หลังเที่ยงคืนวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๕๓ (นับตามแบบปัจจุบันถือเป็นเช้าวันใหม่ ๒๓ ตุลาคม) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระปรมาภิไธย “สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๒๗  - ร้านหมี่ ที่เกิดเหตุ

หกเดือนต่อมา ไม่กี่วันหลังเสร็จสิ้นงานถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๕ มีคำสั่งกระทรวงทหารเรือ ลงวันที่ ๑๔ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐ (๒๔๕๔) เรื่อง “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกเปนทหารกองหนุน” เนื้อความคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระชันษา ๓๐ ปี ออกจากหน้าที่ราชการประจำ เป็นนายทหารกองหนุน

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือทรงสั่ง “ปลด” เสด็จในกรมฯ ซึ่งเป็น “พี่ชาย” ออกจากราชการทันที

คำสั่งนี้ออกมาท่ามกลางความงุนงงสงสัยของบรรดาลูกศิษย์ลูกหานายทหารเรือ รวมถึงวงสังคมชาวกรุงเทพฯ ไม่มีใครรู้ต้นสายปลายเหตุแน่ชัด แต่มีประเด็นหนึ่งที่หลายคนคิดเห็นตรงกัน คือเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุวิวาทระหว่างนายทหารเรือหนุ่มกับกลุ่มมหาดเล็กหลวง ที่ร้านสันธาโภชน์ ถนนบ้านหม้อ

ใน พ.ศ. นั้น ร้านสันธาโภชน์คือหนึ่งในภัตตาคารชื่อดังของกรุงเทพฯ เจ้าของเป็นผู้เขียนหนังสือตำราอาหาร “แม่ครัวหัวป่าก์” คือท่านผู้หญิงเปลี่ยน (๒๓๙๐-๒๔๕๔) ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค ๒๓๙๒-๒๔๖๓) ผัดหมี่กรอบของร้านนี้ถือเป็นเมนูเด็ดที่พลาดไม่ได้

สถาพร (หรือ เติม) เหรียญสุวรรณ (๒๔๕๑-๒๕๕๐) ซึ่งต่อมาสมรสกับท่านหญิงศิริมาบังอร จึงนับเป็น “ลูกเขย” คนหนึ่งของ “เสด็จในกรมฯ” อ้างว่า ตอนนั้นเขาอาศัยอยู่กับพี่สาวและพี่เขย (สามีพี่สาว) ที่บ้านใกล้โรงเรียนราชินี ไม่ไกลจากร้านสันธาโภชน์ เคยถีบจักรยานไปซื้อผัดหมี่มาขึ้นโต๊ะที่บ้านบ่อยๆ คุ้นเคยเข้านอกออกในได้ จึงทราบรายละเอียดกรณีวิวาทนี้จากคนในร้าน ว่าในวันเงินเดือนออกครั้งหนึ่ง นายเรือโท ตรุส (หรือตรุษ) บุนนาค ผู้บังคับการเรือตอร์ปิโด ๒ ชวนเพื่อนๆ ไปรับประทานอาหารที่ร้านสันธาโภชน์ บังเอิญเย็นวันนั้นที่ร้านมีมหาดเล็กของในหลวงรัชกาลที่ ๖ กำลังตั้งวงกันอยู่อีกโต๊ะหนึ่งด้วย พอเหล้าเข้าปาก พวกมหาดเล็กก็เริ่มคุยกันโหวกเหวกเสียงดังลั่นร้านขึ้นเรื่อยๆ ผู้บังคับการเรือตอร์ปิโด ๒ จึงลุกขึ้นจากโต๊ะไปขอร้องให้หรี่เสียงลงบ้าง สถาพรเล่าว่า

“ขอร้องกันดีๆ ไม่ฟัง ท่านผู้บังคับการฯ ก็โมโหพูดด้วยเสียงอันดังว่า ‘อั๊วเป็นทหารเรือโว้ย ขอร้องกันไม่ฟัง ได้โดนปืนเรือยิงกันบ้างละ’

“มหาดเล็กกลุ่มนั้นเห็นท่าทางผู้บังคับการเรือฯ ขึงขังเอาจริง ขืนอยู่ต่อไปอาจเจ็บตัว จึงพากันออกจากร้านไป เรื่องก็ควรยุติลงแค่นั้น เพราะไม่มีการลงมือลงเท้าให้บาดเจ็บ

“การหาเป็นเช่นนั้นไม่ มหาดเล็กกลุ่มนั้นพากันนำความขึ้นกราบบังคมทูลในหลวงว่า พวกเขาถูกทหารเรือรังแก…

“…เมื่อมหาดเล็กของพระองค์ท่าน กราบบังคมทูลว่าถูกทหารเรือรังแก จึงไม่ทรงพอพระทัย มีรับสั่งว่า ‘พี่อาภาอบรมนักเรียนนายเรืออย่างไรถึงได้บังอาจเช่นนี้ เป็นภัยต่อแผ่นดิน เอาไว้ไม่ได้’ มีรับสั่งให้ปลดผู้บังคับการเรือตอรปิโด ๒ ออกจากราชการ สั่งพักราชการเสด็จในกรมฯ…”

ไม่มีใครระบุไว้แน่ชัดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ พล.ร.อ. ประพัฒน์ จันทวิรัช ผู้ศึกษาพระประวัติของเสด็จในกรมฯ อย่างละเอียด เคยเสนอไว้ว่า หากพิจารณาตามเงื่อนไขบริบทแวดล้อมแล้ว เชื่อว่าเป็นต้นเดือนเมษายน ปีใหม่ ร.ศ. ๑๓๐ หรือปี ๒๔๕๔

แต่นั่นกลับทำให้เรื่องเล่านี้ดูน่าสงสัย เพราะถ้าขณะที่เกิดเหตุคือปี ๒๔๕๔ จริง คุณสถาพรผู้ซึ่งเกิดในปี ๒๔๕๑ เพิ่งอายุเพียง ๓-๔ ขวบ ยังไม่น่าจะสามารถถีบจักรยานไปซื้อผัดหมี่ หรือไปรู้จักสนิทสนมกับลูกจ้างในร้านสันธาโภชน์ได้

อย่างไรก็ดี เรื่องเล่าของคุณสถาพรกลับสอดคล้องกับความทรงจำของ พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) “ลูกศิษย์ก้นกุฎิ” อีกคนหนึ่งของเสด็จในกรมฯ


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ