“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๕๕ - นานไปเขาก็ลืม

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ทายาทของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขายที่ดินมรดกแปลงใหญ่ที่สุด พร้อมสิ่งปลูกสร้างสำคัญ คือตำหนักใหญ่ “วังนางเลิ้ง” ให้แก่พระคลังข้างที่ ส่วนที่ดินแปลงย่อยๆ ยังคงเป็นที่พำนักของหม่อมห้ามและทายาทบางท่าน รวมถึงบริษัทบริวารดั้งเดิมต่อมา หลังจากนั้นทางราชการจึงใช้ตำหนักใหญ่เป็นที่ตั้งโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน (ต่อมาคือโรงเรียนการเรือนพระนคร ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยสวนดุสิต) ต่อมาในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เปลี่ยนมาเป็นที่ทำการกรมยุวชนทหารบก สุดท้ายตัวอาคารถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหลังจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๗

เมื่อถึงต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ หรือกว่า ๒๐ ปีหลังจากวันสิ้นพระชนม์ ความรับรู้ของสังคมไทยเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ค่อยๆ พร่าเลือนไปตามกาลเวลา

ภาพถ่ายทางอากาศจากปี ๒๔๘๙ แสดงให้เห็นตำหนักใหญ่ที่เหลือเพียงซากผนังอิฐร้าง ปราศจากหลังคา ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับทำเนียบรัฐบาล แม้เคยมีข้อเสนอให้จัดการซ่อมแซมใช้เป็นสถานที่ราชการอีกครั้ง แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงยังมิได้มีการดำเนินการใดๆ จนปี ๒๔๙๑ กระทรวงศึกษาธิการตกลงซื้อที่ดินแปลงนี้ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนพณิชยการพระนคร ซากตำหนักใหญ่ถูกรื้อลง แล้วแทนที่ด้วยอาคารเรียนสมัยใหม่ เหลือเพียงแนวกำแพงมีใบเสมารอบวังที่ยังคงรักษาไว้

ส่วนศาลของ “เสด็จเตี่ย” ที่คนจีนร่วมกันสร้างถวายใกล้กับวัง ภายหลังการสิ้นพระชนม์ ส่วนใหญ่ก็มีเพียงคนจีนไป “ไหว้เจ้า” กันตามวาระโอกาส

คงเหลือเฉพาะในรั้วกองทัพเรือ ที่ซึ่ง “ความทรงจำ” ว่าด้วยกรมหลวงชุมพรฯ ยังคงตกทอดกันมาแบบ “ปากต่อปาก”

พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ เคยเขียนเล่าไว้หลายครั้งว่า ตั้งแต่เมื่อยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยม ท่านรู้สึกประทับใจกับภาพ “เสด็จเตี่ย” ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเรือที่ลงพิมพ์ในหนังสือ “นาวิกศาสตร์” จนตั้งใจว่าชีวิตนี้ต้องเป็นทหารเรือให้ได้

ท่านเล่าอีกว่า จากนั้นเมื่อเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมนายเรือในปี ๒๔๘๒ จึงได้รับรู้เรื่องราวของเสด็จในกรมฯ มากขึ้นอีก จากปากคำของ “คุณครู”

“…เริ่มด้วยคุณครู ร.ต. วิฑูร มาลัยวงศ์ (ยศในขณะนั้น) ซึ่งกองทัพเรือแต่งตั้งให้มาฝึกทหารราบพวกผม ได้เล่าถึงพระจริยาวัตรของเสด็จในกรมฯ ให้พวกเราฟังในเวลาหยุดพัก ท่านเล่าว่าเสด็จในกรมฯ มิได้ทรงถือพระองค์ว่าเป็นเจ้านายเลย ทรงฝึกหัดและกวดขันนักเรียนนายเรือในสมัยนั้นด้วยพระองค์เอง และทรงปฏิบัติงานทุกชนิดให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่าง โดยไม่คำนึงถึงว่าจะเป็นงานดีหรือเลว สกปรกหรือสะอาด เช่นส้วมตันนักเรียนไม่กล้าล้วง เพราะขยะแขยงต่อความสกปรก เสด็จในกรมฯ ก็ทรงล้วงให้ดู จนพระหัตถ์เปื้อน ‘ของเก่า’ เลอะเทอะ โดยมิได้ทรงรังเกียจ และตั้งแต่นั้นมาไม่มีนักเรียนคนใดกล้าแสดงความขยะแขยงอีก…”

ปากคำจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ จากลูกศิษย์ลูกหาของ “เสด็จเตี่ย” ยิ่งประทับใจนักเรียนนายเรือหนุ่ม แต่ทั้งหมดก็ยังเป็นเพียง “เรื่องเล่า” ที่ฟังกันเองภายในหมู่ทหารเรือไทยสมัยใหม่ ซึ่งอาจนับเนื่องได้ว่าสืบทอดวิชา หรือได้รับ “มรดก” ความรู้มาจากกรมหลวงชุมพรฯ

ทว่ามรดกตกทอดนี้กำลังจะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง นับแต่ช่วงบ่ายวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ เป็นต้นไป


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ