กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๔๖ - ผู้ให้กำเนิด สัตหีบ

แต่เดิมตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกเคยมี “สถานีทหารเรือ” อยู่หลายแห่ง ที่สำคัญคือตำบลบางพระ ชลบุรี กับอ่าวเพ หรือบ้านเพ ระยอง แต่ทั้งสองแห่งยังมีชัยภูมิไม่เหมาะสม เพราะอ่าวเปิดโล่ง ไม่มีที่กำบัง และเป็นที่น้ำตื้น จอดเรือใกล้ฝั่งไม่ได้ ขณะเดียวกัน ยังมีอ่าวสัตหีบ ซึ่งปรกติทหารเรือเคยใช้เป็นที่จอดเรือรบเวลาฝึกซ้อม และเป็นสถานที่ฝึกปล่อยตอร์ปิโด เพราะน้ำลึก กรมหลวงชุมพรฯ ทรงสนพระทัยภูมิประเทศของสัตหีบว่าเหมาะสมสำหรับเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ ทั้งในการเป็นจุดควบคุมอ่าวไทย น้ำลึกพอสำหรับเรือใหญ่ และมีเกาะแก่งเป็นที่กำบัง

ในปี ๒๔๖๓ ทรงมอบหมายให้หลวงศรเสนี (ภายหลังเป็นพระยาศรยุทธเสนี กระแส ประวาหะนาวิน, ๒๔๓๑-๒๕๒๖) เจ้ากรม กรมสรรพาวุธทหารเรือ ดำเนินการสำรวจ ดังที่ท่านเจ้าคุณบันทึกไว้ในอัตชีวประวัติว่า เย็นวันหนึ่ง เสด็จในกรมฯ ให้หาท่านเข้าไปคุยด้วย รับสั่งว่า “เธอไปนอกไปนามา ทำความเห็นให้ฉันทราบได้ไหมว่า ในอ่าวไทยเรานี้ อ่าวไหนควรจะตั้งเป็นทัพถาวรของทหารเรือ” ท่านจึงรับคำจะทำความเห็นมากราบทูล พร้อมกับขอให้พระสาครยุทธวิชัย เป็นที่ปรึกษาอีกคนหนึ่งด้วย

“…เราทั้ง ๒ ได้ลงความเห็นพร้อมกันว่า ไม่มีที่ไหนเหมาะเท่าอ่าวสัตหีบ ได้เสนอการดัดแปลงเพิ่มเขื่อนระหว่างเกาะด้วย พร้อมทั้งดัดแปลงช่องทางให้ปลอดภัยจากการเดินเรือ เป็นรายงานหลายสิบหน้ากระดาษฟุลสแก็ป เมื่อท่านรับบันทึกความเห็นแล้ว ยังไม่ได้รับสั่งประการใดขณะนั้น ต่อเมื่อเรือกลับจากการฝึกภาคแล้วรับสั่งให้เข้าเฝ้า รับสั่งว่า ได้อ่านบันทึกของเธอโดยรอบคอบแล้วฉันเห็นด้วย ฉะนั้น ขอให้เธอเดินทางไปกับเรือช่วยรบ ๑ ลำ ไปเริ่มจัดการปราบพื้นที่ที่เธอเห็นเหมาะสม ที่เหล่านั้นเป็นที่รกร้างว่างเปล่าคงไม่มีใครหวงห้ามหรือว่ากล่าว…”

ปรากฏว่าเพียง ๒ เดือนให้หลัง ทั้งทางกระทรวงมหาดไทยและสมุหเทศาภิบาลมณฑล ทำหนังสือฟ้องเข้ามายังกระทรวงทหารเรือ ว่าหลวงศรเสนีเข้าไปถางป่าในที่หวงห้ามที่สัตหีบ เนื่องจากว่าตั้งแต่ปี ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสชายทะเลตะวันออก แล้วทรงมีพระบรมราชโองการแก่สมุหเทศาภิบาลมณฑลและผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี ให้หวงห้ามที่ดินอ่าวสัตหีบไว้ ห้ามออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ราษฎร โดยมีพระบรมราโชบายที่เปิดเผย ว่ามีพระราชประสงค์จะทรงสร้างพระราชวัง แต่แท้ที่จริงแล้ว ทรงเล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่ว่าเหมาะสมจะเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ แต่ยังอาจมิใช่เวลา จึงทรงให้สงวนที่ดินไว้ก่อน

ทว่าข้อด้อยของสัตหีบมีอยู่ไม่น้อย ทั้งขาดแคลนน้ำจืด รกร้างกันดาร เป็นป่าที่มีไข้ชุกชุม และยังไม่มีทางรถไฟหรือถนนที่เชื่อมต่อโดยตรงกับโลกภายนอก แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ข้อดีมีมากกว่า ส่วนข้อเสียนั้นยังพอหาหนทางแก้ไขได้ ดังนั้นในเดือนกันยายน ๒๔๖๕ ขณะเมื่อกรมหลวงชุมพรฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการกระทรวงทหารเรือ จึงมีหนังสือกราบบังคมทูลขอใช้ที่ดินบริเวณสัตหีบเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือ

ข้อเสนอในการใช้พื้นที่สัตหีบเป็นฐานทัพเรือของกรมหลวงชุมพรฯ สอดคล้องต้องกับพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงประกาศให้พื้นที่สัตหีบเป็นที่ดินหวงห้ามมาแต่เดิม ด้วยทรงมุ่งหมายจะสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของราชการทหาร จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามข้อเสนอ

นั่นจึงเป็นกำเนิดของ “สัตหีบ” ในฐานะฐานทัพเรือแห่งแรกของสยาม


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ