ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

จาก ไฟฟ้าสำรองล้นเกิน ถึง “ค่าไฟแพง” บันทึกความเปลี่ยนแปลงทางพลังงานช่วงรอยต่อปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕
(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ช่วงรอยต่อปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ มีหลายเหตุการณ์ด้านพลังงานที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นการกำหนดและวางนโยบายรับซื้อไฟฟ้าของหน่วยงานรัฐไทย

ย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อจากโครงการเขื่อนต่างๆ บนแม่น้ำโขงสายประธานและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ตั้งอยู่ใน สปป.ลาว ประกอบด้วย

โครงการเขื่อนน้ำงึม ๓ กำหนดอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้า ๒.๘๙๓๔ บาท/หน่วย

โครงการเขื่อนปากแบง กำหนดอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้า ๒.๗๙๓๕ บาท/หน่วย

โครงการเขื่อนปากลาย กำหนดอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้า ๒.๙๔๒๖ บาท/หน่วย

ทั้งนี้ โครงการเขื่อนหรือ “โรงไฟฟ้าพลังน้ำ” ข้างต้นอยู่ในสถานะ “อยู่ระหว่างการพัฒนา”

โครงการเขื่อนน้ำงึม ๓ บนแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงลงมือก่อสร้างแล้ว ส่วนอีกสองเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานยังไม่เริ่มสร้างแต่อย่างใด

ราวสี่เดือนต่อมา คือวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕ กระทรวงพลังงานของประเทศไทยได้นำเสนอร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่อคณะรัฐมนตรี สาระสำคัญคือเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนใน สปป.ลาว จากเดิม ๙,๐๐๐ เมกะวัตต์ เป็น ๑๐,๕๐๐ เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นอีก ๑,๕๐๐ เมกะวัตต์ เพื่อขายให้กับไทย โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับผิดชอบในการซื้อขาย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

ไม่กี่วันต่อมา คือวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๕ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก็ได้มีมติพิจารณาเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อจากโครงการหลวงพระบาง ๒.๘๔๓๒ บาท/หน่วย โดยกำหนดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในอีก ๘ ปีข้างหน้า ตรงกับเดือนมกราคม ๒๕๗๓ ส่วนโครงการเขื่อนปากแบงเปลี่ยนอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าเป็น ๒.๙๑๗๙ บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในอีก ๑๑ ปีข้างหน้า ตรงกับเดือนมกราคม ๒๕๗๖ อัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดอายุสัญญาประมาณ ๒๙-๓๐ ปี

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU อัตราค่าไฟฟ้าโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และ โครงการเขื่อนปากแบงที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว และอนุญาตให้ กฟผ.สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการเขื่อนทั้งสองแห่งในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า

ที่ประชุมยังเห็นชอบอัตราค่า Wheeling Charge (อัตราจัดเก็บค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานสำหรับการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะ Peer to Peer ระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า) และหลักการร่างสัญญา Energy Wheeling Agreement (EWA) โครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปประเทศสิงคโปร์ ผ่านระบบส่งของประเทศไทยและมาเลเซีย (LTMS – PIP) ในอัตราเท่ากับ ๓.๑๕๘๔ US Cents/หน่วย หรือประมาณ ๓.๑๕๘๔ บาท/หน่วย ระยะเวลาโครงการ ๒ ปี

thelectric02
ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของเดือนกุมภาพันธ์เกิดขึ้น เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ มีค่าเท่ากับ ๒๗,๖๗๒.๕๐ เมกะวัตต์ (ภาพ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)

ทุกวันนี้ ระบบกำลังผลิตไฟฟ้าของไทยมีพลังงานสำรองสูงถึงร้อยละ ๔๐-๖๐ ยกตัวอย่างเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ จากกำลังการผลิตของไฟฟ้าทั้งระบบ ๔๖,๑๓๖.๓๗ เมกะวัตต์ (MW) พบว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ ๒๗,๖๗๒.๕๐ เมกะวัตต์เท่ากับว่ามีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึงประมาณร้อยละ ๔๘

การเตรียมไฟฟ้าสำรองหรือการสำรองไฟฟ้ามีความสำคัญเพราะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาว่าตัวเลขที่เหมาะสมควรอยู่ที่ร้อยละ ๑๕ หากแต่หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นในระบบมากถึงร้อย ๕๐ บางเดือนขึ้นไปถึงร้อยละ ๖๐ และสูงที่สุดคือร้อยละ ๘๖ ทำให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่หน่วยงานรัฐจัดหาถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการใช้งานจริง

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ที่ประชุมกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Float Time) หรือ ค่าเอฟที (FT) สำหรับเรียกเก็บในบิลค่าไฟฟ้างวดเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๖๕ เป็นอัตรา ๒๔.๗๗ สตางค์/หน่วย จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ ๑.๓๙ สตางค์/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น ๒๓.๓๘ สตางค์/หน่วย

เมื่อนำค่าเอฟทีที่ปรับเพิ่มขึ้นไปรวมกับค่าไฟฟ้าฐานขายปลีกที่ ๓.๗๖ บาท/หน่วย จะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้ามากถึง ๔.๐๐ บาท/หน่วย นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ค่าไฟจะสูงแตะถึง ๔.๐๐ บาท/หน่วย และจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่คิดค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

ที่น่ากังวลยิ่งกว่า คือหากพิจารณาภายใต้หลักการปรับขึ้นแบบขั้นบันได ในอนาคต เมื่อถึงงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม ๒๕๖๕ และงวดมกราคม-เมษายน ๒๕๕๖ มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะต้องปรับขึ้นราคาอีก

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมายอมรับว่ากรณีเลวร้ายที่สุด ในปี ๒๕๖๖ อาจเห็นค่าไฟพุ่งทะลุไปถึง ๕ บาท ด้วยเหตุนี้ในช่วงวิกฤติพลังงาน กกพ.จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันประหยัดไฟฟ้า ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามหลัก “๔ ป.” ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ, ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน, ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ ๒๖ องศาเซลเซียส และ เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ ๕ เพื่อช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพง นอกจากจะลดภาระค่าครองชีพแล้ว ยังช่วยลดภาระโดยรวมให้กับประเทศ

thelectric03
สภาองค์กรของผู้บริโภคชี้ว่าไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศที่คิดค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสูงที่สุดในอาเซียนที่ ๔ บาท/หน่วย ขณะที่ประเทศอื่นจ่ายค่าไฟเฉลี่ยที่ ๒ บาท/หน่วย (ภาพ : สภาองค์กรของผู้บริโภค)

มีการให้เหตุผลว่าสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงและต้องขึ้นราคาค่าไฟ เป็นเพราะสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในทวีปยุโรป คู่สงครามเป็นผู้ส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ของโลก จึงมีส่วนทำให้ราคาพลังงานโลกสูงขึ้น ตลอดจนปัจจัยลบจากสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติหรือแอลเอ็นจี (LNG) ในอ่าวไทยลดลงในช่วงปลายสัมปทาน กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงต้องคำนวณค่าเอฟทีใหม่ให้สะท้อนราคาเชื้อเพลิงจริง

อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายท้วงติง ตั้งข้อสังเกตและตามหาสาเหตุที่แท้จริง

เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๕ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ รายงานบทความที่ระบุว่า “การสำรองไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น คือ ต้นเหตุค่าไฟแพง”

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า สาเหตุหลักส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเป็นเพราะปัญหาการวางแผนการผลิตไฟฟ้าในประเทศ ที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเอกชนเกินความต้องการอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า การมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากถึงร้อยละ ๔๐-๖๐ ภาระส่วนนี้ได้ถูกแปลงออกมาเป็นค่า FT และถูกนำมาบวกรวมเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชน

การสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าในประเทศจำนวนมากเกินไป ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นเกินความต้องการ ประกอบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ หรือโควิด-๑๙ ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศในภาพรวมลดน้อยลง ในขณะที่โรงไฟฟ้าส่วนหนึ่งไม่ได้ผลิตไฟฟ้า แต่รัฐก็ยังคงต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” (Availability Payment) ให้ตามสัญญา จึงทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๕ อิฐบูรณ์ ให้สัมภาษณ์ Special Report หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หัวข้อข่าว “ชำแหละไฟฟ้าแพง ‘๒ กลุ่มรวยเร็ว’ ภาคสังคมจี้รัฐแก้ปัญหา ‘เกาให้ถูกที่คัน’“ ความตอนหนึ่งว่า

“ตนมองว่าค่าไฟฟ้าสูงขึ้นไม่ใช่จากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือราคาก๊าซธรรมชาติขยับสูงขึ้น แต่มีปัจจัยอื่น เช่น การวางแผนการผลิตไฟฟ้าที่มากเกินความจำเป็น

“ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งปี ๔๖,๑๓๖.๔ เมกะวัตต์ ขณะที่ปี ๒๕๖๒-๒๕๖๔ มียอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดปีละประมาณ ๓๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ ทำให้มีไฟฟ้าล้นความต้องการปีละกว่า ๑๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังผลิตสำรองสูงถึงร้อยละ ๕๐ ทั้งที่ตามหลักการแล้วควรจะต้องมีกำลังผลิตสำรองไฟฟ้า ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

“จากปริมาณไฟฟ้าผลิตสำรองมากถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ต้องรัฐต้องจ่าย ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ไฟฟ้าให้กับเอกชนเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ปีละ ๔๙,๐๐๐ ล้านบาท เพราะได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าลักษณะไม่ซื้อไฟก็ต้องจ่าย ซึ่งมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ๘ ใน ๑๒ แห่ง ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเต็มที่ แต่ได้รับเงินค่าพร้อมจ่ายทุกปี โดยเงินจำนวนที่จ่ายให้โรงไฟฟ้ามาจากประชาชนที่จ่ายค่าไฟฟ้าด้วย ภาครัฐควรไปเจรจาขอลด ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ลงบ้าง!”

อิฐบูรณ์ ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเตรียมเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อน ๒ แห่งใน สปป.ลาว ว่ามีราคาแพงกว่าค่าไฟฐานขายส่งที่กำหนดไว้ที่ ๒.๕๖ บาท/หน่วย และโดยปกติ ค่าไฟจากเขื่อนที่มีสัญญากันอยู่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ๒ บาท/หน่วย เท่านั้น

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ให้สัมภาษณ์ใน Special Report หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หัวข้อเดียวกัน โดยตั้งคำถามกลับว่า “กพช. พยายามเชื่อมโยงโครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก ๒ เขื่อน ใน สปป.ลาว เพื่อส่งไฟฟ้าไปขายให้มาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นระยะเวลาโครงการ ๒ ปี แต่ถามว่าสัญญาซื้อไฟฟ้าที่กำลังจะมีขึ้นมีอายุถึง ๒๙-๓๐ ปี เป็นการใช้สิงคโปร์-มาเลเซีย มาเป็นข้ออ้างหรือเปล่า หลังจากนั้นไฟฟ้าที่เหลือหลังจาก ๒ ปี ใครจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า สุดท้ายคงไม่พ้นคนไทย ถึงแม้จะไม่ใช้ไฟฟ้าจาก ๒ เขื่อนดังกล่าว แต่เป็นภาระที่คนไทยต้องจ่าย ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ”

ในสถานการณ์ที่ไฟฟ้าอันถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมีราคาเพิ่มสูงขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบตรงๆ คือประชาชนคนไทยทั่วทุกหย่อมหญ้าที่หลังพิงฝาเพราะถึงอย่างไรก็ต้องพึ่งพาไฟฟ้าในการดำรงชีวิต

ขณะที่ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง “ชนิดร่ำรวยในพริบตา” จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า อาจมีเพียงกลุ่มทุนพลังงาน และกลุ่มทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเท่านั้น

ย้อนเวลากลับไปวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๕ เครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง นำโดย นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จังหวัดเชียงราย, ชาญณรงค์ วงศ์ลา จังหวัดเลย, อำนาจ ไตรจักร จังหวัดนครพนม, คำปิ่น อักษร จังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมกันทำหนังสือถึง มานะ โลหะวานิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบและชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและการขยายการขายไฟฟ้าไปยังต่างประเทศ เนื้อหาในจดหมายระบุว่า

“พวกเราเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง ๘ จังหวัด ประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มของชาวบ้าน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ที่ติดตามประเด็นการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงมาตลอด ขอเรียนให้คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบการเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการอนุมัติซื้อไฟฟ้าจาก ๔ เขื่อนขนาดใหญ่ จาก สปป.ลาว คือ เขื่อนน้ำงึม ๓ เขื่อนปากลาย เขื่อนปากแบง และเขื่อนหลวงพระบาง ในราคารับซื้อที่แพงกว่าค่าไฟฟ้ารับซื้อจาก สปป.ลาวอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ราคา ๑.๙๕ บาท/หน่วย เท่านั้น เมื่อเทียบแล้วเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว

“อีกทั้ง การขายไฟฟ้าให้สิงคโปร์ที่กำหนดราคาขายเพียง ๓.๑๕๘๔ บาท/หน่วย เมื่อเทียบกับราคาที่ซื้อมา จะมีกำไรเพียงประมาณ ๐.๒-๐.๓ บาท/หน่วยเท่านั้น การเห็นชอบให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงในลาวท่ามกลางสภาพฝืดเคืองทางเศรษฐกิจและกำลังสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยที่ยังมีระดับสูงมากอย่างไม่มีความสมเหตุสมผล จะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้าในระยะยาวอย่างอีก ๒๐ ปีข้างหน้าของประชาชนไทยทั้งประเทศในฐานะผู้บริโภค และผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านใน ๘ จังหวัด เขตชายแดนไทยและลาว ที่ปัจจุบันก็ยังไม่มีกลไกในการรับผิดชอบข้ามพรมแดนและแก้ไขปัญหาจากผู้พัฒนาโครงการที่ชัดเจน จึงขอให้คณะกรรมาธิการได้มีมติให้มีการพิจารณาชะลอหรือยกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและการส่งไฟฟ้าให้ขายให้กับมาเลเซียและสิงคโปร์ต่อไป”

เนื้อหาในจดหมายกล่าวต่อไปอีกว่า

“เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคในประเทศไทย และเพื่อปกป้องระบบนิเวศและวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้ง ๘ จังหวัดในประเทศไทย

“จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณารับเรื่องไว้ตรวจสอบตามที่ร้องเรียน และมีความเห็นเพื่อให้เกิดการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะโดยเร็ว”

ข้อความข้างต้นเป็นข้อร้องเรียนในวันที่มรสุมรุมล้อมคนริมฝั่งโขงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ และการแบ่งแยกแม่น้ำโขงออกเป็นส่วนๆ จากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ได้ทำให้หมู่ปลา พืชพันธุ์ และสัตว์น้ำ ได้รับผลกระทบ และเป็นข้อร้องเรียนในฐานะประชาชนคนไทยที่ต้องเสียค่าไฟเช่นเดียวกับผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ

อ้างอิง