รายงาน : สุเจน กรรพฤทธิ์

Russia-Ukraine War

เกินกว่า 1 เดือนแล้ว นับตั้งแต่กองทัพรัสเซียโจมตียูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 โดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เรียกการโจมตีนี้ว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” (special operation) เพื่อทำให้ยูเครนลดความเป็น “ฟาสซิสต์” และ “นาซี” ขณะที่โลกตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร มองว่านี่เป็น “การรุกรานเต็มรูปแบบ” (Full scale invasion) ต่อรัฐอธิปไตยและเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า แผนเดิมของรัสเซียนั้นคาดว่าจะสามารถยึดเมืองสำคัญของยูเครนได้ภายในเวลาไม่นาน แต่จนถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่าสถานการณ์ไม่เป็นไปตามแผน และชาวยูเครนต่อต้านกองกำลังรัสเซียอย่างเต็มที่จนทำให้การสู้รบยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้ (ปลายเดือนมีนาคม 2022)

ในสงครามทุกครั้ง คนที่เดือดร้อนที่สุดย่อมหนีไม่พ้นพลเรือน และต่อไปนี้เป็นเสียงจาก “พลเมืองยูเครน” ที่ติดอยู่ในประเทศที่ถูกระดมยิงด้วยขีปนาวุธ ปืนใหญ่ และพยายามเอาชีวิตรอดท่ามกลางสถานการณ์เลวร้าย

Russia-Ukraine War

ประวัติย่อของความขัดแย้ง

ยูเครนได้เอกราชหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ.1991 พร้อมอดีตรัฐบริวารโซเวียตอีก 15 ประเทศ ในยูเครนมีพลเมืองที่นิยมทั้งตะวันตกและรัสเซีย โดยเฉพาะด้านตะวันออก มีคนเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่ โดยในช่วงหลังได้รับเอกราช ยูเครนยอมปลดอาวุธนิวเคลียรเพื่อที่จะได้รับการรับรองเรื่องความมั่นคงจากชาติมหาอำนาจ

ปี 2013 รัฐบาลประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช (2010-2014) ใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น ยุติกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) จนเกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนจำนวนมากที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่า โดยในช่วงปลายปี 2013 จนถึงต้นปี 2014 มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมในเคียฟกับกองกำลังความมั่นคง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บก่อนที่ยานูโควิชจะลี้ภัยไปรัสเซีย

คนยูเครนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “Euromaidan/Revolution of Dignity” หรือ “การปฏิวัติไมดาน”

ต่อมา รัฐบาลใหม่ของยูเครนภายใต้การนำของประธานาธิบดีโปรโรเชนโก (Petro Proshenko, 2014-2019) ก็เดินหน้านโยบายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ก่อนที่ช่วงต้นปี ค.ศ.2014 รัสเซียจะใช้กำลังทหารผนวกภูมิภาคไครเมีย (Crimea) ทางใต้ ขณะที่ภูมิภาคโดเนทส์ (Donetsk) และลูฮานส์ (Luhansk) ในเขตดอนบาส (Donbas) ด้านทิศตะวันออก กองกำลังนิยมรัสเซียเข้ายึดอาคารรัฐบาลท้องถิ่นโดยมีพลเมืองที่นิยมรัสเซียสนับสนุน จากนั้นพื้นที่เหล่านี้ก็ประกาศตัวเป็นอิสระและเข้าร่วมกับรัสเซีย ในขณะที่ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ลงโทษรัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ปี 2014-2016 รัฐบาลยูเครนเจรจาหยุดยิงกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีการประชุมที่มี สหรัฐฯ รัสเซีย สหภาพยุโรป และยูเครน เพื่อหาทางบรรเทาสถานการณ์ ทั้งนี้ ยังเกิดข้อตกลงมิ้นส์ (Minsk Protocol) กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน กล่าวถึงการให้ดินแดนเหล่านี้ปกครองตนเอง ทั้งสองฝ่ายจะถอนอาวุธหนักจากแนวหน้า โดยการหยุดยิงตามข้อตกลงนี้เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2015 แต่ก็เกิดการละเมิดนับครั้งไม่ถ้วนโดยฝ่ายรัสเซีย

วิกฤติยังดำเนินต่อไป ประธานาธิบดีคนใหม่คือโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี้ ที่เข้ารับตำแหน่งช่วงต้นปี 2019 ยังคงพยายามแก้ไขปัญหาต่อไป โดยวงเจรจาวงหนึ่งมีฝรั่งเศสและเยอรมันเป็นตัวกลาง ต่อมา เซเลนสกี้ประกาศหยุดยิงกับกลุ่มแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลังช่วงกลางปี 2020 อย่างไรก็ตามยังเกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง และการแก้ปัญหาไม่คืบหน้า

รัฐบาลยูเครนยังคงเดินหน้ากระบวนการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปต่อไป

แต่ต้นปี 2021 รัสเซียส่งกำลังทหารและอาวุธเข้าประชิดพรมแดนยูเครนอีกครั้ง ก่อนที่ปลายปีจะเสนอว่าให้ยูเครนรับรองว่าจะต้องไม่เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ให้นาโต้ลดกิจกรรมทางทหารบริเวณยุโรปตะวันออก ขณะที่สหรัฐฯ ชี้ว่าจะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงหากรัสเซียรุกรานยูเครน ขณะที่นาโต้และชาติตะวันตกปฏิเสธข้อเสนออย่างสิ้นเชิง

ก่อนที่รัสเซียจะเปิดปฏิบัติการทางทหารในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ภายหลังความพยายามทางการทูตของทั้งสองฝ่าย (โลกตะวันตก-รัสเซีย) ล้มเหลว และจนถึงตอนนี้ (เมษายน 2022) สงครามยังคงดำเนินต่อไป

Russia-Ukraine War
(ภาพ : The New Yorker)

“หยุดสงครามบ้าๆ นี่เสีย”

Natalia Yakovleva
อาสาสมัครผู้ก่อตั้งแชร์ริตี้ฟันด์ “Kharkiv with you”

“ก่อนเกิดสงคราม คาร์คีฟมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก เรามีงานเทศกาลบ่อยครั้ง นับตั้งแต่เกิดสงคราม ทุกวันคือความยากลำบาก ฉันอาศัยในบังเกอร์หลบภัยแห่งหนึ่งกับครอบครัวอีก ๓ ครอบครัว พยายามโทรหาญาติเพื่อถามข่าวคราว บางช่วงเมื่อการโจมตีเบาลง ร้านค้ากลับมาเปิดชั่วคราวช่วงสั้นๆ เราพยายามไปหาเสบียงแต่ก็อันตรายมาก พวกเขายิงทำลายมหาวิทยาลัย โบสถ์ พลเรือนไม่มีอาวุธ

“พวกเขายิง ยิง และยิงทุกอย่าง โปรดร่วมกันกดดันเพื่อหยุดสงครามบ้าๆ นี้เสียที ที่นี่ชาวเมืองหวาดกลัวกันมาก เราต้องการสร้างเมืองที่สวยงามให้กลับคืนเหมือนเดิม เรื่องเจรจาหยุดยิง รัสเซียโกหกเสมอเวลาเจรจา ฉันเคยไปอยู่ที่นั่นและรู้ว่าพวกเขาเป็นอย่างไร”

Russia-Ukraine War
(ภาพ : wikwmedia)

“ผมไม่มีทางเลือก”

Oleksiy Vasylevskiy

“ผมเข้าร่วมกองกำลังรักษาดินแดนตั้งแต่ 24 ชม. แรกของการโจมตี แม้ว่าพ่อกับแม่จะขอให้ผมออกจากเมือง สองวันแรกทุกอย่างเปลี่ยนไป พวกเราเคยใช้ชีวิตปรกติ ตื่นมาก็ไปซื้อของ ทำมาหากิน แต่ตีสี่ของเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เมื่อกระสุนนัดแรกดังทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ผมไม่มีทางเลือก ตอนนี้ผมไม่กลัวอะไรอีกแล้ว ผมสูญเสียเพื่อนร่วมรบในแนวหน้าไม่ไกลจากเมืองหลวงเมื่อห้าวันก่อน ตอนนี้เราพยายามส่งเสบียงอาหารและยาให้กับพลเรือน มีหลายองค์กรพยายามส่งของเหล่านี้เข้ามาช่วยเรา

“พวกเราจะพยายามปกป้องเมืองให้ได้มากที่สุด ผมมีเพื่อนในกรุงมอสโก เขาเองก็ไม่ยอมรับนโยบายการทำสงครามของประธานาธิบดีปูตินเช่นกัน ผมเชื่อว่าในแง่ประวัติศาสตร์เราชนะรัสเซียไปแล้ว

“ทหารครึ่งหนึ่งตอนนี้ยังต้องรบโดยไม่มีเกราะ สงครามยังเปิดเผยเบื้องลึกของคนเรา องค์กรหลายแห่งก็นำเงินไปเป็นของตัวเอง บางองค์กรก็ค้าอาวุธ”

Russia-Ukraine War
(ภาพ : Sky News)

“ผู้ลี้ภัยบางคนยังร้องไห้จนตอนนี้”

Evgeniy Moissev
ผู้ก่อตั้งองค์กร “GoFriends save UA”

“ผมมาจากกรุงเคียฟ มีครอบครัว มีภรรยาและลูก 2 คน หนีระเบิดออกมาจากบ้าน ตอนนี้เป็นอาสาสมัคร องค์กรช่วยอพยพผู้ลี้ภัยสงคราม โดยเฉพาะเด็กกำพร้าและผู้พิการ เราเตรียมที่พักชั่วคราวระหว่างทาง ตอนที่สนทนานี้ผมมีผู้อพยพอยู่ด้วยราว 150 คน แต่จำนวนรวม เราช่วยคนออกไปได้ราวสามพันคนแล้ว และได้รับความช่วยเหลือจาก NGO เยอรมันเรื่องยานพาหนะ

“ตอนนำเด็กกำพร้าออกจากเขตสู้รบในเมืองคาร์คีฟ เราต้องนำเด็กที่เดินไม่ได้ออกมา 56 คน ครูอีกจำนวนหนึ่ง คนเหล่านี้หลบอยู่ในโรงยิมแห่งหนึ่งที่มีห้องน้ำห้องเดียว ตอนเอาพวกเขาออกมาคนเหล่านี้ร้องไห้ตลอดเวลา เราพาพวกเขาไปที่สถานีรถไฟ รัสเซียก็ยังไม่เลิกทิ้งระเบิด เราต้องเอาเด็กไปซ่อนในตู้รถไฟ ต้องอุ้มพวกเขาทีละคนๆ ปรกติเด็กเหล่านี้ไม่ควรนั่งกับที่เกิน 1 ชม. แต่เราต้องไม่สนใจเรื่องนี้ เพราะมันคือทางรอดเดียวของเรา

“ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องที่ยูเครนต้องการ ความช่วยเหลือเรื่องจิตวิทยาด้านภาวะทางจิตใจก็สำคัญมาก คนจำนวนมากช็อกกับสิ่งที่เจอ บางคนยังร้องไห้ไม่หยุดจนตอนนี้ สำหรับองค์กรของผม เรายังทำงานต่อไป พลังอย่างเดียวคือคนยูเครนที่เป็นหนึ่งเดียวกันและช่วยเหลือกันในยามยาก บางครั้งผมก็ร้องไห้ไปกับคนที่ทำงานด้วยกัน”

voiceukraine05
(ภาพ : WIRED)

“ห้องผ่าตัดถูกทำลาย”

Eliza Grankov

“ผมเป็นหมอ มาทำงานในมมาริอูโปลตั้งแต่ปี 2017 ก่อน 24 กุมภาพันธ์ 2022 ผมไม่รู้จักสงคราม รู้ข่าวแค่มีทหารรัสเซียอยู่บริเวณชายแดน ตอนเกิดสงครามวันแรกผมก็ทำงานใน รพ. และหลังจากนั้นการโจมตีเกิดขึ้นตลอดในขณะที่ผมคุยกับพวกคุณก็ยังได้ยินเสียงไซเรนเตือนภัยทางอากาศดังอยู่ ในมาริอูลโปลตอนนี้ อาวุธของรัสเซียทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมือง เราต้องอยู่กันแบบนี้มาพักหนึ่งแล้ว

“เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สาม เมืองโดนล้อมอาหารและเวชภัณฑ์เริ่มขาดแคลน เราออกไปนอกเมืองไม่ได้ มีการยิงทำลายตึก รพ. ห้องผ่าตัด สุดท้ายไม่มีหน้าต่างบานไหนของ รพ. เหลืออีก เราช่วยผู้ป่วยไม่ได้ ทำได้แค่นั่งเฉยๆ ในห้องผ่าตัดที่ถูกทำลาย ไม่มีน้ำร้อน ไฟฟ้า ทหารรัสเซียยึด รพ. ในวันที่ 13 มีนาคม หมอกลายเป็นตัวประกัน จะออกจาก รพ.ก็อาจโดนยิง สุดท้ายผมก็หนีออกมา พวกรัสเซียอ้างว่าจะมาปลดปล่อยพื้นที่แถบนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่อิสรภาพแน่นอน”

voiceukraine06

สามารถส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมให้กับชาวยูเครนด้วยช่องทางดังต่อไปนี้ (ภาพ : Financial Times)

  • ข้อความเหล่านี้เกิดจากการวิดีโอคอลไปยังแหล่งข่าวโดย ชุมชนชาวยูเครนในกรุงเทพฯ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2022 ต่อหน้านักข่าวไทยจำนวนหนึ่งที่เข้าร่วมการแถลงข่าวที่โรงแรมพูลแมน G สีลม กรุงเทพฯ
    ** ติดตามอุทาหรณ์จากสงครามได้ใน สารคดี ฉบับ Soft Power