เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๑๕ - “ทูลกระหม่อมบริพัตร”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีแนวพระราชดำริในอันที่จะให้พระราชโอรสซึ่งสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ กลับมาเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการต่างๆ เพื่อช่วยแบ่งเบาพระราชภาระในการบริหารราชการแผ่นดิน

ในลายพระหัตถ์ของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (๒๔๐๔-๒๔๗๐) ลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๔๓ ที่ทรงมีไปยังพระโอรส คือ “ทูลกระหม่อมบริพัตร” สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต (๒๔๒๔-๒๔๘๗ ภายหลังคือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) เมื่อยังทรงศึกษาวิชาทหารบกอยู่ที่เยอรมนี มีความตอนหนึ่งว่า “ทูลหม่อม” (รัชกาลที่ ๕) ทรงฝากความหวังไว้มาก กับพระองค์เจ้าอาภากรฯ ซึ่งเพิ่งเสด็จกลับมายังสยามเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ว่าจะได้เป็นหลักของกรมทหารเรือต่อไป

“…ทูลหม่อมท่านกำลังต้องการให้ลูกท่านกลับมาทำการเป็นอันมาก แลราชการตามกระทรวงทุกวันนี้ ก็เฉภาะกระทรวงพระกระลาโหมเป็นด้อยมากกว่ากระทรวงอื่น กรมทหารเรือรวนจะล่มอยู่เต็มทีแล้ว เดี๋ยวนี้กำลังทรงเข็นองค์อาภากรอยู่…”

มกราคม ๒๔๔๕ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เสด็จฯ กลับจากอังกฤษถึงสยาม ผ่านทางสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ห้าเดือนต่อมา พฤษภาคม ๒๔๔๖ (ขณะนั้นขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนศักราชเดือนเมษายน) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยของเยอรมนี และเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ

เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปลายปี ๒๔๔๖ “สมเด็จวังบูรพา” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต เสนาธิการทหารบก พระชันษา ๒๒ ปี ผู้ซึ่งเพิ่งเสด็จกลับถึงสยามเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ

อาจเกิดคำถามว่าเหตุใดจึงมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระองค์เจ้าอาภากรฯ จากรองผู้บัญชาการขึ้นเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ แต่กลับพระราชทานตำแหน่งให้แก่ “ทูลกระหม่อมบริพัตร” ทั้งที่เพิ่งเสด็จกลับมาถึงสยาม อีกทั้งยังทรงอ่อนพระชันษากว่าด้วยซ้ำ

เราอาจลองพิจารณาความในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ เรื่องนี้ ตอนหนึ่งว่า

“…เห็นว่าส่วนการปกครองกรมยังหาเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ จะให้แต่ผู้รู้วิชาการเดินเรือจัดการปกครองทั่วไป ก็จะยังไม่เป็นการเรียบร้อยตลอดไปได้…เห็นว่าชายบริพัตรมีสติปัญญา แลความเพียรมั่นคงอยู่ จึงตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ…”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงทรงเล็งเห็นแล้วว่า แม้พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงเป็น “ผู้รู้วิชาการเดินเรือ” แต่อาจไม่ทรงสันทัดในการบริหารราชการ จึงทรงให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นพระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้า ช่วยมาดูแลด้านการบริหารงานแทน

ที่สำคัญ พระราชบิดาคงเล็งเห็นแล้วว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็น “เจ้าพี่เจ้าน้อง” ที่สนิทสนมคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ครั้งประทับอยู่ในยุโรป น่าจะไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน ยิ่งกว่านั้นยังทรงมีความเกี่ยวดองใกล้ชิด ด้วยว่าพระมารดาของทั้งสองพระองค์ล้วนสืบสายราชนิกุลบุนนาคทั้งคู่ หากได้ทรงงานเคียงบ่าเคียงไหล่ โดยอาศัย “ความถนัดส่วนพระองค์” การสะสางปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมอยู่ในกรมทหารเรือมาช้านานน่าจะลุล่วงไปได้ด้วยดี

พระราชดำริดังกล่าวของสมเด็จพระปิยมหาราชจะบรรลุผลสำเร็จหรือไม่เพียงใด เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ