบกเพื่อไปปราบปราม พระองค์ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาทหารหมู่หนึ่ง มีครั้งหนึ่งสู้กับแขกคนหนึ่ง เขาล้มหงายลง ทรงต้องตัดสินพระทัยฆ่าเขา เพราะไม่ทำอย่างนั้น เขาก็จะต้องฆ่าพระองค์อย่างแน่นอน

“ภายหลังเสด็จกลับมาเมืองไทยแล้ว เวลาทรงพระประชวรไข้สูง ท่านจะทรงเพ้อเห็นหน้าแขกคนนั้น เมื่อทรงหายแล้ว ท่านแม่ทูลถาม ท่านจึงเล่าเหตุการณ์นี้ให้ฟัง ท่านไม่อยากฆ่าเขา แต่ด้วยความจำเป็นจริงๆ ถึงต้องทำ ทำให้ภาพนั้นติดตาอยู่”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ