เรื่อง : เลิศศักดิ์ ไชยแสง
ภาพประกอบ : ณัฐชนน บางแค

Drag Professional : ชีวิตหลังม่านก่อนแสงสว่างบนเวที

เป็นเวลา ๔ ทุ่มในทุกค่ำคืนพิเศษของวันอาทิตย์ บาร์ใต้ดินที่ Maggie Choo’s กำลังโลดแล่นเสียงเพลงและแสงไฟสลัวหลายสี กลิ่นบุหรี่เคล้าคลุ้งผสมกลิ่นน้ำหอมของผู้คนหลากเพศหลายเชื้อชาติที่ต่างดื่มด่ำกับค่ำคืนสุดท้ายของสัปดาห์ในการพักผ่อน

เสียงประกาศกราวราวบทกวีแทนที่เสียงเพลง เอ่ยทักทายเป็นภาษาอังกฤษจากพิธีกรบนเวที เธอเป็นหัวหน้าแดรกควีนในบาร์ ซึ่งปรากฏตัวด้วยชุดเดรสยาวสีเหลืองลายเสือกับทรงผมคล้ายนางงามจักรวาลคนแรกของไทยในรอบแนะนำตัว เพียงแต่ทรงผมนั้นมีขนาดใหญ่กว่าสองถึงสามเท่า

สิ้นเสียง แสงไฟสลัวหรี่ดับลงมืดมิด ก่อนจะตามติดด้วยเสียงปรบมือและโห่ร้องต้อนรับจากผู้ชม ขณะเพลงดังขึ้นอีกครั้ง “เดียริส ดอลล์” ก็ปรากฏตัวขึ้นจากหลังม่านมืดท่ามกลางแสงไฟสว่างจ้าบนเวที เสียงเบสห้วนบาดลงกลางใจผ่านบทเพลง “Hold It Don’t Drop It” ของ เจนนิเฟอร์ โลเปซ ในชุดคลุมขนสีขาว

และบนเวทีที่ยกพื้นสูงเพียง ๕ นิ้ว เธอสร้างความบันเทิงแก่ผู้ชมผ่านเสียงร้องและการแสดงอย่างมืออาชีพ เมื่อถึงช่วงกลางเพลงจังหวะดนตรีทิ้งห่างเนื้อร้อง เธอก็หายวับพร้อมกับแสงไฟสลัวหลากสีเข้าไปหลังม่านของการแสดง…

dragqueen512
dragqueen513

เพียงกรอบที่ฝังรากมาเนิ่นนาน

Dressed Resembling A Girl เป็นความหมายเต็มจากคำว่า Drag ที่หมายถึง “แต่งตัวเหมือนผู้หญิง” ซึ่งดูจำกัดกรอบมากเกินไปในเรื่องเพศ เพราะความเป็นจริง Drag ไม่ได้บอกให้คุณต้องเป็นเพศใดเพศหนึ่ง ปัจจุบันคำนี้กลับมีความหลากหลายมากกว่าที่เราจะนิยามหรือให้ข้อจำกัดกรอบได้ชัดเจน

แต่เมื่อย้อนกลับไป ๒๐ กว่าปี การเป็น “แดรกควีน” ก็จำกัดความเพียงว่าเป็นการแต่งกายเลียนแบบดารา นักแสดงที่มีชื่อเสียง รวมถึงเลียนแบบน้ำเสียงและกิริยาท่าทางของคนคนนั้นซึ่งมุ่งเน้นที่เพศหญิงเป็นส่วนใหญ่

แต่สำหรับสองคนนี้มองเห็นความแปลกต่างที่มากกว่าความหมายในวงล้อม

สุภัทรภน กสิกรรม หรือ “เดียริส ดอลล์ (Dearis Doll)”-ชื่อในวงการแดรกควีน อดีตหนุ่มนักร้องเดินสายที่ค้นหาตัวเองผ่านการแต่งตัวเป็นหญิงเพื่อเลี้ยงชีพ ปัจจุบันนอกจากเป็นแดรกควีนอาชีพ เขายังเป็นผู้ดูแลธุรกิจฟาร์มกุ้งของครอบครัวที่จังหวัดนครปฐม

แม้สุภัทรภนจะเข้าสู่วงการแดรกควีนเพื่อค้นหาตัวเอง แต่นอกเหนือจากนั้น สำหรับเขามันคือการสร้างความบันเทิงด้วย

ส่วน ธนิสร เฮงสุนทร หรือชื่อ “แดรกควีนแอนเน่ เมย์วอง (Annee Maywong)” อดีตข้าราชการหนุ่มที่ผันตัวมาทำงานโชว์เต็มตัว กับความสามารถในการเป็นนักกีฬาลีลาศที่คว้ารางวัลมากว่า ๑๐ รางวัลตั้งแต่เด็ก เขามองว่าการเป็นแดรกคืองานศิลปะ

“แดรกคืองานศิลปะทุกแขนง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกสิ่งไหนมานำเสนอ”

รูปแบบของคนที่เป็นแดรกไม่ได้มีเพียงแต่งตัวเลียนแบบดารานักร้องเหมือนยุคเก่า แต่เป็นการสร้างตัวตนใหม่เพื่อใช้แสดงหน้าเวที

“เดียริส ดอลล์” ถูกสร้างจากความสามารถเดิมของสุภัทรภนในด้านการร้องเพลง ให้มีนิสัยตลกร้ายและสวย ไม่เพียงแค่นั้น “แอนเน่ เมย์วอง” ก็สร้างขึ้นมาครั้งธนิสรเข้าร่วมแข่งขันรายการ Drag Race Thailand ss1 ด้วยความบังเอิญและไม่ตั้งใจ ผ่านความสามารถด้านการเต้นลีลาศที่สั่งสมมากว่า ๒๐ ปีในลักษณะนิสัยนิ่ง ร้าย พร้อมชน ซึ่งทั้งสองก็มีเส้นทางทำงานต่างกัน

แดรกส่วนใหญ่จะแสดงเพียงคนเดียว นานทีปีหนหากมีกิจกรรมที่ต้องร่วมกันก็จะแสดงหมู่ไม่เกินห้าคน โดยเน้นสร้างความสุข ความบันเทิง เสียงหัวเราะ ผ่านบทเพลงที่พวกเธอลิปซิงก์ ซึ่งไม่ต่างจากนางโชว์ แต่ถ้าแบ่งแยกลักษณะการแสดงของแดรกควีนและนางโชว์ ก็คงต้องลงรายละเอียดในเรื่องรูปแบบ

“ถ้ามองให้ลึกเราว่าการเป็นแดรกคือใช้ความสามารถของตัวเอง ไม่ว่าจะคุมคนดูให้ดูโชว์เราให้จบ และสร้างโชว์ด้วยตัวเอง ส่วนนางโชว์คือใช้องค์ประกอบรวมเช่นตัวประกอบ ฉาก เสื้อผ้าหน้าผมที่ต้องออกมาเป็นผู้หญิงจริงๆ อยู่บนเวที” “แอนเน่ เมย์วอง” พูดพร้อมรอยยิ้ม

สำหรับแอนเน่ หากมองในภาพรวม แดรกหรือนางโชว์ก็จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เพราะใช้ความคิดสร้างสรรค์ เสียงเพลง ดนตรี การแต่งหน้าทำผม ชุดการแสดง องค์ประกอบต่างๆ ในการประกอบอาชีพ

“จริงๆ ละครนอกในประเทศไทยที่ฝังตัวมาตั้งแต่สมัยอยุธยาก็จัดเป็นแดรก เพียงแต่เราไม่ได้จำแนกกลุ่ม แยกออกมาให้เห็นชัด”

แม้ตามหลักฐานที่ปรากฏการแสดงละครนอกในปัจจุบันจะเปลี่ยนไป ด้วยการให้เพศหญิงมีส่วนร่วมในการแสดงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่หากย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา การแสดงละครนอกที่มีชื่อเสียงของสามัญชน ก็จัดอยู่ในกลุ่มแดรกควีนได้เช่นกัน ตามความหมายกว้างๆ ที่จำกัดกรอบเก่าไว้ว่า ชายแต่งกายเป็นหญิง ผ่านการแสดงที่เรียกเสียงหัวเราะและมอบความบันเทิงแก่ผู้ชมเคล้าคลอกับเสียงดนตรี

เช่นเดียวกับแดรกที่มอบความสุข ความบันเทิงผ่านงานศิลปะยามค่ำคืน

dragqueen514
dragqueen515

หลังม่านหลังแสงไฟ

หลังการแสดงที่ร้าน Maggie Choo’s ในค่ำคืนวันอาทิตย์สิ้นสุดลง แดรกควีนทั้งหมด ๑๐ คนจะได้รับโจทย์ใหม่ในวันพฤหัสฯ พร้อมรู้คิวงานว่าใครบ้างจะได้ขึ้นโชว์ในอาทิตย์ต่อไป

การโชว์ทุกครั้งมีเพียงหกคนที่จะได้ขึ้นโชว์ โดยแบ่งเป็นสามรอบ รอบละสองโชว์ทุกๆ ต้นชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่มจนถึงเที่ยงคืนของอีกวัน และวนเวียนเช่นนั้นทุกสัปดาห์

เหล่าแดรกควีนมีระยะเวลาเตรียมตัวสำหรับโชว์ครั้งต่อไปเพียง ๓ วัน

“ทุกครั้งที่ได้โจทย์มามันกดดันนะ เพราะมีแต่โจทย์แปลกๆ” เดียริสเอ่ยพลางหัวเราะเบาๆ

โจทย์แปลกๆ นั้นมาจาก ปันปัน นาคประเสริฐ หรือชื่อในวงการแดรกควีนคือ “แพนไจน่า ฮีลส์ (Pangina Heals)” หัวหน้าแดรกควีน และพิธีกรหลักในร้าน Maggie Choo’s ซึ่งปัจจุบันปันปันออกมาเปิดร้านโชว์ของตัวเองคือ House of HEALS (ข้อมูลเพิ่มเติมใน ค.ศ. 2021)

พวกเธอจะหาข้อมูลก่อนว่าเพลงที่จะนำมาโชว์นั้นมีเพลงไหนบ้างสามารถสื่อความหมาย และเข้ากับโจทย์ได้ ทุกคนต่างมีกลเม็ดเคล็ดลับสับขาหลอกต่างๆ กัน บ้างหาแรงบันดาลใจจากโซเชียลมีเดีย บ้างหาจากสิ่งที่ตนถนัดและชื่นชอบ บางคนหาจากสิ่งใกล้ตัวโดยไม่คิดต่างจากโจทย์ที่ได้รับ

เมื่อค้นหาข้อมูลเรียบร้อย ขั้นต่อไปคือคิดต่อยอดโดยนำเพลงนั้นๆ มาตัดต่อแทรกเสียง ฟ้าฝน ลมพายุ สัพเพเหระตามที่พวกเธอต้องการ ใส่ลงไปในห้องเพลงว่างๆ เพิ่มความตื่นเต้น เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกสนุกสนาน

การสร้างโชว์แต่ละครั้งไม่เพียงต้องหาข้อมูลให้ตรงกับโจทย์ แต่ยังมีการคิด วิเคราะห์ตลอดเวลา

“บางทีถ้าเล่นเป็นตัวศิลปินต้องทำการบ้านอย่างหนัก ต้องวิเคราะห์ หาข้อมูล ดูรายละเอียดต่า ๆ ให้เหมือนคนคนนั้นจริงๆ”

เพื่อให้ผู้ชมได้รับชมผลงานคุณภาพที่ออกมาจากหัวใจ

การเลือกซื้อของที่ต้องใช้ เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอางใหม่ๆ พวกเธอก็จะคิดต่อยอดว่าการลงทุนแต่ละครั้งในโชว์ใหม่นั้นต้องคุ้มค่า นำไปประยุกต์ใช้ในโชว์ครั้งต่อๆ ไปได้

“ทุกวันนี้สะดวก เวลาซื้อของเราจะเลือกชิ้นของเล็กๆ ที่จำเป็น สามารถแกะติดกับโชว์อื่นได้ ถือเป็นการสะสมของด้วย”

หากย้อนกลับไปเมื่อ ๒๐ ปีก่อน การเป็นแดรกล้วนยากลำบากยิ่ง กว่าจะออกมาเป็นหนึ่งโชว์ ขั้นตอนทำงานต้องลงรายละเอียดอย่างลึกซึ้ง ทั้งฟังเพลงของบุคคลที่จะเลียนแบบไม่ต่ำกว่าร้อยรอบเพื่อเข้าใจจังหวะ อารมณ์เพลง นั่งฟังเพลงจากเครื่องเล่นเทป กรอกลับไปกลับมา จดเนื้อเพลงเป็นภาษาคาราโอเกะในกรณีที่ไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศ รวมถึงการทำชุดที่ต้องใช้มือปักและเย็บ พร้อมคิดโชว์ใหม่ให้ตราตรึงใจผู้ชม

การเลียนแบบศิลปินในยุคนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นดารานักร้องที่มีชื่อเสียงทั้ง มาริลิน มอนโร, ทีนา เทอร์เนอร์, วิตนีย์ ฮิวสตัน และอีกหลายๆ คน ซึ่งไม่สะดวกเท่าปัจจุบัน เพราะยุคก่อนต้องอาศัยรูปบนปกแผ่นซีดีเพื่อเดารูปร่าง การแต่งกาย นิสัย คำพูด น้ำเสียง หากกรณีที่แผ่นไม่มีปกต้องเดาถึงสีผิวของศิลปิน เพื่อให้ผลงานออกมาสมบูรณ์

“เสน่ห์การทำงานของแดรกในอดีต เขาทำงานด้วยใจจริงๆ กว่าจะสำเร็จเป็นหนึ่งโชว์มันไม่ง่ายเลย” “แอนเน่ เมย์วอง” พูดยิ้มๆ ให้กับเรื่องเล่าที่เธอได้รับฟัง

โชว์ของพวกเธอไม่เพียงกรั่นกรองจากกระบวนการคิด แต่ยังตราตรึงใจผู้ชม ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความรัก ความทุ่มเท ในผลงานนั้นๆ ด้วย

…เพียงครู่ หลังจากเดียริสเข้าไปหลังม่าน เธอปรากฏตัวอีกครั้งพร้อมเดรสสั้นสีทอง พลางโยกย้ายเรือนร่าง เครื่องประดับบนชุดพลิ้วสะบัดเข้ากับจังหวะเพลงอย่างสนุกสนาน เสียงปรบมือโห่ร้องด้วยความสุขเป็นพลังเชื้อไฟให้กับเธอ

การแสดงเพียง ๓ นาทียังคงดำเนินต่อไป แสงไฟสลัวสลับเปลี่ยนสีตามจังหวะเพลง ผู้คนจากทั่วสารทิศเริ่มเบียดเสียดมาด้านหน้าเวทีเรื่อยๆ

แล้วค็อกเทลในมือก็ค่อยๆ หายไปจากแก้วทีละนิด หลังรับรสฝาดเฝื่อนระรื่นลิ้นมันเริ่มออกฤทธิ์ช้าๆ ทำเอาผู้คนในงานขยับโยกส่ายไปมาตามจังหวะเพลง

เสียงเบสทุ้มบาดหัวใจบนเวทีกับการแสดงอันสั้นของเดียริสจบลง แสงไฟสว่างจ้าในความมืดอีกครั้ง เสียงปรบมือสนั่นทั่วทั้งบาร์ ก่อนที่หนึ่งในแดรกควีนบนเวทีจะเดินลงมาพร้อมกล่องใบเล็กๆ ที่มีคำว่า “TIP” ผู้คนหลากเพศ หลายเชื้อชาติสาละวนหยิบแบงก์ออกจากกระเป๋า เพื่อใส่ลงในกล่อง

ต่อจากนั้นเสียงเพลงสากลจังหวะสนุกสนานก็ดังขึ้น แต่หน้าที่ของแดรกควีนยังไม่จบเพียงการแสดงบนเวที พวกเธอมอบความสุขต่อด้วยการจับไมค์พูดคุยกับผู้คนในงานอย่างมืออาชีพ พร้อมเกมสนุกๆ ร่วมพิชิตแชมเปญขวดโต กับค่ำคืนในบาร์ใต้ดิน…

dragqueen516
dragqueen517

แสงสว่างเฉพาะจุด

ท่ามกลางความมืดมิดในสังคม เมื่อแสงสว่างสาดส่องไปยังจุดใดจุดหนึ่ง หากมีอะไรแปลกไปจากสิ่งที่เรียกว่ามาตรฐาน เป็นเรื่องปรกติที่คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงภาพจำนั้นขึ้นมาทันที เช่นเดียวกับการเป็นแดรกควีน พวกเธอมักถูกมองว่าต้องเป็นเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

แต่ปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไป ไม่ว่าเพศใดต่างก็มองหาหนทางสร้างอาชีพในรูปแบบใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น “เดียริส ดอลล์” ยกตัวอย่างเพื่อนในบาร์ ที่นิยามตนเองว่าเป็นเพศชายมีภรรยาเป็นเพศหญิงและมีลูก อาชีพของเขาก็อาศัยการแต่งแดรกร้องเพลงคล้ายพวกเธอ

“แดรกเหมือนสะพาน…ให้คนดูเข้าถึงเรา เชื่อมต่อกับสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ เพื่อให้ทั้งสองฝั่งเข้าใจกัน”

แม้สังคมจะเปิดกว้างขึ้นในเรื่อง LGBTQ+ แต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจเหตุผลหลายๆ อย่าง นั่นอาจเป็นเพียงแสงสว่างในมือที่เขาเลือกส่องไปโดนมุมมืดบอดในเรื่องไม่สร้างสรรค์ พร้อมปิดกั้นความจริง แสร้งทำหูหนวกตาบอดไม่มองความหลากหลายบนโลก ทั้งที่เราทั้งหมดต่างก็เป็นมนุษย์…เหมือนๆ กัน

สำหรับพวกเธอการยึดอาชีพแดรกเป็นเส้นทางบริสุทธิ์ต่อสังคมในการเลี้ยงชีพตน

“เราแค่อยากให้หลายๆ คนเปิดใจ ไม่ต้องยอมรับเราก็ได้ เพราะสิ่งที่เราทำคือมอบความสุข ความบันเทิง เสียงหัวเราะ พวกเราไม่ต้องการขอพื้นที่เพราะเรามีพื้นที่ของเราแล้ว แต่หากอยากได้ความสุขก็แค่ลองเปิดใจ…มาหาเรา” เดียริสพูดยิ้มๆ

ท่ามกลางความมืดในพื้นที่ทำงานเล็กๆ ของแดรกควีน สถานที่ที่จัดแสดงมีเพียงไม่กี่แห่ง หลักๆ คือ Maggie Choo’s, The Stranger Bar, DJ Station และปัจจุบัน House of HEALS นอกจากนี้ยังมีงานนอกตามสถานที่บันเทิงต่างๆ และสื่อสาธารณะ ทั้งรายการทีวี สื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงหนังสือ บทวิจัยต่างๆ เพียงแต่การชูสิ่งเหล่านั้นขึ้นอยู่กับบุคคล

บนเส้นทางการทำงานในทุกๆ อาชีพมักต้องแข่งขันกันบ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปรกติ สำหรับพวกเธอการแข่งขันดังกล่าวก็เป็นเรื่องของงานเช่นกัน

พวกเธอมักฆ่ากันให้ตายโดยโชว์ความสามารถต่อผู้ชม ด้วยเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม ความสุข ว่าของใครดังกว่า และนอกเหนือจากงานก็คือความรักที่พวกเธอมีให้กัน

“ในสังคมของพวกเราคือการช่วยเหลือกัน เพราะเรารู้สึกว่า…” แอนเน่ยิ้ม เว้นช่วงก่อนพูดต่อ

“มึงมีกันอยู่แค่นี้ ถ้าไม่ช่วยกัน ไม่รักกัน แล้วใครจะช่วย จะมารักมึง”

นั่นคือพลังใจสำคัญต่อการทำงานของพวกเธอ หลายสิ่งอย่างที่ขาดตกบกพร่อง คำแนะนำต่างๆ ในกลุ่มเพื่อน พวกเธอก็ช่วยฉุดรั้งกันขึ้นมาจากปากเหว สร้างรอยยิ้มผ่านความรักในกลุ่มน้อยๆ ก่อนกระจายความรักแก่ผู้คนรอบกาย

dragqueen518
dragqueen519

ศาสตร์ชีวิตอันแตกต่าง

If you can’t love yourself, How in the hell are you gonna love somebody else?

Rupaul

(ถ้าคุณไม่รักตัวเอง คุณจะรักคนอื่นได้อย่างไรรูพอล)

ชีวิตการเป็นแดรกไม่ใช่แค่แต่งหน้าจัดๆ ทำผมใหญ่ๆ ใส่ชุดแปลกๆ แล้วแสดงโชว์ได้เลย หากต้องผ่านบททดสอบต่างๆ ในชีวิต ผ่านบทเรียนทีละขั้นตอน บ่มเพาะทักษะและความรู้ให้แข็งแกร่งก่อนจะออกมาเป็นมืออาชีพ

และการเป็นแดรกได้ ทุกคนต้องมีเส้นทางและลายเส้นตัวเองชัดเจน ไม่เพียงต้องรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดสิ่งไหน ที่สำคัญต้องรักตัวเองให้มากพอที่จะมอบความรักแก่คนอื่นได้

เพราะทางเดินข้างหน้าที่รออยู่ล้วนเต็มด้วยขวากหนามหรือโรยด้วยตะปูเรือใบ

สำหรับ “แอนเน่ เมย์วอง” การเป็นนักกีฬาลีลาศตั้งแต่ช่วงประถมฯ จนถึงปัจจุบัน เธอผ่านบททดสอบและการแข่งขันมากมาย ทั้งบนเวที นอกเวที แต่กระนั้นก็ยังพลาดท่าตกเวทีอยู่บ่อยครั้ง

เธอจึงนำทักษะความสามารถมาใช้เป็นจุดเด่น ส่วนจุดด้อยเรื่องพูดไม่ค่อยเก่ง เธอก็เก็บไว้ในใจ

ไม่เพียงแค่นั้น ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เธอยังเรียนการแสดง ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ และนำมาต่อยอดการเป็นแดรกมืออาชีพของเธอ

ช่วงชีวิตการทำงานข้าราชการของแอนเน่ สิ่งที่เรียนมาหยุดใช้ไปหลายสิบปี ทั้งเรื่องเต้นลีลาศและองค์ความรู้เรื่องการแสดง แต่เธอกลับมาใช้มันเมื่อแสงสว่างที่เรียกว่าโอกาสเปิด กับการแข่งรายการ Drag Race Thailand และงานประจำที่ DJ Station

“การนำศาสตร์ที่เราสนใจ เรารัก ซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัว คือรากฐานที่จะนำมาต่อยอดได้เรื่อยๆ เพื่อปูทางสู่การเป็นแดรกมืออาชีพ”

สำหรับ “เดียริส ดอลล์” เธอมีศาสตร์เฉพาะเรื่องร้องเพลง และมีความสามารถในการพูดให้เกิดเสียงหัวเราะ เธอเล่าว่ากว่าจะมองหาตัวเองเจอ ก็ผ่านบทเรียนมามากพอควร ทั้งคำติฉินนินทาแปะป้ายว่าแปลกต่างจากสิ่งที่เป็น แต่นั่นก็คือพลังในการมีชีวิตเพื่อแสดงให้เห็นว่าความสามารถของเธอไม่น้อยกว่าใคร

นอกจากอาชีพแดรกเดียริสยังเป็นเจ้าของบ่อกุ้งที่เลี้ยงไว้หลายแสนตัวของครอบครัวกสิกรรมในนครปฐม

เวลาว่างพักจากงานโชว์ เธอก็จะพายเรือลำเล็กๆ ซึ่งมีอาหารกุ้งครึ่งกระสอบ ร้องเพลงกล่อมกุ้งน้อยในบ่อพร้อมสาดอาหารลงบ่อกุ้ง และทุกครั้งที่มีงานโชว์เธอก็ใช้ศาสตร์เฉพาะตัว คือร้องเพลงสดบนเวที

“มันคือความสุขและความรักทั้งสองอย่าง ศาสตร์การเลี้ยงกุ้งคือเพื่อทำธุรกิจ ศาสตร์การเป็นแดรกคือมอบความสุขบนเวที”

เส้นทางเดินของแดรกควีนต้องมาจากการชัดเจนในตัวเองและออกมาจากใจ เพื่อทำมันด้วยความรัก มีหลายครั้งเช่นกันที่เดียริส แอนเน่ หรือทุกคน เคยคิดอยากเลิกเป็นแดรกควีน

สาเหตุหลักเกิดจากความเบื่อหน่ายในสิ่งที่ทำอยู่ตลอดเวลา คือแต่งตัวเป็นผู้หญิง เพราะการนั่งจดจ่อหน้ากระจก ๒-๓ ชั่วโมง หรือบางครั้งต้องแต่งเกินกรอบจำกัดเพราะโจทย์งานก็ใช้เวลานาน ๕-๖ ชั่วโมง

นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ตื่นตาสำหรับพวกเธอ จนบางทีก็ทิ้งส้นสูงลงถังขยะไปกว่าสามครั้ง ทิ้งสิ่งของที่รัก และความสามารถทั้งชีวิตไปเฉยๆ

การมอบความสุขให้ผู้อื่น บางทีคนที่มอบก็ยังไม่มีความสุขเท่าที่ต้องการ แต่ก็แค่ความคิดชั่วครู่ วูบขึ้นแล้วหายไป ด้วยได้รับพลังใจจากเหล่าแฟนคลับ

ผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการแสดงของแดรกจะต้องยืนลิปซิงก์อย่างเดียว แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะแดรกจะต้องใช้ศาสตร์หลายแขนงมารวมให้เป็นหนึ่ง ผ่านการโชว์เพียง ๓-๕ นาที

“ศาสตร์ของการลิปซิงก์คือศาสตร์ชั้นสูง เพราะต้องใช้ทุกอย่างผ่านการแสดง”

“แอนเน่ เมย์วอง” เล่าว่า การลิปซิงก์ได้นั้นไม่ใช่เรื่อง่าย ต้องฝึกไม่รู้กี่ร้อยรอบ ผ่านประสบการณ์นับพันครั้ง เพราะการแสดงหนึ่งโชว์ไม่จำเป็นต้องยืนนิ่งๆ บนเวทีกับเสียงเพลง แต่ต้องขยับตัวโยกย้ายเรือนร่างตามจังหวะดนตรี

“มันคือการใช้ทักษะ งานของเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา”

การยืนบนส้นสูง แบกรับน้ำหนักทรงผมขนาดใหญ่ พร้อมเครื่องแต่งกายมากล้นตามฉบับแดรกควีน รวมถึงทักษะเฉพาะตน เช่น ตีลังกา ฉีกขา ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง และหลายครั้งแดรกต้องโหนตัวจากที่สูง ขยับปากตามเนื้อร้อง และแสดงออกผ่านสีหน้าให้เข้ากับอารมณ์เพลง

มองผ่านๆ อาจคิดว่าสวยงามและดูไร้สาระ แต่การแสดงหนึ่งครั้งนั้นนอกจากใจรัก ต้องผสานศาสตร์ความรู้ต่างๆ ให้เป็นผลงานอันตรึงใจผู้ชม

dragqueen5110
dragqueen5111
dragqueen5112

ศิลปะก่อนการแสดง

เกือบ ๒ ชั่วโมงเต็มในห้องแต่งตัวกับกระจกบานใหญ่ก่อนการแสดงบนเวทีจะเริ่ม รอยยิ้มบนใบหน้ากับปากสีแดงก่ำระเรื่อ ผ่านการแต่งหน้าที่ต้องใช้ศิลปะชั้นสูงจัดระบบความสวยงาม

สำหรับแดรกการแต่งหน้าและการแต่งตัวคือการสร้างสิ่งใหม่ให้ยิ่งใหญ่และมากกว่าเท่าตัว

เริ่มตั้งแต่เก็บคิ้วด้วยกาวลบคิ้ว กลบหนวดเข้มให้เรียบเนียน ต่อด้วยเก็บกรอบหน้าตามต้องการด้วยรองพื้นหลายเฉดสี สะบัดแปรงเติมแป้งฝุ่นเพื่อล็อกโครงสร้างจากการไล่ระดับสีบนใบหน้าไว้

ก่อนเขียนคิ้ว แต่งตาด้วยสีสันสดชัดตามการแต่งตัว ติดขนตาที่หนากว่าปรกติ ปัดแก้ม เก็บรายละเอียด และทาปากสีแดงระเรื่อเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งทั้งหมดของการแต่งหน้า แดรกมีรูปแบบไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับทักษะของแต่ละคน

ลำดับต่อไปคือใส่วิกผม วิกทอมือจะมีตาข่ายบางๆ เพื่อให้ดูเนียนเรียบคล้ายผมจริง ทากาวลงไปแล้วสวมใส่ บนไรผมเนียนกริบไร้รอยต่อ ก่อนเก็บรายละเอียดอีกครั้งระหว่างใบหน้าและไรผมจากวิกทอมือ เส้นผมทุกเส้นผ่านการดัดลอน บนใบหน้าผ่านการจัดระเบียบอย่างลึกซึ้ง รวมถึงชุดซึ่งตัดเย็บรีไซเคิลขึ้นใหม่ให้ตรงกับโจทย์ในภาพรวม

หลายสิ่งอย่างบนร่างกาย ไม่ใช่เพียงแค่ความงาม หากเป็นงานศิลปะที่แฝงอยู่ในทุกองค์ประกอบ

สำหรับเดียริสและแอนเน่ การเป็นแดรกมืออาชีพ รวมถึงการสื่อสารด้วย

ซึ่งก็คือการสื่อสารในรูปแบบของโชว์ผ่านกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ ผสานศาสตร์การแสดงบนเวที ทั้งเสียงเพลง เสียงร้อง ท่าทางต่างๆ เพื่อสื่อให้ผู้ชมได้มองเห็นและสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของพวกเธอ

“ถ้าเปรียบเราเหล่าแดรกควีนก็เสมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง”

“แอนเน่ เมย์วอง” เล่าเสริมว่า การที่จะออกมาเป็นหนึ่งผลงานได้อย่างลงตัว ยังต้องเด็ดเดี่ยวกับเส้นทางที่เลือก ถึงจะอดทนต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้

ทุกอย่างที่พวกเธอทำจึงไม่ต่างจากการเป็นดารา นักร้อง หรือนักแสดง ซึ่งความสุขที่สุดในการทำงานคือได้รับเสียงปรบมือเมื่อยืนบนเวที

แต่หลายครั้งการแสดงของพวกเธอก็พังไม่เป็นท่า เสียงปรบมือ เสียงหัวเราะที่ต้องการ เงียบกริบ จากรูปแบบโชว์ไม่น่าสนใจและเหตุผลหลายอย่างที่ประกอบกันไม่ลงตัว การพัฒนาตัวเองจึงสำคัญยิ่ง

ความเป็นมืออาชีพของพวกเธอคือรวบรวมศาสตร์และศิลป์ต่า ๆ ผสานพลังกายที่แม้อ่อนล้า ด้วยทุ่มสุดตัวให้กับการแสดงเพื่อสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะและความสุขแก่ผู้ชม

ทุกครั้งที่การแสดงจบลงด้วยเสียงปรบมือก้องกังวาน นั่นคือสัญญาณของรอยยิ้มและความสุขที่พวกเธอต้องการ

“มันคือความสุขเล็กๆ ที่เราสามารถให้คนอื่นได้โดยเราไม่ได้เสียอะไรเลย เพราะมันออกมาจากใจ จากความรักของพวกเรา ทุกครั้งที่อยู่บนเวที”

…หลังกิจกรรมสร้างสรรค์สัมพันธ์ระหว่างเหล่าแดรกควีนและผู้ชมเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นเวลาอันสั้นก่อนถึงเที่ยงคืน โชว์สุดท้ายจบลงด้วยเสียงปรบมือดังสนั่นท่ามกลางความมืด แสงไฟสาดสว่างจ้าบนเวที ก่อนจะค่อยๆ หรี่เป็นแสงสลัว

เพลงสากลหลายเชื้อชาติสลับกันเล่นไม่ขาดช่วง ผู้คนในงานบ้างยืนถือแก้วค็อกเทลรสเฝื่อน บางคนถือขวดเบียร์เย็นยะเยือก พร้อมอาการมึนเมาน้อยๆ และโยกส่ายตามจังหวะเพลง

ส่วนเหล่าแดรกควีนก็มะงุมมะงาหราเข้าไปหลังม่าน เพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเช็ดหน้าเช็ดตา

กระนั้นเสียงปรบมือยังก้องอยู่ในความทรงจำ ประสานจังหวะเต้นของหัวใจ ความสุขเวียนไหลไปทั่วร่าง กรองกลั่นเป็นความรักจากการเป็นแดรกมืออาชีพ ที่เผยผ่านรอยยิ้มของพวกเธอ

หลังเสร็จสิ้นหน้าที่ยิ่งใหญ่ผ่านการมอบความสุข ความบันเทิง และความรัก ในค่ำคืนวันพักผ่อน เหล่าแดรกต่างส่งยิ้มให้กัน โบกมือลาแยกย้าย เพื่อมาพบและมอบความสุขให้ผู้คนอีกครั้งในวันข้างหน้า

เมื่อยามเช้ามาถึง แสงสว่างสาดส่องบนโลกหลากสีสัน พวกเขาหรือเธอยังคงใช้ชีวิตปรกติเหมือนคนอื่นๆ ไม่ได้ยิ่งใหญ่ ไม่มีอำนาจ

เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ท่ามกลางชีวิตอันหลากหลาย

บรรณานุกรม

  • พัชรินทร์ จันทรัดทัต. (๒๕๕๒). “บทบาทและลีลาท่ารำนางเมรีในละครนอก เรื่องรถเสน.”
  • วิทยานิพนธ์ ศศ.ม. (นาฏยศิลป์ไทย). กรุงเทพมหานคร : บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ถ่ายเอกสาร.
  • แพรว. (๒๕๖๑). “Drag คืออะไร? Drag Queen ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง มาทำความรู้จักกันดีกว่าค่ะซิส.” สืบค้นเมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒, จาก https://praew.com/beauty/beauty-survey/148660.html สมถวิล วิเศษสมบัติ. (๒๕๒๕) วรรณคดีการละคร. กรุงเทพมหานคร : อักษรบัณฑิต.