ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๕๔ หรือ ๑๐ เดือนหลังจากกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ถูกปลดออกจากราชการ มีการจับกุมกลุ่มนายทหารหนุ่มผู้วางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ระบอบประชาธิปไตย สมาชิกระดับแกนนำล้วนเป็นนายทหารบกชั้นยศนายร้อย แต่ก็มีนายทหารเรือเข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง เมื่อแผนการรั่วไหลก่อนลงมือ คณะผู้ก่อการจึงกลายเป็น “กบฏ ร.ศ. ๑๓๐” และส่วนใหญ่ถูกคุมขังอยู่จนเกือบตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

กบฏ ร.ศ.130 - “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 33

จากการสอบปากคำ พวกเขาตั้งใจว่าจะยึดอำนาจ แล้วกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงรับเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่หากทรงไม่ยินยอมโดยดี คณะผู้ก่อการเตรียมทูลเชิญพระบรมวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นประมุขตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป โดยกลุ่มนายทหารบกเลือก “ทูลกระหม่อมจักรพงษ์” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ส่วนฝ่ายทหารเรือเสนอพระนาม “ทูลกระหม่อมบริพัตร” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

อย่างไรก็ดี มิได้มีหลักฐานบ่งชี้ว่าทั้งสองพระองค์ทรงรู้เห็นเป็นใจกับแผนการยึดอำนาจ ทว่าเพียงการอ้างออกพระนามในกรณีนี้ อาจยิ่งตอกย้ำ “ข่าวลือ” ที่แพร่หลายในยุคนั้น เรื่อง “ทูลกระหม่อมบริพัตร” วางแผนยึดอำนาจชิงราชบัลลังก์ ร่วมกับกรมหมื่นชุมพรฯ ยิ่งขึ้นไปอีก

เข้าใจว่าหลังจากการจับกุม “กบฏ ร.ศ. ๑๓๐” นี่เอง ที่กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงก้าวเข้าสู่อีกช่วงหนึ่งของพระชนมชีพ
หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดา ทรงเล่าว่าเมื่อพระบิดาออกจากประจำการแล้ว เสด็จในกรมฯ ทรงซื้อ “เรือใบลำใหญ่ ๓ ใบ” มาดัดแปลงตกแต่ง ตั้งชื่อเรือว่า “อาจารย์” แล้วชวนทหารเรือนอกราชการมาเป็นลูกเรือ ให้หม่อมๆ และพระโอรสธิดาตามเสด็จไปในเรือด้วย ออกเรือแล่นไปเรื่อยๆ ตามแรงลมอย่างชาวเกาะ หลายๆ วันจึงได้ขึ้นบกทีหนึ่ง

“ครั้งหนึ่งเรือกำลังอยู่กลางทะเล เกิดมีพายุหมุนเรียกว่า ‘ลมงวง’ หรือภาษาฝรั่งเรียกว่า Water Spout เวลามีพายุชนิดนี้ ท้องฟ้าจะมืดฉ่ำตั้งขอบเป็นวงกลมเหมือนเวลาพระจันทร์ทรงกลด พายุจะรวมตัวหมุนลงมาเหมือนงวงช้างแต่ใหญ่สัก ๒๐ เท่า ดูดเอาน้ำทะเลขึ้นไปเป็นน้ำพุอูดขึ้นไปหาขอบฟ้าที่เห็น เดี๋ยวตรงโน้นเดี๋ยวตรงนี้ เปลี่ยนที่สลับกันอยู่เรื่อย ลมงวงนี้ไม่ดูดแต่น้ำ จะดึงเอาเรือเราเข้าไปด้วย ต้องลดใบทุกเสา เรือใบไม่มีเครื่องจักร หนีไม่ได้ จะดูดเข้าไปหา ถ้าตกเข้าไปใต้ลมงวงเมื่อใด มันจะถอนเสากระโดงถอนประทุน แม้แต่เรือเองก็จะดูดลอยขึ้นไปด้วย…มีทางสู้อยู่ทางเดียวต้องใช้ปืนแฝดใหญ่ ปืนไรเฟิลขนาดยิงช้าง ยิงลมงวง ความกระเทือนของปืนจะทำให้ลมงวงแตกกระจาย หมดกำลังที่จะดูด…เสด็จพ่อเตรียมปืนไว้ด้วย ๓-๔ กระบอก แจกพวกแม่นปืนระดมยิงสู้กันอยู่เป็นเวลาชั่วโมงกว่า พายุนี้จึงผ่านไป ข้าพเจ้าออกทะเลมากลัวตอนนี้มากที่สุด…เสด็จพ่อเสวยน้ำจัณฑ์และแจกลูกเรือย้อมใจ ลมนี้เกิดแถวเกาะคราม ปลาฉลามชุมเสียด้วย ข้าพเจ้าเกาะติดพระองค์…เสด็จพ่อรับสั่งว่า ไม่ต้องกลัว ถึงคราวตายก็ต้องตาย แต่เตี่ยจะยิงลูกๆ ก่อนถ้าเรือแตก จะไม่ยอมให้ปลาฉลามมันทรมาน…มีพ่อแล้วไม่ต้องกลัวอะไร…”

ท่านหญิงทรงเล่าต่ออีก

“…พอลมสงบก็ทรงตัดสินพระทัยกลับกรุงเทพฯ เลิกประจญภัย…ทรงเริ่มคิดจะกลับมาเที่ยวหาอาจารย์เรียนวิชาแพทย์แผนโบราณ ช่วยประชาชนที่ยากจนเป็นกุศล…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ