เมื่อพระองค์เจ้าอาภากรฯ เสด็จกลับจากยุโรปได้ ๘ เดือน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปลายปี ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสู่ขอหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ (๒๔๒๘-๒๔๕๑) พระธิดาใน “สมเด็จฯ วังบูรพา” สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช (๒๔๐๒-๒๔๗๑ ภายหลังคือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) กับหม่อมเลี่ยม ให้เป็น “สะใภ้หลวง”

สมเด็จฯ วังบูรพาพระราชทาน กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๑๔

“ราชกิจจานุเบกษา” รายงานข่าวเรื่องนี้ไว้ว่า (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)

“วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙ เวลาบ่าย ๕ โมง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมพระบรมวงษานุวงษ์ ที่พระที่นั่งจักกรีมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ พระราชทานแด่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ แลหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมราชินีนารถ แลพระบรมวงษานุวงษ์ทรงหลั่งน้ำสังข์ต่อไป แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับโต๊ะเสวยพระสุธารศแลเครื่องว่าง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนารถ แลพระบรมวงษานุวงษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานพระพรศุภสวัสดิ์ แด่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ แลหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ตามสมควร ครั้นเวลาค่ำทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านข้างใน คือพระสัมพันธวงษเธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ๑ เจ้าจอมมารดาแพ ๑ กับท้าวนางเฒ่าแก่ พาหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ขึ้นรถแต่ในพระบรมมหาราชวัง ไปส่งที่วังพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ ณ ตำบลสวนดุสิต แล้วเปนเสร็จการ”

หลังจากนั้นอีกสามสัปดาห์ ๒๐ มีนาคม เดือนสุดท้ายของปีตามปฏิทินเก่า จึงมีการจัดงานราตรีสโมสรเฉลิมฉลองให้แก่ “คู่บ่าวสาว” ณ วังบูรพาภิรมย์ ที่ประทับของ “สมเด็จฯ วังบูรพา” พระบิดาของเจ้าสาว ในการนี้ “เชิญทั้งคนไทยฝรั่งชายหญิงมาประชุมกันเป็นอันมาก”

ขณะนั้นพระองค์เจ้าอาภากรฯ มีพระชันษา ๒๐ ปี ส่วนหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ พระชันษา ๑๔-๑๕ ปี

พูดอย่างภาษาชาวบ้าน ทั้งคู่เป็น “ลูกพี่ลูกน้อง” กัน

ด้วยว่า “สมเด็จฯ วังบูรพา” (ขณะนั้นพระชันษา ๔๓ ปี) ทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระราชชนนี คือ “น้องแท้ๆ” ของในหลวงรัชกาลที่ ๕ ดังนั้น หากเรียกตามลำดับเครือญาติแบบคนไทยให้เข้าใจง่าย “สมเด็จฯ วังบูรพา” ทรงเป็นทั้ง “อา” (น้องของพ่อ) “น้าเขย” (หม่อมแม้น หม่อมห้ามเอกของพระองค์ เป็นน้องสาวเจ้าจอมมารดาโหมด) ก่อนจะมาเป็น “พ่อตา” ของพระองค์เจ้าอาภากรฯ

ยิ่งไปกว่านั้น ปีต่อมา ๒๔๔๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “สมเด็จฯ วังบูรพา” เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รั้งตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ขณะที่พระองค์เจ้าอาภากรฯ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศขึ้นเป็นนายเรือเอก (เทียบเท่านาวาเอกปัจจุบัน) และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ

ทั้งสองพระองค์จึงกลายเป็นผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาในหน่วยงานเดียวกัน คือกรมทหารเรือ

แต่สถานะความสัมพันธ์ระหว่าง “พ่อตา” กับ “ลูกเขย” คู่นี้ ดูเหมือนจะมิได้ราบรื่นเท่าใดนัก ดังจะได้เห็นต่อไปข้างหน้า


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ