ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ๒๔๕๐ กรมหมื่นชุมพรฯ ทรงนำนักเรียนนายเรือและนักเรียนนายช่างกลประมาณ ๑๐๐ คน ออกฝึกภาคทางทะเลโดยเรือ “มกุฎราชกุมาร” ไปยังเกาะสิงคโปร์ แล้วเลยไปถึงเมืองปัตตาเวียบนเกาะชวา (ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย)

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 23 - นักเรียนนายเรือ

เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ พร้อมนายทหารประจำเรือและนักเรียน ซึ่งเป็นคนไทยทั้งสิ้น นับเป็นการฝึกภาคในต่างประเทศครั้งแรกของนักเรียนนายเรือสยาม

ตามพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) “มกุฎราชกุมาร” ตลอดจนเรือรบทุกลำของสยามขณะนั้น ต้องชักธงเรือหลวง คือธงพื้นแดง กลางธงเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หันหน้าเข้าเสา

การที่กรมหมื่นชุมพรฯ ทรงนำนักเรียนนายเรือไป “อวดธง” ครั้งนี้ เป็นเสมือนการประกาศให้นานาชาติรับรู้ว่า จากเดิมที่เรือรบทุกลำของสยามต้องใช้ฝรั่งต่างชาติมาทำหน้าที่กัปตัน บัดนี้ คนไทยฝึกหัดกันเองจนสามารถเดินเรือออกทะเลลึกได้แล้ว

ดังนั้น ภายในเวลา ๑๔ ปี หลังจาก “วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒” (๒๔๓๖) พระราชดำริของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ในอันที่จะให้ฝึกหัดนายทหารเรือไทยลงประจำเรือรบ แทนที่ทหารเรือฝรั่ง จึงบรรลุผลสำเร็จ

การฝึกภาคทางทะเลปี ๒๔๕๐ ยังเป็นการ “เปิดหูเปิดตา” ให้นักเรียนนายเรือของสยามได้เห็นเมืองท่าต่างประเทศ ผจญกับคลื่นยักษ์กลางทะเล ทำพิธีข้ามเส้นศูนย์สูตร เยี่ยมชมเรือรบของชาติมหาอำนาจ รวมถึงลองลิ้มรสชาติเสบียงกรังอย่างฝรั่ง

เสด็จในกรมฯ ทรงให้นักเรียนนายเรือสยามฝึกหัดกินอาหารตามแบบฉบับทหารเรืออังกฤษ คือเนื้อม้าเค็มบรรจุถังซึ่ง “เค็มขนาดกินเกลือ แต่เหนียวพอประมาณ มีมันเป็นชั้นๆ เลี่ยนๆ” กับขนมปังแห้งที่เรียกกันว่า “ขนมปังทะเล” (sea biscuit) ซึ่งนักเรียนนายเรือบ่นว่าแข็งจนกัดไม่เข้า ถึงกับเอาไปเล่าลือกันว่า “แข็งยิ่งกว่าเหล็ก!”

ผลสืบเนื่องอีกประการหนึ่งจากการฝึกภาคทางทะเลครั้งแรกในปี ๒๔๕๐ ที่ยั่งยืนต่อมา คือแต่เดิม เรือรบและเรือพระที่นั่งของสยาม ตัวเรือทาสีขาว ปล่องและเสากระโดงทาสีเหลือง แนวน้ำทาสีแดง แต่เมื่อ“มกุฎราชกุมาร” แวะจอดทอดสมอที่เกาะสิงคโปร์ อันเป็นเขตอาณานิคมอังกฤษ นักเรียนนายเรือสยามจึงเพิ่งเคยเห็นว่าเรือรบชาติอื่นล้วนแต่ทาสีหมอก (สีเทา battleship gray) ตามหลักนิยมของเรือรบตะวันตกยุคนั้น ว่าสีหมอกหรือสีเทา แลดูกลมกลืนกับน้ำทะเลและภูมิประเทศ ช่วยพรางตาจากข้าศึกได้ดีในทุกสภาพอากาศ ทุกคนจึงพร้อมใจช่วยกันทาสีเรือหลวง“มกุฎราชกุมาร”เปลี่ยนให้เป็นสีเทาอย่างเรือรบฝรั่งเขาบ้าง

พระยาหาญกลางสมุทรซึ่งร่วมฝึกภาคทางทะเลปีนั้น ในฐานะนักเรียนนายเรือชั้นสูงสุด คือชั้น ๕ เพียงคนเดียว เล่าว่า

“…เมื่อเรือถึงกรุงเทพฯ แล้ว ทอดทุ่นหน้าโรงเรียนนายเรือในตอนบ่าย ทำความตื่นเต้นประหลาดใจให้กับทหารเรือและเรือรบลำอื่นๆ เป็นอันมาก เพราะเรือรบไทยทุกลำทาสีขาวจอดกันอยู่ทั้งแม่น้ำ ส่วนเรือมกุฎฯ ทาสีหมอกดูดำมืดอยู่ลำเดียว พวกในเรือเรียกเรือมกุฎฯ ว่า ‘เป็ดเทศ’ และรู้สึกภูมิใจเป็นที่ยิ่ง…”

ต่อมาไม่นาน เรือรบของสยามทุกลำจึงทาสีหมอกทั้งหมด เว้นแต่เรือพระที่นั่ง “มหาจักรี”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ