เมื่อตัดสินพระทัยได้แล้วว่าจะต้องหันหลังให้ทะเล นายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระชันษา ๓๑ ปี ทรงเริ่มหันไปศึกษาวิชาแพทย์แผนไทยอย่างจริงจัง โดยทรงฝากตัวเป็นศิษย์พระยาพิษณุประสาทเวช (คง ถาวรเวช ๒๓๙๖-๒๔๕๗) หัวหน้าแพทย์หลวง ผู้เรียบเรียงหนังสือชุด “ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง” ซึ่งยังใช้เป็นตำราวิชาแพทย์แผนไทยจนถึงปัจจุบัน

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๓๔ - หมอพร

ตามคำบอกเล่าของพระธิดา เสด็จพ่อ “จะลงกราบอาจารย์ที่เป็นไทยทุกคนที่เวลาพบ ทรงยกย่องและนับถือจริงๆ ซึ่งคุณย่าไม่เคยเห็นด้วย ว่าทำเกินไป”

ยังมีพระรูปกรมหมื่นชุมพรฯ ในฉลองพระองค์เสื้อเชิ้ตลายทางแขนยาว ผูกเนคไท สวมผ้ากันเปื้อนทับ เบื้องหน้ามีโต๊ะตั้งกล้องจุลทรรศน์ หลอดทดลอง ล้อมรอบด้วยขวดแก้วมากมาย สอดคล้องกับคำบอกเล่าของพระธิดาว่า นอกจากแพทย์แผนไทยแล้ว ยังทรงศึกษาวิชาแพทย์สมัยใหม่แบบตะวันตกจากนายแพทย์ชาวอิตาเลียนและชาวญี่ปุ่นที่มาเปิดร้านอยู่ในกรุงเทพฯ รวมถึงทรงใช้สัตว์ปีกอย่างนก เป็ด ไก่ เป็นสัตว์ทดลองประสิทธิภาพตำรับยาต่างๆ

ท้ายที่สุด ความรู้วิชาแพทย์แผนไทยที่ทรงค้นคว้ารวบรวมมา ได้รับการสรุปเรียบเรียงเป็นตำรา เขียนลงในสมุดข่อยตามขนบโบราณ พร้อมวาดภาพลงสีด้วยฝีพระหัตถ์อย่างงดงาม ใบหน้าปกทรงเขียนไว้ว่า “พระคัมภีร์ อติสาระวรรค โบราณะกรรมและปัจจุบนนะกรรม” พร้อมกับมีตราประจำพระองค์ รูปสุริยมณฑล ประกอบคาถาภาษิต “กยิรา เจ กยิราเถนํ”

ดูเหมือนว่าหลังจากที่ “ตัวตน” เดิมของพระองค์แตกสลายลงเมื่อถูกปลดออกจากราชการ และต้องตัดขาดจาก “ทหารเรือ” อันเป็นความผูกพันฝังพระทัยมาแต่ยังทรงพระเยาว์ คือช่วงของการพักใคร่ครวญถึงชีวิตที่ผ่านมา และยังเป็นเวลาไขว่คว้าหาหนทางประกอบสร้าง “ตัวตนใหม่” ด้วยการเริ่มต้นแสวงหาเรียนรู้อีกครั้ง ถึงขนาดพร้อมจะทรงก้มกราบครูบาอาจารย์วิชาแพทย์แผนไทยทุกคนทุกเมื่อ โดยไม่พะวงกับพระอิสริยยศตามธรรมเนียมไทย (รวมถึงคำทัดทานของเจ้าจอมมารดาโหมด พระมารดา) จนในที่สุดทรงเลือกวิชาแพทย์ ศึกษาตำรับยา กระทั่งสามารถออกรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้

ภายในเวลาไม่นาน “หมอพร” กลายเป็นที่รู้จักกันทั้งพระนคร ดังคำบอกเล่าของพระธิดา

“(คนทั่วไป) พากันเรียกว่า ‘หมอพรหมอเทวดา’ วังเจ้านายก็ตามไปรักษา เช่นวังพระบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เจ้าจอมมารดากลิ่นป่วย เวลาเสด็จพ่อเสด็จไปถึง คนจะพาเข้าไปที่ห้องนอน เสด็จพ่อจะคลานเข้าไปเรียนว่า ‘หมอพรมาแล้วขอรับ’ ที่วังหม่อมเจ้าทองเชื้อ ทองแถม ก็เคยรักษา ลูกสาวคนใหญ่ยังเล็ก เจ็บมากถึงชักพูดไม่ได้ แล้วก็หายป่วย…”

ไม่ว่าจะเป็นด้วยข้อกีดกันทางฐานันดรศักดิ์ ความประสงค์ที่จะไม่ “แสดงพระองค์” ในลักษณาการเดียวกันกับการ “เสด็จประพาสต้น” ของสมเด็จพระชนกนาถ รัชกาลที่ ๕ หรือเหตุผลอื่นใดก็ตามที พระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นี้ทรงพอพระทัยที่จะเป็นที่รู้จักเรียกขานในฐานะ “หมอพร” (คงตัดมาจากพยางค์หลังพระนามกรม “ชุมพรฯ”)

ตลอดระยะเวลา ๓๐ กว่าปีก่อนหน้า “ชีวิต” ของพระองค์ล้วนเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดไว้โดยบุคคลอื่น เหมือนกับถูกขีดเส้นให้เดินตาม ไม่ว่าเป็นวิชาที่เรียน งานอาชีพที่ทำ ผู้หญิงที่ต้องแต่งงานด้วย ฯลฯ ช่วงนี้อาจเป็นครั้งแรกๆ ที่ทรงเป็นฝ่าย “เลือก” หรือ “ตัดสินพระทัย” ได้ด้วยพระองค์เองทั้งหมด

พูดอย่างภาษาสมัยใหม่ นี่ย่อมเป็นการ “ปลดพันธนาการ” หรือ “ปลดล็อค” ครั้งสำคัญ อันจะมีผลสะท้อนสะเทือนยาวนานไปจนตลอดพระชนมชีพ


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ