เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


Luzhniki stadium : จากสงครามเย็นถึงเจ้าภาพฟุตบอลโลก

ลุซนิกิสเตเดียม (Luzhniki stadium) ตั้งอยู่ในกรุงมอสโก ริมแม่น้ำมอสโก ทำหน้าที่เป็นสนามหลักประจำการแข่งขันฟุตบอลโลก “รัสเซีย ๒๐๑๘”

เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๙๑ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตออกแถลงการณ์ยกเลิกตำแหน่งประธานาธิบดีรวมทั้งยอมรับการสิ้นสุดการรวมศูนย์อำนาจบริหารประเทศของรัฐบาลกลาง ส่งต่ออำนาจให้รัฐบาลรัสเซียที่มีประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินเป็นผู้นำ รุ่งขึ้นชาติยักษ์ใหญ่แห่งค่ายคอมมิวนิสต์ก็ถึงคราวล่มสลาย กลายเป็นรัฐเอกราชมากมาย อาทิ รัสเซีย ยูเครน อาร์เมเนีย อาร์เซอร์ไบจาน ฯลฯ

ก่อนสิ้นสุดยุคสงครามเย็นเมื่อต้นทศวรรษที่ ๙๐ สหภาพโซเวียตจัดเป็นอภิมหาอำนาจของโลกทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ ด้านการกีฬาเคยผ่านการทำหน้าที่เจ้าภาพมหกรรมกีฬาแห่งมนุษย์ชาติอย่างโอลิมปิกฤดูร้อน ค.ศ.๑๙๘๐ มาแล้ว

เมื่อครั้งสหภาพโซเวียตรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ค.ศ.๑๙๘๐ ลุซนิกิสเตเดียมถูกใช้เป็นสนามกีฬาหลักประจำการแข่งขัน เป็นทั้งสถานที่จัดพิธีเปิดและพิธีปิด

ลุซนิกิสเตเดียม (Luzhniki stadium) ตั้งอยู่ในกรุงมอสโก ริมแม่น้ำมอสโก ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยมอสโก คำว่า “ลุซนิกิ” หมายถึงทุ่งหญ้าโล่งกว้างบนที่ราบลุ่มแม่น้ำสอดรับกับสภาพพื้นที่ตั้งของสนามที่อยู่ริมแม่น้ำมอสโก เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ.๑๙๕๕ แล้วเสร็จและเปิดใช้งานครั้งแรกวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๕๖ เดิมชื่อว่า สนามกีฬากลางเลนิน (Central Lenin Stadium ค.ศ.๑๙๕๖-๑๙๙๒) ตามชื่อ วลาดีมีร์ เลนิน นักปฏิวัติคนสำคัญของสหภาพโซเวียต ผู้นำพรรคบอลเชวิกยกเลิกระบบกษัตริย์ ล้มล้างรัฐบาลของจักรพรรดินิโคลัสที่ ๒ เริ่มต้นรัฐสังคมนิคมหรือคอมมิวนิสต์

หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปลายปี ค.ศ.๑๙๙๑ สนามกีฬาหลักของสหภาพโซเวียตและรัสเซียถูกเปลี่ยนชื่อเป็นลุซนิกิสเตเดียม หากแต่รูปปั้น วลาดีมีร์ เลนิน “เอกบุรุษ” แห่งแดนหลังม่านเหล็กยังคงโดดเด่นอยู่บริเวณหน้าสนาม เช่นเดียวรูปปั้นของเขาตามสถานที่ต่างๆ มีคาดว่ามีมากกว่า ๖,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ

luzhniki02

เดิมรองรับแฟนบอลได้นับแสนคน แต่หลังจากสนามฟุตบอลในยุโรปยกเลิกตั๋วยืน และได้รับการบูรณะ ทุกวันนี้รองรับแฟนบอลได้ ๘๑,๐๐๐ ที่นั่ง

เมื่อสหภาพโซเวียตแบ่งออกเป็นประเทศต่างๆ รัสเซียซึ่งถือเป็นประเทศผู้นำของชาติอดีตสหภาพโซเวียตยังคงได้รับความไว้วางใจให้จัดการแข่งขันกีฬาสำคัญระดับโลกหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลยูฟ่าคัพนัดชิงชนะเลิศปี ค.ศ.๑๙๙๙ ฟุตบอลยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศ ค.ศ.๒๐๐๘ การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก ค.ศ.๒๐๑๓ ซึ่งต่างจัดขึ้นที่ลุซนิกิสเตเดียม

นอกจาก “รับใช้ชาติ” ด้วยการทำหน้าที่เป็นสนามเหย้าให้กับทีมชาติสหภาพโซเวียตและทีมชาติรัสเซียมายาวนาน ลุซนิกิสเตเดียมยังเปิดให้สโมสรฟุตบอลของรัสเซียที่ตั้งอยู่ในกรุงมอสโก เช่น สปาตัก มอสโก ซีเอสเอเค มอสโก เช่าเป็นสยามเหย้า ลงเล่นฟุตบอลลีกภายในประเทศและฟุตบอลสโมสรยุโรปด้วย

สถิติผู้ชมสูงสุดของลุซนิกิสเตเดียมเกิดขึ้นในการแข่งขันระดับชาติ เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๑๙๖๓

ทีมชาติสหภาพโซเวียตอยู่ในฐานะ “แชมป์ยุโรป” เพิ่งคว้าแชมป์ฟุตบอลแห่งชาติยุโรป ค.ศ.๑๙๖๒ หรือ “ยูโร ๖๒” มาหมาดๆ ลงเผดียงแข้งกับทีมชาติอิตาลีผู้มาเยือน

ยุคนั้นสนามฟุตบอลในยุโรปยังอนุญาตให้แฟนบอลยืนชมการแข่งขัน สนามฟุตบอลจึงสามารถรองรับแฟนบอลได้มากกว่ายุคปัจจุบันที่ตั๋วทั้งหมดเป็นตั๋วนั่ง
บันทึกว่าการแข่งขันนัดนั้นมีผู้เข้าชมสูงถึง ๑๐๒,๕๓๘ คน ผลการแข่งขันสหภาพโซเวียตชนะอิตาลี ๒-๑ ประตู

luzhniki03

แสตมป์ที่ระลึกหลังสหภาพโซเวียตรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ค.ศ.๑๙๘๐ โดยมีลุซนิกิสเตเดียมทำหน้าที่เป็นสนามกีฬาหลัก เวลานั้นยังใช้ชื่อว่า “สนามกีฬากลางเลนิน” (Central Lenin Stadium)

แม้เคยรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาครั้งสำคัญมาหลายครั้ง แต่การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกน่าจะเป็นความปรารถนาสูงสุดของชาวรัสเซีย โดยเฉพาะ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียผู้ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำประเทศในช่วงรอยต่อสหัสวรรษใหม่

หลังจากรัสเซียตั้งหลักได้ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผู้นำประเทศคนนี้เห็นว่าฟุตบอลโลกน่าจะเป็นเวทีที่ช่วยให้ผู้คนทั้งโลกรู้จักและยอมรับรัสเซีย จึงเดินเรื่องเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ใช้สนามหลักคือลุซนิกิสเตเดียมในกรุงมอสโก

เดือนธันวาคม ค.ศ.๒๐๑๐ ฟีฟ่าจัดงานประกาศผลเจ้าภาพฟุตบอลโลก ๒๐๑๘ อย่างเป็นทางการ รัสเซียเอาชนะตัวเต็งอย่างอังกฤษได้อย่างพลิกความคาดหมาย นำมาซึ่งภาระงานยิ่งใหญ่ที่รอคอยอยู่ตรงหน้า คือการปรับปรุงสนามกีฬาทั้งที่มีอยู่แล้วและสร้างสนามใหม่เพื่อรองรับฟุตบอลโลก

เมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๘ ลุซนิกิสเตเดียม เคยถูกปรับปรุงขนานใหญ่เพื่อรองรับการแข่งขัน ฟุตบอลยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศ ระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเชลซี ในปีเดียวกันสมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า เข้าสำรวจสนามและจัดให้ลุซนิกิสเตเดียมอยู่ในระดับ “UEFA Category 4 Stadium” หรือ “สี่ดาว” อันเป็นระดับสูงสุดของสนามฟุตบอลตามมาตรฐานสมาพันธ์ฟุตบอลยุโรป

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัสเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก ลุซนิกิสเตเดียมต้องทำหน้าที่เป็นสนามฟุตบอลหลัก เป็นทั้งสถานที่จัดพิธีเปิดและปิดการแข่งขัน ในปี ค.ศ.๒๐๑๓ เจ้าภาพจึงตัดสินใจบูรณะสนามครั้งใหญ่ มีการทุบอัฒจันทร์ นำลู่วิ่งออกเพื่อบรรยากาศการเชียร์ที่เข้มข้น รวมทั้งปรับปรุงระบบพลังงาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟแบบ LED ทั่วทั้งสนามและใช้เทคโนโลยีประหยัดการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพจนแล้วเสร็จเมื่อปลาย ค.ศ.๒๐๑๗

จากสนาม “ชามอ่างยักษ์” กลายเป็นสนามทรงกึ่งโดมทันสมัย ต่อเติมหลังคาคลุมอัฒจันทร์ขนาดใหญ่ทุกด้านงดงามยิ่งนักยามประดับประดาแสงไฟสีธงชาติรัสเซียยามค่ำคืน

luzhniki04

แม้เวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไหร่ ชื่อสนามจะเปลี่ยนจากสนามกีฬากลางเลนินมาเป็นลุซนิกิ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือรูปปั้น วลาดีมีร์ เลนิน นักปฏิวัติคนสำคัญตั้งอยู่บริเวณหน้าสนาม

ปัจจุบัน ลุซนิกิสเตเดียม มีความจุ ๘๑,๐๐๐ ที่นั่ง นับเป็นสนามสำคัญที่รองรับแฟนบอลได้มากที่สุดในรัสเซีย และมากที่สุดในบรรดา ๑๒ สนามที่ใช้รองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก รัสเซีย ๒๐๑๘

สนามประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นความภาคภูมิใจของชาวรัสเซียทั้งชาติ เป็นประจักษ์พยานแห่งความรุ่งเรืองของทัพนักกีฬาสหภาพโซเวียตในอดีต ที่จะทำหน้าที่รับใช้แผ่นดินเกิดอีกครั้ง ด้วยการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกทั้งหมด ๗ นัด แบ่งเป็นรอบแรก ๔ นัด รอบ ๑๖ ทีมสุดท้าย ๑ นัด รอบรองชนะเลิศ ๑ นัด และรอบชิงชนะเลิศซึ่งเป็นการพบกันระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสและโครเอเชีย

ผลการแข่งขันก็เป็นอย่างที่ทราบกัน…ทัพ “ตราไก่” คว้าแชมป์โลกสมัยที่ ๒ ของตัวเอง ณ ลุซนิกิสเตเดียม