“อบายมุข การพนัน เหล้า ผู้หญิง” คือนิยามของสำเพ็ง

ที่นั่นเปรียบเสมือน “โลกใต้ดิน” ของกรุงเทพฯ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ซ่อนซ้อนอยู่ในพระนคร เต็มไปด้วยตรอกซอกซอยซุกซิก ธุรกิจนอกกฎหมาย และผู้คนต่างชาติต่างภาษา แต่แล้วจู่ๆ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระบรมวงศ์ระดับพระเจ้าพี่ยาเธอ ผู้ “ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย” กลับไปปรากฏพระองค์ในละแวกนั้นยามเย็นค่ำ

บ่อยครั้งเข้าจึงกลายเป็นประเด็นที่ราชสำนักต้อง “จับตา”

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๓๕ - อินไซด์สำเพ็ง

จากหลักฐานเอกสารที่เก็บรักษาไว้ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีหนังสือกราบบังคมทูลของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล รายงานการติดตามกรมหมื่นชุมพรฯ ในสำเพ็ง เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๕๗ ว่า

“…เริ่มเสด็จมาประมาณ ๒ เดือนมาแล้ว แรกก็เสด็จไปทรงซื้อนกที่ร้านหมอคำ ซึ่งขายนกแลปลาเงินปลาทองอยู่ตรงปากตรอกอาจม แล้วก็เลยทรงคุ้นเคยกับหมอคำเสด็จเรื่อยมา อาทิตย์หนึ่งอยู่ใน ๔ วัน ๕ วัน โดยมากเสด็จบ่าย ๕ โมงบ้าง ย่ำค่ำบ้าง แล้วเลยอยู่จนเวลา ๒ ทุ่ม หรือ ๒ ทุ่มเศษ เสด็จกลับ…เมื่อวานนี้ก็เสด็จที่ร้านหมอคำ เสด็จโดยรถยนต์เล็ก จอดทางถนนเยาวราช เวลาเสด็จแต่งพระองค์ปรกติ มีมหาดเล็กตามเสด็จคน ๑…”

รายงานของตำรวจยังระบุด้วยว่า “หมอคำคนนี้อายุอยู่ในสัก ๔๐ ปีเศษ เป็นบุตรจีน เกิดในกรุงเทพฯ ตามที่ทรงรับสั่งแก่คนอื่นว่า จะทรงเรียนภาษาจีน แต่ยังไม่ได้เรียน”

ส่วน “รถยนต์เล็ก” ตามรายงานในที่นี้น่าจะหมายถึง “เอนกผล” รถยนต์พระราชทานของรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่เมื่อคราวทรงทำสวนครัวที่พญาไทนั่นเอง

อาจเพราะ “หมอพร” กำลังอยู่ในระหว่างประกอบสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ ซึ่งย่อมหมายรวมถึง “เพื่อน” หรือ “แวดวง” ชุดใหม่ทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้เจ้านายระดับพระราชโอรสของรัชกาลที่ ๕ ทรงไปสนิทสนมกับ “หมอคำ” สามัญชนคนจีนที่ขายนก ขายปลาเงินปลาทอง อยู่ในย่าน “ไชน่าทาวน์” ของกรุงเทพฯ ได้ ความมักคุ้นนี้มีถึงระดับที่ทรงแวะเวียนไปพบปะสนทนาพูดคุย (และคงร่วมดื่มกิน) ด้วยกันเป็นประจำเกือบทุกเย็นค่ำ

แต่อีกเหตุหนึ่งของการเสด็จยังสำเพ็ง อาจเพราะที่นั่นคือ “บ้านคนไข้” ของ “หมอพร”

สถาพร เหรียญสุวรรณ “ลูกเขย” คนหนึ่งของเสด็จในกรมฯ เล่าว่าเวลา “หมอพร” เสด็จออกไปรักษาคนไข้ภายนอก จะทรงฉลองพระองค์เสื้อราชปะแตน กระดุมห้าเม็ด ทรงพระภูษา (นุ่งโจงกระเบน) สีกรมท่า (น้ำเงินเข้ม) ทรงพระมาลา (สวมหมวก) หางนกยูง (คือหมวกที่สานด้วยก้านแกนขนนกยูงจักเป็นเส้น ถือเป็นหมวกอย่างดีมีราคา)

สถาพรยังเล่าถึงการเสด็จไปรักษาผู้ป่วยครั้งหนึ่ง (คงรับรู้ภายหลังจากคำบอกเล่าในวังนางเลิ้ง) ว่ามีหญิงชาวจีนในสำเพ็งมาทูลเชิญ “หมอพร” ให้ไปตรวจอาการสามีของนาง พระองค์จึงเสด็จไปเยี่ยมไข้ โดยมีตำรวจนอกเครื่องแบบตามเสด็จคอย “อารักขา” อยู่ห่างๆ เช่นเคย

หลังจากทรงตรวจแล้วจ่ายยาให้โดยไม่คิดมูลค่า ทรงถามภริยาเจ้าของร้านว่า ด้านหลังร้านมีทางเข้าออกหรือไม่ เมื่อทรงทราบว่ามี จึงรับสั่งว่า อีกเดี๋ยวถ้ามีใครมาถามหา “หมอพร” ให้บอกเขาว่ากลับไปตั้งนานแล้ว

“ฝ่ายนายตำรวจนอกเครื่องแบบซึ่งเฝ้าถวายอารักขาอยู่หน้าร้านตรงข้าม เห็นเสด็จในกรมฯ เสด็จเข้าไปในร้านนานเกินสมควร จึงเข้าไปถามภรรยาเจ้าของร้านว่า ‘หมอพร’ ยังอยู่ในร้านหรือเปล่า ภรรยาเจ้าของร้านจึงตอบตามที่เสด็จในกรมฯ รับสั่งไว้ ข่าวลือว่าเสด็จในกรมฯ ‘หายตัวได้’ จึงแพร่สะพัดไปทั่ว…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ