“หวานเป็นลม ขมเป็นยา” สำนวนไทยที่มีมาแต่โบราณ ดูจะยิ่งเห็นเป็นจริงมากขึ้น ไม่ใช่แค่การเปรียบเปรยถึงคำพูดหวานหูกับคำวิจารณ์ติติงให้แง่คิด
โดยเฉพาะสถานการณ์โรคโควิด-๑๙ กับ “ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรพื้นบ้านของไทย
ถ้าที่บ้านใครพอมีที่ดินว่างๆ แนะนำให้ลองปลูกต้นฟ้าทะลายโจร ใช้เมล็ดโปรย ๆ สมุนไพรประจำบ้านนี้ก็ขึ้นเองง่าย จะที่ร่มหรือที่แจ้งก็ได้ทั้งนั้น แต่ที่เคยสังเกตใบจะเล็กใหญ่และหนาบางต่างกันระหว่างต้นที่ขึ้นในที่ร่มกับที่แจ้ง
ปลูกขึ้นได้หนึ่งต้น ฟ้าทะลายโจรก็จะกระจายเมล็ดของมันออกไปขึ้นตามที่ว่างอื่น ๆ เองจนแทบจะเป็นวัชพืช
เก็บใบสดมาสักสองถึงสามใบใส่แก้วเทน้ำเดือด แล้วทดลองดื่มกันก่อน
ถ้าทนความขมได้ก็ลองตามตำราว่าต้องใส่ห้าถึงเจ็ดใบ แต่ที่เคยลองสองถึงสามใบก็ขมแย่แล้ว
ปรกติเป็นยากินแก้ไอ เจ็บคอ แก้ไข้หวัด
กรณีโควิด-๑๙ ฟ้าทะลายโจรใช้สำหรับผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด๑๙ แต่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย
ไม่ได้มีประโยชน์ในการป้องกันโรคโควิด-๑๙ แต่อย่างใด นอกจากใครจะอยากชิมลางความขมให้คุ้นเคย
สมุนไพรสู้โควิด-๑๙ ยังเชื่อกันว่ามีอีกหลายตัว ซึ่งแต่ละตัวก็มักมีฤทธิ์ขมกันแทบทั้งนั้น
ไม่ใช่แต่ในประเทศไทย ที่ประเทศไนจีเรีย ทวีปแอฟริกา เขาก็พยายามค้นหาสมุนไพรพื้นบ้านมารักษาโรคโควิด-๑๙
สมุนไพรสุดขมตัวหนึ่งซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของชาวชนเผ่าโยรูบามีชื่อว่า Mejemeje แปลว่าเจ็ด-เจ็ด เพราะต้องใช้ใบสดเจ็ดใบ กินวันละสองครั้ง ประมาณ ๕ วัน ใช้รักษาอาการไข้จากโรคมาลาเรีย หรือติดเชื้อแบคทีเรีย หรืออาการอ่อนเพลียเรื้อรังรวมทั้งความดันโลหิตสูง
หากบอกว่ามันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata หลายคนก็อาจงงๆ
แต่ทุกคนจะต้องร้องว้าวด้วยความประหลาดใจ ถ้าบอกว่าเจ็ด-เจ็ด สมุนไพรข้ามทวีปนี้ ก็คือฟ้าทะลายโจรของบ้านเรานั่นเอง
ล่าสุดข่าวเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๔ นักวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาเภสัชกรรมไนจีเรีย พบสารธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันชื่อ niprimune ในสมุนไพรเจ็ด-เจ็ด และอยู่ระหว่างการพัฒนายารักษาโรคโควิด-๑๙ จากสมุนไพรรสขม โดยการใช้เทคโนโลยี AI และ machine learning มาศึกษาศักยภาพของสาร niprimune ได้ผลยืนยันว่าน่าจะมีประสิทธิภาพที่ดีในการจัดการกับไวรัสโควิด-๑๙ และกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือการทดสอบทางคลินิก
ไม่เพียงเท่านั้น นักวิจัยของไนจีเรียยังพบสารสกัดจากแดนดิไลออน ผัก
หันกลับมาดูบ้านเรา นอกจากฟ้าทะลายโจรยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่มีรายงานการศึกษาในห้องทดลองว่ามีศักยภาพต้านโรคโควิด-๑๙ เป็นข่าวให้น่ายินดี เช่น
กระชาย (Boesenbergia rotunda) พบสาร panduratin A มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของไวรัส
โกฐจุฬาลัมพา (Artemisia annua) ซึ่งปรากฏใน ตำราพระโอสถพระนารายณ์เป็นยาแก้ไข้ ขับเสมหะ ขับลม แก้ปวดเมื่อย มีสาร artemisinin, artesunate และ artemether ซึ่งใช้รักษาโรคมาลาเรีย(คล้ายกับเจ็ด-เจ็ดของไนจีเรีย) นักวิจัยในประเทศเดนมาร์กและเยอรมนียืนยันสารทั้งสามในโกฐจุฬาลัมพาสามารถต้านไวรัสโควิด-๑๙ ได้ในห้องทดลอง
แต่สมุนไพรไทยเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาต่อจนสามารถนำมาใช้เป็นยาจริงๆ หรือไม่
ระหว่างเจ็ด-เจ็ดของไนจีเรียกับฟ้าทะลายโจรของไทย ใครจะมีอนาคตสู่การเป็นยารักษาโรคโควิด-๑๙ ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล
กว่าจะถึงตอนนั้น ดูแลตัวเองให้แข็งแรง ฉีดวัคซีนให้ครบโดส และอย่าลืมป้องกันการติดเชื้อด้วยการล้างมือและสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงนะครับ
- จาก บทบรรณาธิการ นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 440 พฤศจิกายน 2564
- อ่านบทความของ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
- ติดตามเพจ Sarakadee Magazine