rama VI crop adj

ในบรรดา “ลูกศิษย์ก้นกุฏิ” ของเสด็จในกรมฯ พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุด

ก่อนถึงแก่อนิจกรรมไม่นาน เมื่ออายุกว่า ๘๐ ปีแล้ว ระหว่างที่มีผู้มาขอสัมภาษณ์ ท่านเจ้าคุณเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าได้มีโอกาสครั้งสำคัญในการแสดงกตัญญูกตเวทีต่อเจ้านายและ “คุณครู” ผู้มีพระคุณ

“ตอนออกเจ้ากรุด”

“แต่ตอนเข้า…คนนี้ !” ท่านย้ำพร้อมกับชี้นิ้วมาที่ตัวเอง

“เจ้ากรุด” ที่ท่านเจ้าคุณกล่าวถึง คือเรือโทตรุษ หรือกรุด บุนนาค เพื่อนนักเรียนนายเรือรุ่นเดียวกัน ซึ่งเคยมีเรื่องมีราวกับมหาดเล็กของรัชกาลที่ ๖ ในร้านสันธาโภชน์

พระยาหาญกลางสมุทรเท้าความว่า เวลานั้นท่านยังมีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงหาญสมุท” มีตำแหน่งเป็นกรรมการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนี้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๔๕๗ ภายหลัง “มหาสงครามในยุโรป” ปะทุขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในอันที่จะระดมเงินทุนราว ๓ ล้านบาท เพื่อจัดสร้าง หรือซื้อเรือรบ “ชนิดลาดตระเวนที่เรียกว่า ‘สเคาตครูเซอร’ ระวางประมาณ ๓๐๐๐ หรือ ๓๔๐๐ ตันเศษ ซึ่งจะใหญ่ปานๆ เรือพระที่นั่งมหาจักรกรี หรือยาวกว่าสักหน่อย ๑…มีปืนอย่างใหญ่ที่สุดเพียงขนาด ๔.๗ นิ้ว นอกนั้นเปนปืนย่อมๆ และมีท่อตอรปิโด ๒ ท่อ มีเกราะดาดฟ้าราว ๑ นิ้วกึ่ง…” ซึ่งเพียงพอสำหรับการป้องกันตัวของสยาม โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน

วันหนึ่งในราวปลายเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๐ หลังเลิกประชุมกรรมการราชนาวีสมาคมฯ ที่ท่าวาสุกรี เวลาราว ๔ นาฬิกา (ตีสี่) ท่านฉวยจังหวะตอนว่างคน เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังจะทรงลุกขึ้นจากพระเก้าอี้ เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลเป็นการส่วนพระองค์ ขอพระราชทานให้กรมหมื่นชุมพรฯ กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญของราชนาวี เนื่องจากสยามเข้าสู่มหาสงครามแล้ว ขณะที่ทหารเรือยังขาดแคลนนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาที่มีความสามารถ

ปรากฏว่าหลังจากรับฟังคำกราบบังคมทูลของคุณหลวง ในหลวงทรงนิ่งเงียบไปชั่วขณะหนึ่ง เล่นเอาหลวงหาญสมุทหายใจไม่ทั่วท้อง ไม่แน่ใจว่าจะ “หัวหลุด” “บ่าหลุด” หรือถึงขั้นต้องติดคุกติดตะรางหรือไม่ ในที่สุดเจ้าชีวิตตรัสออกมาว่า

“เออ! ข้าดูก่อน”

ได้ยินเพียงเท่านั้น คุณหลวงก็โล่งใจว่าวันนี้ยังไม่ถึงที่ตายแน่ แล้วจึงก้มลงกราบถวายบังคมลา

ขณะที่หลักฐานพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีไปยังสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๖๐ มีข้อความว่า

“ด้วยกรมหมื่นชุมพรมาหา ว่าจะขอเข้ารับราชการในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง จึงเหนว่ากรมหมื่นชุมพรมีความรู้ในทางทหารเรือพอที่จะรับราชการในน่าที่จเรทหารเรือได้ เพราะฉนั้นให้เธอรับกรมหมื่นชุมพรไว้ให้รับราชการเปนจเรทหารเรือด้วยเถิด”

จะเป็นด้วยคำกราบบังคมทูลของพระยาหาญกลางสมุทร คำกราบบังคมทูลของเสด็จในกรมฯ เอง หรือเหตุอื่นใดก็ตามที หลังการประกาศสงครามเพียงสัปดาห์เดียว พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๖๐ ในตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่โดยเฉพาะคือ “จเรทหารเรือ” ซึ่งแม้เป็นตำแหน่งลอยๆ ที่แทบไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชา แต่นี่ย่อมถือได้ว่าเป็นเสมือนการ “เกิดใหม่” ในชีวิตราชการเป็นคำรบ ๒ ของกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ห้าเดือนต่อมา มกราคม ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ขึ้นเป็นนายพลเรือโท ตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ แม้ฟังดูเหมือนใหญ่โตและมีความสำคัญมากขึ้น แต่นี่ก็ไม่ใช่ตำแหน่ง “คุมกำลัง” แต่อย่างใด เพราะหน่วยงานภายใต้บังคับบัญชาของเสนาธิการทหารเรือขณะนั้น มีเพียงเครือข่ายวิทยุโทรเลขสำหรับติดต่อกับเรือรบในทะเล กับราชนาวิกะสภาเท่านั้น


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ