ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตพระนครในปี ๒๔๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่ดินบริเวณทุ่งพญาไท ซึ่งอยู่ถัดจากพระราชวังสวนดุสิตไปทางตะวันออก แล้วสร้างพระตำหนักที่ประทับเพื่อประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ มีการขุดสระ ปลูกผัก ทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เป็นทำนองอย่าง “บ้านไร่” ของผู้ดีฝรั่ง ทั้งยังกล่าวกันด้วยว่า ทรงเตรียมที่ประทับเผื่อไว้สำหรับวันข้างหน้า เนื่องจากมีพระราชดำริว่าเมื่อทรงเจริญพระชนมายุมากแล้ว จะทรงสละราชสมบัติให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสืบสันตติวงศ์แทน

car parade recolor adj

ในการนี้ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงทดลองปลูกผักที่พญาไทได้ผลงามดี เป็นที่พอพระราชหฤทัยของในหลวง ดังทรงกล่าวถึงในพระราชหัตถเลขา (จดหมาย) หลายครั้ง เช่นฉบับวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๙ (๒๔๕๓) ที่ทรงมีถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์, ๒๔๑๗-๒๕๐๑) จางวางมหาดเล็ก

“นอนฝันไปว่ากินมะเขือต้ม เห็นจะเปนด้วยหิวเข้า เลยนึกอยากไปจริงๆ ได้สั่งให้อาภาทำที่พญาไทสำหรับกลางคืนวันนี้ คิดอ่านจัดการหุงเข้ากับตาอ้นสักที ให้เจ้าหาของหวาน ไม่ต้องมีกับเข้าอื่นก็ได้ กินกันจนๆ อย่างในเรือเมล์เสียสักที ให้เตรียมให้ทันในวันนี้”

ข้อความตามพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ ทรงมอบหมายให้ “อาภา” คือพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จัดการต้มมะเขือ ส่วน “ตาอ้น” ที่ทรงให้ดูแลหุงข้าว คือพระยานิพัทธราชกิจ (อ้น นรพัลลภ, ๒๔๐๑-๒๔๗๗) ส่วนที่ทรงกล่าวว่า “กินกันจนๆ อย่างในเรือเมล์” หมายถึงว่ากินกันเท่าที่พอหาได้ เหมือนเมื่อคราวเสด็จฯ ประพาสยุโรปด้วย “เรือเมล์” ซึ่งแม้มีเครื่องปรุงอาหารไทยติดไปด้วย แต่มีจำกัดและไม่ครบครันเท่ากับในเมืองไทย

อาจกล่าวได้ว่าช่วงนั้น กรมหมื่นชุมพรฯ ทรงกลายเป็น “ลูกชายคนโปรด” องค์หนึ่งของทูลกระหม่อมพ่อ ถึงกับได้รับพระราชทานรถยนต์คันหนึ่งเป็นรางวัลจากการปลูกผักที่ทุ่งพญาไท

ตามสถิติประจำปี ๒๔๕๓ ทั้งราชอาณาจักรมีพลเมือง ๘,๑๑๗,๙๕๓ คน แต่มีรถยนต์เพียง ๔๑๒ คัน และเกือบทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ รถยนต์แต่ละคันจึงถือเป็นสมบัติล้ำค่าของผู้ครอบครอง

รถยนต์รุ่นแรกๆ ที่นำเข้ามาล้วนได้รับพระราชทานนามเป็นการเฉพาะ ทำนองเดียวกับธรรมเนียมการขนานมงคลนามให้แก่เรือพระที่นั่ง หรือช้างหลวง ม้าหลวง

รถยนต์พระที่นั่งคันแรกของรัชกาลที่ ๕ (ยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์) ได้รับพระราชทานนามว่า “แก้วจักรพรรดิ” อันมีความหมายว่าเปรียบประดุจ ๑ ใน ๗ สิ่ง คู่บุญญาธิการบารมีพระมหาจักรพรรดิราชตามคติโบราณ

ส่วนรถยนต์ลำดับถัดๆ มาได้รับพระราชทานชื่อคล้องจองต่อเนื่องกันไปว่า ทัดมารุต-ครุธพ่าห์-มหาหงส์ (ทัดมารุต-เร็วเหมือนลม ครุธพ่าห์-ครุฑพาหนะของพระนารายณ์ มหาหงส์-เทวพาหนะของพระพรหม)

ส่วนรถยนต์ที่เสด็จในกรมฯ ได้รับพระราชทาน เล่ากันว่าเป็นรถยนต์คันเล็กๆ ยังไม่พบหลักฐานว่ายี่ห้ออะไร แต่จดจำกันได้ว่ามีชื่อว่า“เอนกผล” ซึ่งอาจจะเหมาะกับสถานะรางวัลการปลูกผักสวนครัว เพราะแปลว่าให้ผลผลิตมากมาย

แต่ในอีกทางหนึ่ง อาจเป็นไปได้ว่าชื่อที่ถูกต้องคือ “เอนกพล” คือมีกำลังมาก อันเป็นมงคลนามที่เหมาะสมสำหรับรถยนต์คันเล็ก


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ