กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๑๗ - มรดกมุสลิม

เวลานั้น ปัญหาความร้าวฉานภายในกรมทหารเรือมีทุกระดับ

ตั้งแต่ชั้นผู้บังคับบัญชา ไล่ลงมาจนถึงระดับนายทหาร ซึ่งเกิดความขัดแย้งระหว่างนายทหารเรือรุ่นหนุ่มซึ่งศึกษาวิชามาตามแบบสมัยใหม่ กับนายทหารเรือรุ่นเก่าที่สืบสายตระกูลกันมาตามระบบโบราณ เช่นนายทหารเรือเชื้อสายอาสามอญกับนายทหารเรือมุสลิม เชื้อสายอาสาจาม

เราอาจคุ้นหูว่ามอญเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางตอนใต้ของดินแดนพม่า จนปัจจุบันก็ยังมีคนไทยเชื้อสายมอญกระจายกันอยู่ทั่วไปในภาคกลาง

แต่จามคือใคร?

อธิบายสั้นที่สุดได้ว่า ดั้งเดิมชาวจามตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนามปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ทั้งยังเคยมีอาณาจักรจามปาอันยิ่งใหญ่ ร่วมยุคกับอาณาจักรขอมโบราณ จนเมื่อพ่ายแพ้แก่กองทัพญวน ชาวจามแตกฉานซ่านเซ็น บางส่วนอพยพเข้าสู่ดินแดนกัมพูชา และต่อมาเปลี่ยนศาสนาจากฮินดูไปเข้ารับอิสลาม คนไทยโบราณจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “แขกจาม”

พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ นายทหารเรือนักประวัติศาสตร์ อธิบายไว้ในหนังสือเล่มสำคัญของท่าน คือ “ประวัติการทหารเรือไทย” ว่าสยามสมัยโบราณ ยังไม่มีกองทัพประจำการเหมือนปัจจุบัน ใช้การเกณฑ์ไพร่ไปรบเป็นครั้งคราวเมื่อมีศึกสงครามเท่านั้น ส่วนในยามปรกติ นอกจากทหารรักษาวังและทหารรักษาพระองค์แล้ว มีทหารในราชการเพียงจำนวนไม่มาก “โดยมากเป็นคนต่างชาติซึ่งบรรพบุรุษของเขาได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารหรือถูกกวาดต้อนมาในฐานะเชลย…ทหารประจำเรือรบแต่ครั้งก่อนๆ นั้นส่วนใหญ่เป็นพวกอาสาจาม อาสามอญ และอาสาลาว…”

แม้จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เข้าสู่ยุคเรือกลไฟ และสยามปรับปรุงระบบราชการให้เป็นแบบสมัยใหม่แล้ว แต่กลุ่มทหารเรือยังมีกรมอาสามอญและกรมอาสาจามตกค้างอยู่เรื่อยมา แม้กระทั่งใน “กรณี ร.ศ. ๑๑๒” คืนวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ เมื่อเรือรบฝรั่งเศสแล่นข้ามสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา จนปะทะกับเรือรบและป้อมปืนของสยาม ลูกเรือประจำเรือรบของสยามที่เสียชีวิตในที่รบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ล้วนเป็นพลทหารมุสลิมจากกรมอาสาจาม

หลายท่านเชื่อว่า มรดกตกทอดของกรมอาสาจามยังหลงเหลือเป็นคำศัพท์เฉพาะของทหารเรือ เช่น หะเบส/ฮะเบส (ยกขึ้น เช่นหะเบสสมอ คือดึงสมอขึ้น) หะเรีย/ฮะเรีย (หย่อนลง เช่นหะเรียสมอ คือปล่อยสมอลง) ตลอดจนถึงคำเรียกชื่อเชือก เพลา เสา ใบ ที่ทหารเรือไทยเคยใช้กัน ล้วนเป็นคำภาษาจาม ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรนีเชียน กลุ่มมลาโย-โพลีนีเซียน กลุ่มเดียวกับภาษามลายูและอินโดนีเซีย

ดังนั้นเมื่อพระองค์เจ้าอาภากรฯ เข้ามารับราชการในกรมทหารเรือ ย่อมต้องทรงเรียนรู้ภาษาจาม/มลายู ซึ่งเป็นศัพท์เทคนิคของ “ชาวเรือ” จากนายทหารเรือรุ่นเก่าที่เป็น “แขก” ด้วยจนเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง ดังปรากฏในพระประวัติ พลเรือเอก หม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร พระโอรสของพระองค์เจ้าอาภากรฯ ที่ว่า เมื่อยังเล็กเคยทรง “…ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษามลายูกับเสด็จพ่อ…”

ไม่เพียงแต่เท่านี้ เพราะพระองค์เจ้าอาภากรฯ ยังคงต้องใช้อีกหลากหลายวิธี เพื่อกอบกู้ความเป็นปึกแผ่นในกรมทหารเรือ อันตกอยู่ในสภาพ “รวนจะล่มอยู่เต็มทีแล้ว”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ