หลักฐานความสนพระทัยเรื่องต้นหมากรากไม้ของกรมหมื่นชุมพรฯ เริ่มชัดเจนตั้งแต่ปี ๒๔๔๙ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๑ ของพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ว่าเมื่อเดือนมีนาคม ปลายปี ๒๔๔๙ กรมหมื่นชุมพรฯ ไปส่งเสด็จพระราชดำเนินทวีปยุโรปครั้งที่ ๒ ที่เมืองสิงคโปร์ ระหว่างเสด็จทอดพระเนตรสุสานหลวงของสุลต่านเมืองยะโฮร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็น “ต้นไม้ของเขาปลูกงามเรียกว่าต้นตำบุดสู อาภารู้จักชื่อภาษาไทย เปนลำต้นตรง พุ่มเปนต้นไม้เงินทอง เขาว่าเปนเร็วด้วย เรียกว่าต้นรุ่ย…”

จัดประกวดบอนสีที่วัดเบญจฯ

“อาภา” ในที่นี้หมายถึงพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ส่วนต้นรุ่ย หรือลุ่ย หรือถั่วขาว Bruguiera cylindrica เป็นไม้ป่าชายเลน พบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต้นปี ๒๔๕๐ กรมหมื่นชุมพรฯ ทรงนำนักเรียนนายเรือออกฝึกภาคทางทะเลในต่างประเทศเป็นครั้งแรก หนังสือพิมพ์ “The Eastern Daily Mail” ฉบับวันที่ ๑๓ สิงหาคม รายงานข่าวว่าเมื่อเรือ “มกุฎราชกุมาร” แวะจอดทอดสมอที่สิงคโปร์ระหว่างทางไปชวา ทรงแวะทอดพระเนตรสวนยางพาราแห่งหนึ่ง และทรงแสดงความสนพระทัยที่จะทำสวนยางพาราในสยามบ้าง

จากนั้นเมื่อเรือ “มกุฎราชกุมาร” เดินทางต่อไปถึงเกาะชวา เสด็จในกรมฯ เสด็จทอดพระเนตรสวนพฤกษศาสตร์ที่เมืองบุยเตนซอร์ก (Buitenzorg เป็นภาษาดัตช์ แปลว่าไกลกังวล ปัจจุบันคือเมืองโบกอร์ Bogor สาธารณรัฐอินโดนีเซีย) ซึ่งรัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จทอดพระเนตรหลายครั้ง ด้วยทรงโปรดปรานว่างดงามอย่างยิ่ง

พฤศจิกายน ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนครหลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ เกือบ ๙ เดือน เพื่อรักษาพระองค์จากอาการประชวร

ธันวาคม ๒๔๕๐ มีงานประจำปีนักขัตฤกษ์นมัสการพระพุทธชินราช (จำลอง) วัดเบญจมบพิตรฯ ถือเป็น “งานวัด” ที่ใหญ่โตหรูหราที่สุดแห่งยุค มีการออกร้าน จัดแสดงสิ่งของต่างๆ รวมถึงการประกวดประขันนานาชนิด เป็นที่เอิกเกริก

“ราชกิจจานุเบกษา” บันทึกไว้ว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงจัดการประกวดต้นบอนขึ้น โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้ที่ปลูกต้นบอนนำบอนชนิดต่างๆ มาร่วมจัดแสดง ในการนี้มีคณะกรรมการตัดสิน หากบอนของผู้ใดงามและแปลกตาตามที่กำหนดแต้มไว้ จะได้รับรางวัล คือ ชั้นที่ ๑ เหรียญทอง มีสามรางวัล ชั้นที่ ๒ เหรียญนาก หกรางวัล และชั้นที่ ๓ เหรียญเงิน ๑๒ รางวัล

ปีนั้น งานนักขัตฤกษ์นมัสการพระพุทธชินราชเริ่มต้นวันที่ ๑๗ ธันวาคม เวลา ๑๗ นาฬิกาเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ จากพระราชวังดุสิตไปประทับ ณ วัดเบญจมบพิตรฯ ทรงเปิดงานและทอดพระเนตรต้นบอนที่มีผู้นำมาจัดแสดง จากนั้นตอนใกล้ค่ำ วันที่ ๑๙ ธันวาคม เสด็จวัดเบญจมบพิตรฯ อีกครั้งหนึ่ง

“ประทับทอดพระเนตรในที่ตั้งบอน พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายเหรียญ เพื่อพระราชทานรางวัลแก่ผู้ที่นำบอนมาตั้ง บอนของผู้ใดแปลกและเลี้ยงงามได้แต้มมากตามที่กำหนดไว้ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดังได้กล่าวมาข้างต้น แก่ผู้เจ้าของบอนแล้ว เสด็จประพาศตามร้าน…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ