ตลอดหลายปีก่อนหน้า ภาระงานหลักของกรมหมื่นชุมพรฯ คือการฝึกสอนนักเรียนนายเรือ กลุ่มผู้แวดล้อมใกล้ชิดพระองค์ จึงกระจุกตัวอยู่เพียง “เด็กๆ” นักเรียนนายเรือ กับนายทหารรุ่นใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา เพราะแม้แต่เมื่อทรงถูกปลดออกจากราชการ ข้อความผิดสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวโทษ ก็มิได้มาจากการกระทำผิดของพระองค์เองโดยตรง หากแต่สาเหตุคือทรง “ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตร์ฟุ้งสร้าน…”

กยิรา เจ กยิราเถนํ

เมื่อทรงถูกปลดให้เป็นกองหนุนในตอนต้นปี ๒๔๕๔ จึงเท่ากับว่าเสด็จในกรมฯ ทรงถูก “โดดเดี่ยว” และ “ตัดขาด” เพราะในขณะนั้น นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่โดยทั่วไปย่อมต้องเลือกแสดงตนว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นหัวหน้ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราช ยิ่งลูกศิษย์ลูกหานักเรียนนายเรือ หรือนายทหารเรือรุ่นเด็กๆ ยิ่งต้องระวังตัว พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) หนึ่งใน “ลูกศิษย์ก้นกุฎิ” พรรณนาบรรยากาศวังนางเลิ้งหลังจากทรงถูกปลดออกจากราชการว่า “…พวกนักเรียนนายเรือเงียบกันหมด ไม่ไปวังนางเลิ้งเลย เพราะกลัวจะถูกเพ่งเล็ง…ไม่มีใครกล้าไปเฝ้า เพราะกลัวภัย…สภาพวังเงียบ เศร้าหมองหมด พรมขาดวุ่นวิ่น หมานอนอยู่เกลื่อน…”

แต่ในระยะเวลาเพียง ๓ เดือนหลังจากทรงถูกปลด อาจเพื่อหาหนทางอนุวัตรตาม “พระราชนิยม” ของรัชกาลใหม่ ปรากฏหลักฐานว่ากรมหมื่นชุมพรฯ ซึ่งมิได้มีสถานะเป็นนายทหารอีกต่อไป ทรงสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองเสือป่า อันเป็นสิ่งที่ในหลวงพระองค์ใหม่ทรงใฝ่พระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งด้วยทรงหวังฝึกฝนข้าราชการพลเรือนให้มีความรู้วิชาทหาร และมีวินัย

ต่อมาเสด็จในกรมฯ จึงได้รับพระราชทานธงประจำพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริและทรงออกแบบธงประจำตัวนายเสือป่าชั้นสัญญาบัตรพระราชทานให้ด้วยพระองค์เอง ธงประจำพระองค์นายหมู่เอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พื้นธงสีแดงชาดตามวันประสูติ คือวันอาทิตย์ ลายในธงเป็นรูปสุริยมณฑล คือรูปพระอาทิตย์ ซึ่งงานช่างอย่างไทยเขียนเป็นรูปราชรถเทียมสิงห์อยู่ภายในวงกลม

เหตุที่พระราชทานตราสุริยมณฑลให้เป็นตราประจำพระองค์ของกรมหมื่นชุมพรฯ คงมีที่มาจากพระนามเดิม “อาภากร” อันมีความหมายว่าพระอาทิตย์ และมีนัยถึงการที่ทรงสืบสายสกุลจากราชนิกุลบุนนาคในสมเด็จพระเจ้ายาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งถือตราประจำตัวเป็นตราสุริยมณฑลเช่นกัน ณ ขอบวงกลมของรูปพระอาทิตย์ เขียนภาษิตภาษาบาลี เป็นอักษรไทยว่า “กยิรา เจ กยิราเถนํ” คาถาภาษาบาลีนี้มีที่มาจากพระไตรปิฎก แปลว่า “จะทำสิ่งไร ควรทำจริง”

ดูเหมือนว่านี่เป็นครั้งแรกที่ปรากฏหลักฐานตราประจำพระองค์รูปสุริยมณฑล และคาถา “กยิรา เจ กยิราเถนํ” จึงน่าจะถือได้ว่าเป็นตราและภาษิตที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ด้วยพระองค์เอง กระทั่งกลายเป็นตราประจำราชสกุลอาภากรในเวลาต่อมา


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ