นอกจากการเรียนรู้วัฒนธรรมและฝึกฝน “ภาษาเฉพาะทาง” เช่นภาษาจาม/มลายู ในกองทัพเรือสยามแล้ว วิธีการสำคัญที่พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงใช้สร้างความยอมรับนับถือในหมู่ทหารเรือใต้บังคับบัญชา คือการแสดงพระองค์ในฐานะ “พวกเดียวกัน” ด้วยการกระทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า พระองค์ก็เป็น “ทหารคนหนึ่ง” เช่นเดียวกับทหารคนอื่นๆ

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๑๘ - “ฉันด้วย”

นาวาตรี หลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต ๒๔๒๖-๒๔๙๘) บันทึกเรื่องของพระองค์เจ้าอาภากรฯ หรือที่คุณหลวงเรียกว่า “เจ้าพ่อ” ไว้ว่า ในการเคลื่อนย้ายกำลังทหารไปตั้งหน่วยฝึกพลทหารเรือขึ้นใหม่ที่บางพระ ชลบุรี ราวปี ๒๔๔๕

“…เจ้าพ่อประทับในเรืออัคเรศฯ พร้อมด้วยพวกฝ่ายธุรการ พอถึงปากอ่าวเกิดเรือรั่วขึ้น เจ้าพ่อสั่งให้เอาข้าวสารที่ใส่กระสอบไว้ไปอุดที่รูรั่ว ๓-๔ กระสอบ เมื่ออุดแล้วก็ยังรั่วอยู่ แต่เบาลงครึ่งหนึ่ง เจ้าพ่อสั่งให้เอาถังสังกะสีประมาณ ๑๐ ใบมา และรับสั่งว่า ‘เรียงแถววิดน้ำเรือหมดคน ฉันด้วย เว้นแต่เจ้าหน้าที่เดินเรือกับช่างกลและยาม ไม่ต้องวิด’ วิดจากท้องเรือส่งกันต่อๆ ไป เมื่อแห้งแล้วหยุดพัก เมื่อมีน้ำก็วิดอีก…”

นั่นคือ นอกจากจะทรงมีคำสั่งให้ทหารทุกนาย (“หมดคน”) ระดมกำลังกันมายืนเรียงแถวส่งถังน้ำต่อๆ กันแล้ว ยังให้นับเอาพระองค์เอง (“ฉันด้วย”) เข้าไปในแถวด้วย นั่นคือพระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงต้องมี “หน้าที่” ในยามคับขันไม่ต่างจากลูกเรือคนอื่นๆ

จากนั้น เมื่อย้ายเข้า “ที่ตั้ง” ที่บางพระเรียบร้อยแล้ว หลวงรักษาราชทรัพย์ยังเล่าต่ออีกว่า ทางเจ้าหน้าที่กองจัดเลี้ยง จัดอาหารให้ทหารทุกคนเหมือนกันคือ “มีข้าว ๑ หม้อ แกง ๑ ถ้วย ใส่ฝาหม้อ ปลาเค็มหนึ่งชิ้นวางบนข้าว มี ๓ อย่างเท่านั้น” โดยทุกคนต้องเดินเข้าแถวไปรับเองตามสังกัดของตน เรียงตามลำดับชั้นยศ พระองค์เจ้าอาภากรฯ จึงทรงออก “บิณฑบาต” เป็นอันดับแรกสุดทุกวัน

วันหนึ่งเจ้าหน้าที่กองจัดเลี้ยงเตรียมจัดอาหารเมนูพิเศษถวาย มีหมูแฮม ไข่ดาว ขนมปัง กับของหวาน แต่ “เจ้าพ่อ” ทรงปฏิเสธ โดยทรงกล่าวขึ้นว่า

“ฉันก็เป็นทหารคนหนึ่งเหมือนกัน จะกินอาหารพิเศษดีกว่าเพื่อนทหารทั้งหลายไม่ได้”

มิหนำซ้ำ เจ้าหน้าที่กองจัดเลี้ยงยังพลอยโดนกริ้วไปด้วย

เรื่องเล่านี้ลงเอยตรงที่คุณหลวงรักษาราชทรัพย์ ผู้เล่าเรื่อง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการจัดซื้ออาหาร จึงไปขอรับ “อาหารพิเศษ” นั้น มาจัดการรับประทานเสียเอง (ฮา)

ดังนั้น พระองค์เจ้าอาภากรฯ จึงสามารถสร้างความยอมรับนับถือ และความเชื่อมั่นให้แก่บรรดาทหารทุกระดับในกรมทหารเรือ ว่าแม้พระองค์จะทรงมีทั้งอำนาจ-ตามตำแหน่งหน้าที่ราชการระดับผู้บังคับบัญชา อีกทั้งทรงเปี่ยมด้วยพระบารมี-ในฐานะ “พระเจ้าลูกยาเธอ” หรือพระราชโอรสของในหลวง แต่ก็ยังทรงมีฐานะเป็น “ทหารคนหนึ่ง” คือพร้อมที่จะปฏิบัติตัวตามระเบียบวินัย และพร้อมที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับ “เพื่อนทหาร” ทุกนาย


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ