ตำรา How to เล่มถัดมาจาก “How to ประสานรอยร้าว” ของพระองค์เจ้าอาภากรฯ คือ “How to สยบนักเลง”

สภาพของกรมทหารเรือยุคนั้น หม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม พระชายาขององค์ผู้บัญชาการ ทรงบรรยายว่าเป็นแหล่งรวม “นักเลง” ระดับที่ว่า “…พลทหารเรือก็เก่งเกะกะมาก…พอเมาแล้วมีเรื่องวิวาทชกตีกับตำรวจและพลเรือน มีเรื่องอื้อฉาวบ่อยๆ…”

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๑๙ - How to สยบนักเลง

ดังนั้น นอกเหนือไปจากการแสดงความเป็น “พวกเดียวกัน” กับกำลังพลในกรมทหารเรือดังที่กล่าวมาแล้ว อีกส่วนหนึ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องต่อมา คือการที่พระองค์เจ้าอาภากรฯ ต้องแสดงพระองค์ในฐานะ “นักเลงที่ยิ่งใหญ่กว่า” หรือ “นักเลงเหนือนักเลง” เพื่อ “สยบ” ทหารเรือนักเลงกลุ่มต่างๆ

โดยในกรณีนี้ ทรงใช้เรื่องไสยศาสตร์

นายทหารเรือรุ่นที่ทันได้พบเห็น เล่าว่าทรง “สักเต็มตัวทีเดียว แต่ท่อนล่างในร่มผ้าสักด้วยสีแดง หาใช่สีดำไม่”

ชนชั้นสูงของสยามตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ต่างถือว่าการสักเป็นเรื่องของ “ไพร่” ที่ต้องมีรอยสักตรงท้องแขนหรือข้อมือ เพื่อระบุสังกัดมูลนาย หรือที่เรียกว่าเป็นคน “ข้อมือดำ” หรือไม่เช่นนั้น อีกพวกหนึ่งที่จะมีรอยสัก คือนักเลงหัวไม้ ดังภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดที่เมื่อต้องการแสดงภาพขโมยขโจร มักวาดเป็นชายที่มีรอยสักเต็มตัว

แต่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงศึกษาวิชาทหารเรือมาจากอังกฤษ ซึ่งมีประเพณีของกะลาสีเรือในการสักรูปภาพลวดลายตามร่างกาย เพื่อแสดงความเป็นชายชาตรี พระองค์จึงอาจสนพระทัยเรื่องนี้อยู่แล้ว (หรืออาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าอาจทรงเริ่ม “แอบ” สักมาตั้งแต่ขณะเป็นนักเรียนทำการนายเรือในราชนาวีอังกฤษด้วยซ้ำ) ยิ่งเมื่อมาผนวกกับคติ “นักเลง” อย่างไทยๆ ทำให้พระองค์ทรงโปรดปรานเรื่องนี้ ถึงกับสักเลขยันต์ต่างๆ ทั่วทั้งพระองค์ จนเป็นที่มาของเรื่องเล่าในหมู่นายทหารเรือว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ไม่พอพระราชหฤทัยเรื่องนี้นัก ถึงกับมีรับสั่ง “เหน็บ” เอาว่า “หน้าแก ทำไมไม่สักเสียด้วยล่ะ…”

หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง พระธิดา ขยายความว่า “ทรงสักยันต์ทั้งองค์ตั้งแต่หนุ่มๆ เช่น สักรูปหนุมาน สักเป็นลิงลมที่พระชงฆ์ สักมังกรพันแขน สักยันต์ที่นิ้วให้ต่อยหนัก สักลิงลมที่พระชงฆ์สำหรับเดินเร็ว ทรงดำเนินตัวปลิว ใครตามแทบไม่ทัน”

ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าทรงเริ่มสักยันตร์มาตั้งแต่เมื่อใด แต่ ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร “หลานปู่” ของพระองค์ เล่าให้ผมฟังว่า “หม่อมย่า” คือหม่อมแฉล้ม จำได้ว่าเมื่อถวายตัวมาเป็นหม่อมในปี ๒๔๔๖ ก็เห็นว่าพระองค์เจ้าอาภากรฯ ทรงมีรอยสักอยู่แล้ว

๒๔๔๖ คือเวลาเพียง ๒-๓ ปีหลังจากเสด็จกลับจากยุโรปเท่านั้น

นอกจากทรงสักเลขยันต์แล้ว พระองค์ยังทรงสักข้อความ “ร,ศ, ๑๑๒” และ “ตราด” เพื่อเตือนใจให้รำลึกถึงความ “เจ็บแสบ” ที่ทรงได้รับจากฝรั่งเศสด้วย

พระยาหาญกลางสมุทรบันทึกไว้ด้วยว่า แบบแผนความนิยมส่วนพระองค์คือนักเรียนนายเรือทุกคนต้อง “สักอย่างใดอย่างหนึ่งที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของแขน หรือสักทั่วแขน เพื่อแสดงว่าเป็นชาวทะเลจริงๆ อย่างที่สากลนิยมกัน”

กระทั่งบรรดาหม่อมห้ามและพระโอรสทุกพระองค์ ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร ก็เล่าว่าถูกบังคับให้สักรูปสมอเรือเล็กๆ ไว้ที่แขน โดยทรงให้เหตุผลเยี่ยงชาวเรือว่า “ไปตายที่ไหน…คนก็จำได้”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ