กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 21 - เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ

ปี ๒๔๔๓ โรงเรียนนายเรือได้รับพระบรมราชานุญาตให้ย้ายที่ตั้งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากโรงเรียนสุนันทาลัย (โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ในปัจจุบัน) ไปยังพระราชวังเดิมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ปากคลองบางกอกใหญ่ จากนั้นจึงมีการซ่อมแซมและดัดแปลงอาคารต่างๆ จนสามารถย้ายเข้าเรียนได้จริงในปี ๒๔๔๖

ถึงปี ๒๔๔๗ จำนวนนักเรียนนายเรือทุกชั้นรวมกันทั้งโรงเรียนมี ๑๒๒ คน แต่ “ทูลกระหม่อมบริพัตร” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ทรงมีพระดำริว่า การจัดการศึกษาในโรงเรียนนายเรือยังบกพร่องอยู่มาก เพราะหลังจากจัดตั้งมาถึง ๕ ปี แต่กลับผลิตนายทหารเรือออกมาเพียง ๔ นายเท่านั้น ซ้ำร้าย ความรู้ที่มีก็ยังเป็นเพียงระดับต้นหน คืออ่านและใช้แผนที่เป็น แต่ไม่สามารถเดินเรือออกทะเลได้ พระองค์จึงทรงหารือกับกรมหมื่นชุมพรฯ จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นปรับปรุงหลักสูตรใหม่ พอดีกับที่เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือคนเดิมขอลาออก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแต่งตั้งให้นายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ทำการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ดูแลโรงเรียนนายเรือ ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง

ในการนี้กรมหมื่นชุมพรฯ จึงทรงวางหลักสูตรโรงเรียนนายเรือใหม่ เริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนทั้งโรงเรียนเข้าสอบไล่วัดระดับความรู้ แล้วจัดแบ่งชั้นเรียนใหม่หมดโดยยึดตามผลการสอบ จากนั้น เสด็จในกรมฯ ทรงรับหน้าที่เป็นครูในบางวิชาที่ทรงเชี่ยวชาญ คือตรีโกณมิติ ดาราศาสตร์ วิชาการเรือ และอุทกศาสตร์ เช่นเดียวกับนายทหารเรืออีกหลายท่าน ซึ่งต้องแบ่งเวลาทำงานมาช่วยกันสอนวิชาที่ตนพอมีความชำนาญ การศึกษาในโรงเรียนนายเรือจึงก้าวหน้ายิ่งขึ้น จนนำไปสู่การจัดตั้งโรงเรียนนายช่างกลแยกต่างหากในเวลาต่อมา

เวลาบ่าย ๔ โมง (๑๖ นาฬิกา) วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๔๙ เรือกลไฟพระที่นั่งแล่นตัดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากท่าราชวรดิฐ เข้าเทียบท่าโรงเรียนนายเรือ แตรวงบรรเลงเพลง “สรรเสริญพระบารมี” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์ (เสื้อ) ขาว ประดับสายสะพายนพรัตน์ราชวราภรณ์ พระสนับเพลา (กางเกง) สีดำ แถบทอง พระมาลาก๊อกแฮตสีดำ เสด็จฯ ขึ้นจากเรือพระที่นั่ง ผ่านแถวทหารกองเกียรติยศ มายังพลับพลาพิธี ณ ที่นั้น พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แต่งกายเต็มยศเฝ้ารับเสด็จ

เมื่อเพลง “สรรเสริญพระบารมี” สิ้นเสียงลงแล้ว นายพลเรือโท สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ กราบทูลถวายรายงานการเปิดโรงเรียนนายเรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบตามสมควร แล้วทรงชักเชือกเปิดธงที่ปิดประตูโรงเรียนออก มีตัวอักษรสีทองติดที่ซุ้มประตูว่า “โรงเรียนนายเรือ ร.ศ. ๑๒๕”

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินจากพลับพลาไปประทับทอดพระเนตรการฝึกหัดวิชาทหารเรือต่างๆ ของนักเรียนนายเรือ ตลอดจนอาคารสถานที่ต่างๆ ของโรงเรียน เมื่อได้เวลาอันสมควรจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับเมื่อย่ำค่ำเศษ (๑๘ นาฬิกาเศษ)

ในการพิธีวันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย และพระราชหัตถเลขาในสมุด “สยาม โรงเรียนนายเรือ ๑๒๓” (สมุดเซ็นเยี่ยม) ว่า

“เรา จุฬาลงกรณ์ ปร ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจซึ่งได้เหนการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเปนที่มั่นสืบไปในภายน่า”

มีนาคม ๒๔๔๙ หรือสี่เดือนหลังการเสด็จฯ ทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ นักเรียนนายเรือ ศรี (ศรี กมลนาวิน, ๒๔๒๙-๒๔๘๒ ต่อมาเป็นพระยาราชวังสัน) ประเดิมสอบไล่ได้ตามหลักสูตรใหม่ของเสด็จในกรมฯ เป็นคนแรก


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ