วังที่ประทับของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์สร้างขึ้นตอนปลายรัชกาลที่ ๕ โดยมีพิธีขึ้นตำหนักใหม่เมื่อปี ๒๔๔๙ วังแห่งนี้มีชื่อเรียกตามสถานที่ตั้งหลายแบบ เช่นบางทีเรียกว่า “วังนางเลิ้ง” เพราะอยู่ในย่านนางเลิ้ง บางท่านเรียกว่า “วังเปรมประชากร” ตามชื่อคลองหน้าวังซึ่งขุดเชื่อมจากคลองผดุงกรุงเกษมไปทะลุออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางปะอิน แต่เคยเห็นว่ามีการเรียกว่า “วังถนนพระรามที่ ๕” ตามนามถนนด้านหน้าวังด้วยเช่นกัน

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๔๗ - ผู้ครองวังนางเลิ้ง

วังนางเลิ้งเป็นที่ประทับของเสด็จในกรมฯ กับบรรดาหม่อมห้าม พระโอรสพระธิดา และบ่าวไพร่ในวัง รวมทั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าจอมมารดาโหมดได้กราบถวายบังคมทูลลาออกมาพำนักอยู่ที่วังนางเลิ้งกับพระโอรส คือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และมีส่วนช่วยดูแล “เรื่องในวัง” ต่างๆ เช่น จ้างครูมาสอนหนังสือไทยเบื้องต้นให้แก่ “หลานๆ” ส่วนวิชาอื่นๆ เช่นภาษาอังกฤษ ภาษามลายู ตลอดจนวิชาต่อสู้ป้องกันตัว เช่นการขว้างมีด และยิวยิตสู (Ju-Jitsu เป็นต้นรากของยูโด) เสด็จในกรมฯ ทรงสอนด้วยพระองค์เอง

หลักฐานคำบอกเล่าเกี่ยวกับวังนางเลิ้งส่วนใหญ่ คือภาพความทรงจำยุคทศวรรษ ๒๔๖๐ เช่น พันเอก ขุนแผน กระหม่อมทอง (๒๔๕๗-๒๕๕๑) ซึ่งเกิดที่บ้านพักข้าราชบริพารภายในวังกรมหลวงชุมพรฯ เมื่อปี ๒๔๕๗ และหลวงปู่ศุขเป็นคนตั้งชื่อให้เมื่ออายุ ๓ ขวบ บันทึกสภาพวังที่เคยเห็นไว้ว่า

“…วังของเสด็จในกรมในสมัยข้าฯ ยังเด็กดูใหญ่โตมโหฬาร แต่โตขึ้นรู้สึกว่าเล็ก…เสด็จในกรมชอบต้นไม้และป่ามาก ท่านจะไม่อยู่บนตึกใหญ่ แต่จะมาอยู่เป็นเรือนแพฝาไม้ไผ่หลังคาแฝกข้างหลังตึก บริเวณนั้นจะมีคูน้ำต่างๆ ท่านปลูกต้นไม้ทุกชนิด มีผลไม้แปลกจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ข้าฯ ชอบฝรั่งและชมพู่ ชมพู่มีหลายชนิดแปลกๆ บางอย่างเดี๋ยวนี้หาไม่ได้หรือไม่ค่อยเห็น เช่น ชมพู่เล็บมือนาง ซึ่งโตกว่าหัวแม่มือเล็กน้อย ยาวประมาณสองนิ้วครึ่ง หวานฉ่ำชื่นใจ ทุเรียนแขกโตเท่าๆ ขนุน สับปะรดหนังคล้ายขนุน แต่เนื้อในเหมือนน้อยหน่า เม็ดเหมือนน้อยหน่า รสหวานฉ่ำอมเปรี้ยวเล็กน้อย เวลาท่านเสด็จต่างประเทศท่านมักมีผลไม้แปลกๆ ติดมือมาด้วย ท่านมีโรงเฟิร์นใหญ่อยู่หลังตำหนัก มีเฟิร์นและหน้าวัว…”

น่าเสียดายที่ตำหนักใหญ่ถูกระเบิดเพลิงจากเครื่องบินสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนไฟไหม้ แล้วรื้อสร้างเป็นอาคารเรียนของพณิชยการพระนครไป ขณะที่จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏภาพถ่ายที่ชัดเจนของตำหนักใหญ่ตกทอดมา มีเพียงปากคำของอาจารย์นิตย์ คำอุไร ที่เคยเล่าว่าตัวตำหนักใหญ่ “ทาสีไข่ไก่ หน้าต่างทาสีเขียวๆ ข้างบนหน้าต่างมีวงโค้งๆ” แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงหลงเหลือมาจากยุคของเสด็จในกรมฯ คือกำแพงวังซึ่งมีใบเสมา ดังที่ยังปรากฏเป็นกำแพงด้านถนนพิษณุโลกของพณิชยการพระนคร (ปัจจุบันยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร)

กำแพงมีใบเสมาถือเป็น “ฐานานุศักดิ์” ทางสถาปัตยกรรมที่สงวนไว้ก่อล้อมเฉพาะที่ประทับของสมเด็จพระบรมวงศ์ที่ทรงฐานันดรเป็นเจ้าฟ้าขึ้นไปเท่านั้น ดังเห็นได้จากกำแพง “วังท่าพระ” ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระปัจจุบัน) ทว่ากรมหลวงชุมพรฯ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอที่เมื่อประสูติเป็นแต่เพียงพระองค์เจ้า แล้วเหตุใดจึงมีใบเสมาบนกำแพงวัง ?

มีผู้สันนิษฐานว่าอาจทรงได้รับการยกย่องเสมอด้วยเจ้าฟ้า ด้วยเหตุว่าพระชนนีคือเจ้าจอมมารดาโหมด ผู้สืบสายราชนิกุลบุนนาค แต่ความข้อนี้ยังไม่เคยปรากฏหลักฐานเอกสารยืนยัน


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ