กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๑๖ - กรมทหารเรือ ๒๔๔๖

กรมทหารเรือตั้งขึ้นในปี ๒๔๓๐ โดยรวบรวมส่วนราชการทหารเรือที่เคยแยกกันอยู่กระจัดกระจายให้เข้ามาเป็นหน่วยงานเดียวกัน เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการในปี ๒๔๔๖ ออฟฟิศกรมทหารเรือตั้งอยู่ในบริเวณพระราชนิเวศน์สถาน ปากคลองมอญ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บางทีเรียกกันว่า “จวนเดิม” เพราะเชื่อว่าในสมัยกรุงธนบุรี เคยเป็นที่ตั้ง “จวน” หรือบ้านของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

กรมทหารเรือมีอู่หลวงอยู่ที่ข้างวัดวงศมูล ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางใต้ของวัดระฆังฯ

มีสถานศึกษาในสังกัดสามแห่ง คือ โรงเรียนนายสิบ โรงเรียนนายร้อย (นาวิกโยธิน) และโรงเรียนนายเรือ

ส่วนกรมเรือกลและป้อม ในบังคับบัญชาของพระองค์เจ้าอาภากรฯ รองผู้บัญชาการ มีเรือรบเพียงไม่กี่ลำ

ลำใหญ่ที่สุดคือ “มหาจักรี” ซึ่งจัดสำหรับเป็นเรือพระที่นั่ง

ส่วนเรือรบลำอื่นล้วนมีขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น “มกุฎราชกุมาร” “พาลีรั้งทวีป” “สุครีพครองเมือง” หรือ “มูรธาวสิตสวัสดิ์”

เรียกง่ายๆ ว่า เรือรบทั้งหมดของสยาม มีขนาดระวางขับน้ำรวมกัน ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเรือ “รีเวนจ์” เรือธงประจำกองเรือทะเลเมดิเตอเรเนียน ที่พระองค์เจ้าอาภากรฯ เคยลงฝึกงานประจำ เพียงลำเดียว

กรมทหารเรือมีป้อมสี่แห่งใต้การบังคับบัญชา คือ ป้อมผีเสื้อสมุทร ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมเสือซ่อนเล็บ ที่ปากน้ำ สมุทรปราการ และป้อมแผลงไฟฟ้าที่พระประแดง หรือนครเขื่อนขันธ์

นายทหารสัญญาบัตรคนไทยทั้งกรม มีจำนวนไม่ถึง ๒๐๐ นาย ขณะที่ระดับผู้บังคับการเรือและผู้บังคับการป้อมส่วนมากเป็นฝรั่งเดนมาร์ก

ส่วนหน่วยงานของกรมทหารเรือที่อยู่นอกพระนคร มีกรมทหารเรือชายทะเล (สถานีทหารเรือ) ตั้งเรียงรายตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออก เช่น บางพระ ระยอง แกลง ขลุง ฯลฯ

แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดของกรมทหารเรือใน พ.ศ. นั้น คือเรื่องของ “คน”

หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม บริพัตร (๒๔๒๙-๒๔๙๙) พระชายาขององค์ผู้บัญชาการฯ ทรงเล่าว่า เวลานั้นข้าราชการทหารเรือคนไทยกำลังแตกแยกกันอย่างหนักในทุกระดับ เช่นระดับผู้บังคับบัญชา มีความบาดหมางระหว่างพวก “หัวใหม่” นำทีมโดย “นักเรียนนอก” ศิษย์เก่าอังกฤษ ได้แก่พระองค์เจ้าอาภากรฯ และนายฉ่าง แสง-ชูโต ซึ่งขณะนั้นได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิยัตินาวายุทธ์ กับพวก “หัวเก่า” ที่เป็นข้าราชการซึ่งรับราชการมาแต่เดิม

แต่ละฝ่ายถึงขนาดไม่พูดจากัน แม้แต่เรื่องที่ควรสอบถามกันด้วยวาจาได้ แต่เมื่อนั่งทำงานอยู่คนละห้อง ก็ถึงขนาดต้องเขียนเป็นจดหมายโต้ตอบ

นี่จึงอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ทรงได้รับแต่งตั้งให้มารับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ

นั่นเพราะทรงเป็น “คนกลาง” ที่มิได้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับความร้าวฉานในหมู่ผู้บังคับบัญชา ขณะที่พระองค์เจ้าอาภากรฯ ซึ่งเป็นรองผู้บัญชาการ ทรงมีส่วนร่วมอยู่ในความขัดแย้งนี้โดยตรง

ปัญหาที่รอให้ทั้งสองพระองค์ร่วมกันแก้ไข จึงมีมากมายมหาศาล ชนิดที่สมัยนี้อาจเรียกได้ว่า เหมือนกับพลิกตำราหนังสือ how to โดยมีเล่มแรกคือ “how to ประสานรอยร้าว”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ