ไม่ว่าพระองค์เจ้าอาภากรฯ เคยทรง “ยกพลขึ้นบก” ปราบกบฏที่เกาะครีตจริงหรือไม่ แต่ข้อมูลทั้งหมดล้วนยืนยันว่าพระองค์ทรงลงฝึกงานประจำเรือรบหลวง “รีเวนจ์” ซึ่งมีบทบาทในความขัดแย้งครั้งนั้นจริง

Mediterranean fever - กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๑๒

ระหว่างการฝึกกับกองเรือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พระองค์เจ้าอาภากรฯ เกิดประชวรด้วยโรคที่สมัยนั้นเรียกกันว่า “ไข้มอลตา” (Malta fever) หรือ “ไข้เมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean fever) ปัจจุบันเรียกว่าโรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียซึ่งแพร่จากสัตว์สู่คน เช่นการบริโภคน้ำนมดิบที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ ทำให้มีอาการจับไข้เป็นระยะๆ

อีกหลายปีต่อมาจนเมื่อเสด็จกลับยังสยามแล้ว ในคราวตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสเกาะชวาในปี ๒๔๔๔ พระองค์เจ้าอาภากรฯ ยังเกิดจับไข้จากโรคนี้อีก “ราชกิจจานุเบกษา” รายงานว่า

“…พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ เปนไข้มอลตาฟีเวอ ซึ่งได้เคยทรงเปนมาแต่เมื่อครั้งเสด็จไปอยู่ประจำที่เมืองมอลตา (เปนเกาะหนึ่งของอังกฤษ ในทะเลเมดิตอระเนียน เมื่อครั้งไปศึกษาวิชาทหารเรือ ณะประเทศยุโรป) เปนไข้มีตัวสัตว์ในโลหิต ซึ่งเคยทรงเปนอยู่เนืองๆ เหมือนคนที่เคยเปนไข้ป่า…”

หลังจากใช้เวลาฝึกบนเรือรบอังกฤษรวม ๑ ปี ๗ เดือน พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงสอบผ่านวิชาการเรือสำหรับนักเรียนทำการด้วยระดับ “ดีมาก” จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในชั้นเรียนสำหรับนายทหาร เฉพาะวิชาเดินเรือและวิชานำร่อง ที่วิทยาลัยทหารเรือกรีนิช จนสำเร็จในปลายปี ๒๔๔๒

ส่วนวิชาอาวุธ เช่นปืนใหญ่และตอร์ปิโด มีหลักฐานอ้างว่าทางราชการอังกฤษพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้ทรงเข้าเรียน เนื่องจากเป็นความลับของทางราชการที่สงวนไว้เฉพาะนายทหารเรือชาวอังกฤษเท่านั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อปี ๒๕๔๓ คุณเอนก นาวิกมูล นักเขียนนักค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ค้นพบข้อมูลใน “ยุทธโกษ” วารสารของกองทัพบก เล่ม ๘ ตอน ๙ (ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๙) เดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๙ (๒๔๔๓) อ้างรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์อังกฤษเมื่อเดือนเมษายน ว่าพระองค์เจ้าอาภากรฯ ซึ่ง “ได้เข้าสำรองราชการณะกองทัพเรือของประเทศอังคริษ” ทรงประดิษฐ์ “เครื่องยุทธยนตร์เปนหลอดอย่างใหม่ สำหรับปล่อยลูกระเบิด ‘โตร์ปิโด’ ไต้น้ำ ให้แล่นระเบิดไปทำลายเรือรบของข้าศึก เปนการแยกคายแปลกประหลาดมาก”

ประเด็นนี้จึงยังเป็นปริศนา เพราะขัดแย้งกับข้อมูลที่ระบุว่าพระองค์ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าศึกษาวิชาตอร์ปิโด ขณะเดียวกันก็ยังไม่อาจสืบสาวกลับไปหาเอกสารชั้นต้น คือหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับดังกล่าว หรือหลักฐานอื่น ที่จะตรวจสอบยืนยันกันได้


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ