เรื่องและภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

พื้นที่หลายชุมชนในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ถูกกำหนดให้เป็นจุดทิ้งกองดินกองหินจากการขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำ ตาม “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” หรือ “โครงการผันน้ำยวม” เมกกะโปรเจคของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลค่ามากกว่า ๗ หมื่นล้านบาท

โครงการนี้ถูกปัดฝุ่นขึ้นอีกครั้ง โดยกรมชลประทานเจ้าของโครงการอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้กับคนพื้นที่ภาคกลาง ด้วยการใช้วิธี “ผันน้ำ” หรือ “สูบน้ำ” ข้ามลุ่มน้ำหลัก จาก “ลุ่มน้ำสาละวิน” ติดชายไทย-พม่า มาลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ทางตอนบนของ “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา”

นอกจากจุดทิ้งกองดินกองหิน หลายชุมชนในอำเภออมก๋อยยังเป็นเส้นทางผ่านหลักของอุโมงค์ใต้ดิน จึงถูกกำหนดให้มีทางเข้าออกอุโมงค์ถึง ๒ แห่ง ต้องตัดถนนหลายเส้นเพื่อเข้าสู่พื้นที่หัวงาน และจะมีแนวเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านตลอดแนวอุโมงค์

รายงานประเมินผลกระทบส่งแวดล้อมหรืออีไอเอระบุว่า จุดวางกองดินพิจารณาพื้นที่ใกล้ร่องเขา ให้มีทางระบายน้ำออกด้านข้าง ตั้งอยู่ห่างจากลำน้ำสายหลักและชุมชน อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือปะกาเกอะญอที่ยังมีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับป่าไม้ ขณะที่เจ้าของโครงการเร่งรัดผลักดันให้โครงการเดินหน้าไป จึงมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านและนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนดังระงม

ล่าสุด (ปลายเดือนเมษายน ๒๕๖๕) โครงการผันน้ำยวมอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยมีการร้องเรียนในประเด็นการขาดมีส่วนร่วมและการใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในการจัดทำรายงานอีไอเอ

จากโพสต์เพจเฟซบุ๊ค Sarakadee Magazine

เมื่อโครงการผันน้ำจะพาดผ่านอมก๋อย

“อมก๋อยรับเต็มๆ จุดที่จะใช้วางกองดินมากที่สุดอยู่ในอำเภออมก๋อย”

พิบูลย์ ธุวมณฑล
บ้านแม่ลาหลวง ต.ยางเปียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ / ประธานเครือข่ายชาติพันธุ์อมก๋อย

“พื้นที่เก็บกองวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์หรือจุดทิ้งกองดินมีทั้งหมด ๖ จุด อมก๋อยรับเต็มๆ จุดที่จะใช้วางกองดินมากที่สุดอยู่ในอำเภออมก๋อย กองใหญ่ที่สุดน่าจะอยู่ที่บ้านแม่สอใต้กับบ้านผีปานใต้ หมู่บ้านอื่นๆ ที่น่าจะได้รับผลกระทบก็เช่นบ้านหนองอึ่งเหนือ บ้านตุงลอย เขาจะใช้ที่ดินตั้งแต่หลายสิบไร่ไปจนถึงร้อยไร่ พื้นที่ทั้งหมดของโครงการเกือบห้าร้อยไร่ที่จะถูกใช้รองรับกองดินจากการขุดเจาะอุโมงค์ จะมีก้อนดินก้อนหินเป็นล้านๆ ลูกบาศก์เมตรถูกขุดขึ้นมาวางในป่า อมก๋อยเป็นจุดหลักสำหรับการทิ้งกองดินจากอุโมงค์ มันคงจะเท่ากับภูเขาขนาดย่อม ตำแหน่งของกองดินจะไปทับที่ดินทำกินของใครบ้าง

“นอกจากกองดินแล้วอมก๋อยจะมีทางเข้าออกอุโมงค์อีก ๒ แห่ง จะต้องเปิดพื้นที่ ถางป่าเพื่อก่อสร้าง ต้องตัดต้นไม้ในป่า ตัดถนนแล้วใช้รถบดอัด บริเวณที่มีความลาดชันก็มีโอกาสเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เขาบอกว่าจัดการวัสดุจากการขุดอุโมงค์เสร็จแล้วจะฟื้นฟูสภาพพื้นที่ใหม่ เช่น ปลูกพืชคลุมดิน ปลูกป่าให้ช่วยลดปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน บอกว่าการขุดอุโมงค์จะไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดิน มันจะทำได้จริงๆ เหรอ

“พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นป่า เป็นที่ทำกินที่อยู่อาศัยของชุมชน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอที่ยังดำรงชีวิตด้วยการเก็บหาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ ใบตองตึง บุก จับปลา อำเภออมก๋อยเรา ๙๙ เปอร์เซ็นต์เป็นที่ดินไม่มีโฉนด เขาประกาศให้เป็นเขตป่าสงวน เขตห้ามล่า เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ทับพื้นที่อมก๋อยเอาไว้

“ถนนเข้าพื้นที่โครงการบางเส้นระบุว่าไม่พบการครอบครอบที่ดิน พื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ ทางเข้าออก ถนน อยู่ในพื้นที่ที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ อาจจะทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับการชดเชยเพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีโฉนดที่ดิน เวลาทำโครงการเจ้าหน้าที่อาจจะคิดว่าไม่จำเป็นที่ต้องขอความเห็นชาวบ้าน เพราะเขาถือว่าที่ดินป็นที่ดินของรัฐทั้งหมดหรือเปล่า

“เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ติดตามโครงการและการจัดทำรายงานอีไอเอ เคยส่งหนังสือคัดค้านและท้วงติงเกี่ยวกับกระบวนการโครงการนี้แต่ก็ไม่เห็นมีการแก้ไขจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ อีไอเอก็ได้รับความเห็นชอบทั้งที่มีข้อกังวลและคำถามมากมาย

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ‘บ.ไม้สลี’ ที่เขียนอยู่ในรายงานอีไอเอมันอยู่ตรงไหน ผมไปมาทั่วทุกหย่อมบ้าน ไม่มีชื่อหมู่บ้านนี้ หรือแนวอุโมงค์ผ่านหมู่บ้านตั้งเยอะทำไมเขาใส่มานิดเดียว รายชื่อคนในหมู่บ้านที่อยู่ในอีไอเอ เท่าที่ถามแทบจะไม่รู้ตัว จะรู้ตัวก็เฉพาะคนที่โดนถมที่ถมหินไม่กี่ราย ชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่รู้ภาษาไทยแต่ถูกหน่วยงานแอบอ้างชื่อ”

omkoy02

“กลัวว่าที่ดินทำกิน พื้นที่จิตวิญญาณ ผืนป่าที่ช่วยกันดูแลรักษาจะสูญเสียไป”

จินดารัตน์ รำไพพนม
บ้านผีปานใต้ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

“บ้านผีปานใต้อยู่ในรายชื่อหมู่บ้านที่ตั้งโครงการผันน้ำยวม หมู่บ้านของเรามีประมาณ ๔๕ หลังคาเรือน ประชากร ๒๐๐ กว่าคน ทุกคนมีสัญชาติไทย มีบัตรประชาชน เราเป็นหมู่บ้านที่ถูกกำหนดว่าจะมีอุโมงค์ผันน้ำผ่านและเป็นจุดวางกองดินที่จะถูกขุดขึ้นมา แล้วก็จะมีเสาไฟฟ้าแรงสูงด้วย เวลานี้ชาวบ้านรู้สึกกังวลมาก กลัวว่าจะเกิดผลกระทบหลายอย่าง กลัวว่าที่ดินทำกิน ไร่หมุนเวียน พื้นที่จิตวิญญาณ ป่าช้าของหมู่บ้าน ผืนป่าที่ช่วยกันดูแลรักษาจะสูญเสียไป

“ช่วงที่ผ่านมาไม่เคยมีเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูล ไม่มีการให้ความรู้ แม้แต่ผู้นำก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มี แต่เคยมีคนเข้ามาขุดที่ดินตรวจ ไม่รู้ว่าใครคือเจ้าหน้าที่กรมชลฯ ที่รับผิดชอบ ใครคือผู้ที่จะต้องแก้ปัญหา อยากให้มาอธิบายกับชาวบ้านให้มากกว่านี้ ทุกวันนี้ชาวบ้านแทบไม่รู้ข้อมูลโครงการผันน้ำ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอีไอเอคืออะไร ครั้งแรกที่มีคนมาเล่าให้ฟังว่าจะมีอุโมงค์รู้สึกตกใจมาก เขาเอาข้อมูลมาจากไหนว่าชาวบ้านอนุญาต

“ชุมชนที่นี่เป็นชุมชนกะเหรี่ยง พวกเรายังทำไร่หมุนเวียน ทำทุกปีตั้งแต่บรรพบุรุษ ในไร่หมุนเวียนมีอาหารเกือบทุกอย่าง เราปลูกข้าว พืชผัก ไร่หมุนเวียนเป็นอาชีพหลักของแต่ละครอบครัว ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อกิน เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจหรือปลูกขาย ถ้าพื้นที่ไร่หมุนเวียนได้รับผลกระทบก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอาชีพอะไร

“ถนนที่เขาบอกว่าจะตัดผ่าน เสาไฟฟ้าแรงสูง ทางเข้าออกอุโมงค์จะกระทบไร่หมุนเวียนมากสักแค่ไหน บางจุดเป็นพื้นไร่ซาก คนข้างนอกมองผิวเผินดูไม่ออกว่าเป็นไร่หมุนเวียน ก็เลยเคยมีคนจะมายึดป่าที่นี่

“ถ้าไม่มีป่า ไม่มีต้นไม้ การทำไร่หมุนเวียนมันทำไม่ได้ ไร่หมุนเวียนต้องอาศัยป่า รอบๆ ชุมชนของเรามองไปทางไหนก็เป็นป่าทั้งหมด ไม่มีดอยหัวโล้น เราอยู่แบบนี้กันมานานผืนป่าก็คงอยู่แบบนี้ มีพื้นที่ป่าช้า ป่าจิตวิญญาณ พื้นที่จิตวิญญาณที่ห้ามเข้าไปตัดไม้ ห้ามเข้าไปทำอะไร คนเฒ่าคนแก่บอกว่าผืนป่ามีเจ้าป่าเจ้าเขาคอยปกปักรักษา พวกเราผูกพันกับป่ามาตั้งแต่เด็ก ขอให้ป่าขอให้สายน้ำไหลเหมือนเดิมได้ไหม ถ้าหยุดโครงการได้ก็อยากจะให้หยุด ถ้ารู้รายละเอียดชาวบ้านไม่เอาแน่นอน เพราะชาวบ้านไม่ได้ต้องการอยู่แล้ว”

omkoy03

“จะเอาน้ำไปให้คนภาคกลางใช้ ผมว่าเขาคิดตื้นเกินไป”

เอกชัย จามรจารุเดช
บ้านแม่สอใต้ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

“เฉพาะหย่อมบ้านแม่สอใต้ข้างล่างนี้มี ๒๓ หลังคาเรือน รวมกันประมาณ ๑๐๐ คน เกือบทั้งหมดทำไร่หมุนเวียน แล้วก็มีที่นา มีปลูกฟักทองบ้าง บางแปลงเป็นที่ทำกินร่วมกันของหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านผีปานเหนือ บ้านแม่สอ บ้านแม่ลง เข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
“การทำไร่หมุนเวียนเวลาตัดต้นไม้ เราตัดให้ฟื้นได้ ตัดให้สูงหน่อยก็จะมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นตออยู่ แต่ถ้าถางป่า ทำถนน ทำเสาไฟฟ้าแรงสูง ป่ามันไม่งอกอีกนะ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรป่าไม้ วิถีชีวิต ฝุ่น เสียงรถยนต์ มันใกล้เข้ามามาก

“เจ้าหน้าที่เคยบอกว่าถ้ามีโครงการจะมีงานให้ชาวบ้านทำ ปกติชาวบ้านไม่มีงานทำอยู่แล้วใช่มั๊ยล่ะ เขาบอกว่าตอนที่มาทำเสาไฟฟ้าแรงสูงจะมีงานให้ชาวบ้านเข้าไปช่วย ได้เงินวันละสามสี่ร้อยบาท แต่งานที่ทำคืออะไรไม่ได้บอก แล้วก็บอกว่าถนนจะดีขึ้น จะไถถนนใหม่ให้รถคันใหญ่ๆ มาถึง แต่จริงๆ เขาไม่ให้ชาวบ้านวิ่งรถหรอกเพราะเป็นถนนเข้าไปยังพื้นหัวงานของเขา เหมือนเขาพยายามจะอ้างให้เป็นผลประโยชน์กับชาวบ้าน แต่จริงๆ ไม่ใช่

“เรื่องไร่หมุนเวียน ถ้าเขาไถถนน ทำทางเข้าออกอุโมงค์ ผมว่าเสียป่าถาวรเลยนะ แล้วยังจะมีเสาไฟฟ้าแรงสูงมาคู่กับอุโมงค์ผันน้ำ เขาบอกว่าต้องส่งไฟฟ้าไปป้อนเครื่องสูบน้ำตรงจุดที่จะสร้างเขื่อนที่บ้านสบเมย อุโมงค์กับเสาไฟฟ้าแรงสูงจะมาคู่กันเพราะเขาจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า

“เจ้าหน้าที่ชอบบอกว่าห้ามทำลายป่า ชอบบอกว่าห้ามแผ้วถาง แต่ทำไมถึงอนุญาตให้ทำโครงการนี้ พวกเราอยู่กันมาตั้งนานเป็นร้อยปี หากินกันมาตั้งนาน ทำไมต้องมาต่อสู้กันเรื่องนี้

“เคยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุยเรื่องเสาไฟฟ้าแรงสูง แล้วอีกครั้งหนึ่งมาคุยเรื่องที่นา เขาบอกว่าจะมาถมที่นี่นะ พยายามถามรายละเอียดเรื่องค่าชดเชยก็ตอบไม่ได้ บอกว่าต้องไปประเมินดูอีกที มีชาวบ้านถูกขู่ว่าถ้าไม่เซ็นชื่อก็จะถูกยึดที่ดินโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ หลายคนยอมเซ็นให้ทั้งๆ ที่ไม่รู้รายละเอียด บางคนต้องเข้าร่วมเพราะเขาบอกว่าถ้าไม่มาจะไม่มีค่าชดเชย ถ้าเจ้าของไม่มาจะเอาที่ไปฟรีๆ

“กลัวลูกหลานจะได้รับผลกระทบ กลัวหลายอย่าง ถึงตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะโดนอะไรบ้าง เขาบอกว่าโครงการนี้จะเอาน้ำไปให้คนภาคกลางใช้ ผมว่าเขาคิดตื้นเกินไป”

omkoy04

“ถ้าพื้นที่เสียหาย หรือถ้าเขาเอาที่ดินไป เราจะไปทำที่ไหนต่อ”

บูจัน ทวีทรัพย์ใหม่
บ้านแม่สอใต้ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

“อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด ลูกเกิดที่โรงพยาบาลอมก๋อยแล้วก็กลับมาอยู่ที่นี่ ครอบครัวก็อยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า เคยมีคนเข้ามาวัดที่ดิน เข้ามาวัดที่นา แต่ไม่ได้บอกว่าทำอะไร เขาบอกว่าจะปรับที่ดินหมายถึงจะทำอะไร แค่บอกว่าพื้นที่นี้เป็นเขตก่อสร้าง ถ้าพื้นที่เสียหาย หรือถ้าเขาเอาที่ดินไป เราจะไปทำที่ไหนต่อก็ยังคิดไม่ออก

“ผมชอบป่าไม้ ชอบสายน้ำ ชอบเพราะว่ามีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีปลาในลำห้วย เกี่ยวข้าวเสร็จก็ทำฟักทองต่อ มาที่นาทุกวัน มาทำไร่ทำสวน นี่ก็เพิ่งจะเกี่ยวข้าวไปเมื่อเดือนตุลา ถึงเวลาเกี่ยวข้าวก็มาช่วยกันทั้งหมู่บ้าน เวียนช่วยกันไปเรื่อยๆ แทบไม่มีความจำเป็นที่เราต้องออกไปในเมือง”

“ถึงหน้าแล้งลำห้วยก็ไม่ค่อยมีน้ำ ถึงช่วงน้ำมากแทบจะเข้ามาไม่ได้ ตั้งแต่เดือนสิงหากันยาน้ำก็เริ่มจะมาก ถึงจะเข้าออกยากแต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ลำบากกับเรา ไม่เป็นไรเพราะมันไม่นาน สักอาทิตย์หนึ่งก็ข้ามลำห้วยได้เหมือนเดิม ช่วงที่ต้องอยู่ข้างในก็มีความสุขดีอยู่แล้ว เพราะที่นี่เป็นหมู่บ้านของเรา เรามีความสุขดี

“ป่าที่นี่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์มากมาย อยากรู้ว่าคนที่อื่นเขาว่ายังไงเกี่ยวกับโครงการนี้ โครงการนี้เกี่ยวกับพระราชดำรัสมั๊ย”
“เรารักผืนป่า หมู่บ้านเราดูแลกันมาตั้งแต่รุ่นปูย่า ญาติพี่น้องก็ช่วยดูแลกันมา อยากให้ผืนป่าคงอยู่อย่างนี้ตลอดไป”