กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๓๖ - ลองของ

ในช่วงที่ถูกปลดเป็นทหารกองหนุนและกำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณนี้เอง ดูเหมือนกรมหมื่นชุมพรฯ เริ่มหันมาสมาทานศีล สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า เสด็จในกรมฯ ทรงสนพระทัยไสยศาสตร์ ถึงขนาดมีรอยสักเลขยันตร์ต่างๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่อาจสันนิษฐานต่อได้ว่า โอกาสที่จะเสด็จไปสักการะ หรือ “ลองวิชา” กับบรรดาพระเกจิอาจารย์ส่วนใหญ่คงเกิดขึ้นระหว่างช่วงที่ทรง “ตกงาน” นี่เอง

ในทางไสยเวทวิทยา ปรากฏในเกร็ดพระประวัติของเสด็จในกรมฯ ว่ามีพระเถระสองรูปที่ทรงนับถืออย่างยิ่ง ได้แก่ พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท และพระครูประศาสน์สิกขกิจ (หลวงพ่อพริ้ง) วัดบางปะกอก กรุงเทพฯ จากนั้น ภายหลังเมื่อมีการสืบเสาะค้นหากันก็ปรากฏว่ามีครูบาอาจารย์ที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับเสด็จในกรมฯ เพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออก เรื่อยลงไปจนถึงภาคใต้ อาทิเช่นหลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่นอก (กรุงเทพฯ) หลวงปู่กลั่น วัดพระญาติการาม (อำเภอพระนครศรีอยุธยา อยุธยา) หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ (อำเภอบางบาล อยุธยา) หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน (พิจิตร) หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ (ชลบุรี) หลวงพ่อจร วัดดอนรวบ (ชุมพร) ฯลฯ

เฉพาะริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน นับจากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ทางต้นน้ำ ล่องลงมา ยังมีความทรงจำว่าด้วยเรื่องของเสด็จในกรมฯ ตลอดสองฝั่งน้ำ จนเกือบถึงปากอ่าวไทย

ตำนานการโคจรมาพบกันระหว่างเสด็จในกรมฯ กับพระเกจิอาจารย์เหล่านี้ มักมีลักษณะคล้ายคลึงกันจนเป็นแบบแผน คือมักเสด็จมาเพื่อ “ลองของ” ก่อนจะลงเอยด้วยการที่ทรงยอมรับนับถือในวิชาอาคม หรือฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหากันในที่สุด

ที่วัดบางปลา ริมแม่น้ำท่าจีน เขตอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ชาวบ้านรุ่นอาวุโสแถบนั้นยังสามารถเล่าได้ว่าเสด็จในกรมฯ เคยประทับเรือกลไฟมาลองวิชากับหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด (นุต) แล้วพ่ายแพ้ จึงทรงให้สร้างศาลาถวายหลวงปู่ไว้เป็นเครื่องแสดงสักการะ

ศาลานี้เป็นหลังคาคลุมทางเดิน ตั้งแต่ท่าน้ำริมแม่น้ำท่าจีน ยาวขึ้นไปจนถึงหมู่กุฎิ แม้มีจารึกข้อความบนหน้าจั่วด้านหนึ่งระบุว่า “เรี่ยรายสร้างเมื่อ ร,ศ, ๑๒๙” (ตรงกับปี ๒๔๕๓) แต่บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ ทั้งฆราวาสและภิกษุสงฆ์วัดบางปลา ยังต้องชี้ชวนชมประจักษ์พยานของตำนานดังกล่าว คือลายฉลุไม้รูปสมอเรือกงจักรภายใต้พระจุลมงกุฎ หรือ “พระเกี้ยว” อันเป็นเครื่องหมายของทหารเรือยุครัชกาลที่ ๕ พร้อมรูปช้างคู่ชูงวงขนาบซ้ายขวา

จึงอาจกล่าวได้ว่าในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ครั้งนั้น กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (หรือ “หมอพร”) น่าจะเป็น “เจ้านาย” เพียงพระองค์เดียว ที่ทรงมีโอกาสคลุกคลีกับสามัญชน หรือ “ไพร่” มากที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นชาวสยามต่างภาษา อย่างทหารเรือเชื้อสายมอญและมุสลิมจาม ลูกศิษย์นักเรียนนายเรือ ชาวบ้านที่พบปะเวลาออกป่าไปเก็บสมุนไพร ซินแสจีนที่สำเพ็ง รวมถึงพระเกจิอาจารย์ตามวัดในชนบทนอกพระนคร จนทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักรักใคร่อย่างกว้างขวาง กระทั่งปรากฏเป็นพระเกียรติคุณข้อหนึ่งในภายหลังว่า

“ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่บุคคลทั้งหลายก็มิได้ทรงเลือกชั้นบรรดาศักดิ์ ได้คบใครคงอารีดีด้วยทั่วไปมิได้ถือพระองค์ เพราะฉนั้น ไม่ว่าใครที่บรรดากรมหลวงชุมพรได้คบหาสมาคม จะเปนพระก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม เจ้าก็ตาม ไพร่ก็ตาม คงมีใจรักใคร่ไม่เลือกหน้า…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ