บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของวังนางเลิ้งยุคทศวรรษ ๒๔๖๐ ที่ยังคงเป็นที่จดจำเล่าขานกันมาอีกช้านาน คือการเป็น “สำนักมวยไทย” เลื่องชื่อ

เรื่องทำนองนี้น่าจะเป็นความสนพระทัยส่วนพระองค์ของเสด็จในกรมฯ มานานแล้ว เริ่มตั้งแต่กระบี่กระบองและโขน เช่นที่หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดา ทรงเล่าว่า

“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๔๙ - สำนักมวยไทย

“…เสด็จพ่อทรงสนพระทัยในกีฬามวย ที่วังเคยเป็นที่ซ้อมมวย มีลูกศิษย์ลูกหามาสมัครเป็นจำนวนมาก การดนตรีดีดสีตีเป่าร่ายรำกระบี่กระบองทรงเป็นทุกอย่าง มีครูชื่อพระยาพรหมาฯ มาสอนรำ ทรงเป็นตัวทศกัณฐ์ เล่นกันระหว่างเจ้านายหลายพระองค์ มีเสด็จอา กรมหมื่นไชยาฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรฯ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธฯ เป็นต้น…”

เฉพาะเรื่องหมัดมวย ค่ายวังนางเลิ้งมีพระชลัมพิสัยเสนี (แฉล้ม สถิรศิลปิน) “ลูกศิษย์ก้นกุฎิ” อีกคนหนึ่งของเสด็จในกรมฯ เป็นผู้ควบคุมดูแลบรรดานักมวยในสังกัด

พันเอก ขุนแผน กระหม่อมทอง อดีตเด็กในวังนางเลิ้ง จำเรื่องนี้ได้ดี

“ในวังเราก็เคยดูนักมวยของเสด็จในกรมซ้อมบ่อยๆ…วิ่งบ้าง ซ้อมกระสอบทรายบ้าง เตะต้นกล้วยบ้าง เสด็จในกรมมีนักมวยชั้นยอดหลายคนจากหลายทิศ ที่จำได้คือ นายยัง หาญทะเล กับนายทัพ จำเกาะ สองคนนั้นมีฝีมือมาก…”

โดยเฉพาะศึกดวลกำปั้นครั้งสำคัญระหว่างนายยัง หาญทะเล กับนักชกจีน “ไฟต์หยุดโลก” ที่ตราตรึงใจคนรุ่นเก่า จนกลายเป็นตำนานเล่าขาน พันเอกขุนแผน เล่าว่า

“ในสมัยนั้นมีนักมวยมาจากเมืองจีนคนหนึ่งชื่อจีนฉ่าง จีนฉ่างแข็งแรงมาก มาสอนมวยจีนในเมืองไทยได้นาน พอพูดไทยได้บ้าง จีนฉ่างเป็นพระเอกของคนจีนในเมืองไทย กล่าวว่าอิฐมอญวางเรียงกันห้าหกแผ่น จีนฉ่างใช้นิ้วสองนิ้วเลี๊ยะแตกหมด ชาวจีนนับถือคล้ายกับว่าคนในโลกไม่มีใครสู้นายฉ่างได้ ในวันเปรียบมวย ชาวจีนจึงเอาจีนฉ่างมาโชว์ตัวคล้ายกับท้าทาย เสด็จในกรมจึงส่งนายยัง หาญทะเล เข้าเปรียบด้วย และพอถึงวันชกปรากฏว่าคนดูแน่นสนามทั้งคนจีนและคนไทย และมีการเดิมพันนอกกันมากมาย นักมวยขึ้นชกสักครู่ จีนฉ่างก็สำแดงฤทธิ์…ใช้กำลังภายในจับคอและเท้าชูขึ้นเหนือศีรษะ หมุนตัวไปรอบๆ ด้วยความร่าเริงและเย้ยหยัน ตะโกนดังลั่นสนามว่า ‘เอาเป็นหรือเอาตาย’ โดยจีนฉ่างต้องการเยาะ เสียงนายยังซึ่งถูกจับลอยบนอากาศร้องว่า ‘เอาตาย’ จีนฉ่างจึงโยนนายยังขึ้นไปบนอากาศ และใช้มือเลี๊ยะขึ้นไปเพื่อให้ทะลุกลางตัว แต่ปรากฏว่ามือจีนฉ่างยังไม่ถึงพุงนายยัง เท้านายยังก็มาถึงคางจีนฉ่างก่อนแล้ว และเมื่อเท้านายยังถึงพื้นได้เท่านั้น จีนฉ่างก็เปรียบเหมือนต้นกล้วยต้นหนึ่ง ต้องลงกองอยู่กับพื้นภายในไม่กี่วินาที…”

เรื่องเล่านี้ค่อนข้างเป็น “ฉบับชาวบ้าน” ที่ฟังดูเหมือนนิยายจีนกำลังภายใน ผู้สนใจสามารถลองอ่านเทียบเคียงกับการบรรยายฉากต่อสู้ของมวยคู่ประวัติศาสตร์ ระหว่างนายยัง หาญทะเล กับ “จี๊ฉ่าง” อีกสำนวนหนึ่งที่อาจารย์เขตร ศรียาภัย “ปรมาจารย์” คนหนึ่งของวงการมวยไทย บันทึกไว้อย่างละเอียดหลายสิบหน้าในหนังสือชื่อ “ปริทัศน์มวยไทย”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ