เรื่อง : รักษิณา สิทธิคงศักดิ์
ภาพ : ธัชธรรม โตสกุล
กาลเวลาคร่าความฝัน โรคระบาดพรากความหวัง
ยุคสมัยกลืนกินความรุ่งโรจน์ของคนบางลำพูเพียงชั่วคราว
ก่อนจะผลิบานอีกครั้ง เมื่อชุมชนอุดมสมบูรณ์ด้วยรักและความห่วงใย
“บางลำพู” จากอดีตย่านที่เคยเป็นศูนย์กลางด้านการค้าขายและแหล่งช่างฝีมือเก่าแก่ทั้งเครื่องเงินและเครื่องทอง สู่ย่านแห่งธุรกิจโฮสเทล ที่พักสำหรับผู้หลงใหลในแสงสี เสียงดนตรี และสิ่งมึนเมาเย้ายวนใจยามค่ำคืน ณ ปัจจุบันที่ซบเซา มีเพียงรถบรรทุกขายมังคุด 4 โล 100 และซาเล้งขายน้ำมะพร้าวสดๆ เย็นชื่นใจขับผ่านไปมาในซอยแคบๆ ที่เคยเต็มไปด้วยรอยเท้าของเหล่านักท่องราตรีผมสีบลอนด์
ท่ามกลางความซบเซาเหล่านั้น มีคนบางลำพูคนหนึ่งไม่ยอมแพ้ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยหรือโรคระบาดที่พรากเอายุคทองแห่งการท่องเที่ยวและแหล่งบันเทิงไปจากย่าน คนบางลำพูที่ไม่ได้เกิดที่บางลำพูยืนหยัดขึ้นอีกครั้ง ด้วยแรงผลักดันจากกลุ่มเยาวชนบางลำพู
มาเฉิดฉายที่บางลำพู
“การที่คุณเป็นคนต่างจังหวัด แต่คุณโตที่นี่ สร้างครอบครัวที่นี่ บางลำพูก็เป็นบ้านของคุณเหมือนกัน” แจ้-แก้วใจ เนตรรางกูล สะใภ้บางลำพูเล่าด้วยเสียงดังฟังชัด แววตาของเธอมุ่งมั่นและเปล่งประกายเสมอเมื่อพูดถึงชีวิตที่บางลำพู
แก้วใจเล่าว่าเธอเป็นลูกครึ่ง พ่อเป็นคนกรุงเทพมหานคร แม่เป็นคนเชียงใหม่ เธอใช้ชีวิตวัยเยาว์ที่อุบลราชธานี ยังไม่ทันเรียนจบปริญญาตรีก็เข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ และได้พบรักกับหนุ่มบางลำพู เวลา 35 ปีที่ย่านเก่าแก่แห่งนี้ทำให้เธอพูดได้อย่างเต็มปากว่า “ฉันเป็นคนบางลำพู”
แก้วใจมีชื่อเล่นหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น “มิส” “มาดาม” หรือแม้แต่ “ไฮ” ซึ่งอาจฟังไม่คุ้นหูสำหรับหญิงไทยวัย 51 ย่าง 52 ทั่วๆ ไป เว้นเสียว่าแก้วใจไม่ใช่หญิงไทยธรรมดาทั่วๆ ไป แต่เธอเป็นเจ้าของธุรกิจโฮสเทลย่านบางลำพูที่มีการจองเต็มทุกวัน จึงไม่แปลกที่ลูกค้าชาวต่างชาติมักเรียกเธอด้วยคำศัพท์แบบฝรั่งอยู่บ่อยๆ
ความรุ่งโรจน์ที่ไม่จีรัง
ย้อนกลับไปเมื่อหน้ากากอนามัยยังไม่ใช่สิ่งจำเป็น บางลำพูเป็นย่านที่คึกคักและแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยว เพราะทำเลที่ตั้งที่อยู่ห่างจากถนนข้าวสารเพียงไม่กี่ก้าว ที่นี่จึงกลายเป็นย่านโปรดของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มักหลบหนีเข้ามาพักผ่อนหลังเผชิญความสนุกสุดเหวี่ยงมาแล้วทั้งคืน แต่ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน โฮสเทลของแก้วใจต้องปิดกิจการลงหลังเปิดได้เพียง 7 เดือน เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่คนทั้งโลกไม่อาจเลี่ยง
“ไม่ไหวเหรอ”… “อือ ไม่ไหว” บทสนทนาสั้นๆ ระหว่างแก้วใจและเพื่อนร่วมอาชีพแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจท่องเที่ยว การปิดกิจการของโฮสเทลย่านบางลำพูระบาดเร็วราวกับเชื้อไวรัส ภาพรถบรรทุกขนโต๊ะ เก้าอี้ ที่นอน และเฟอร์นิเจอร์สภาพดี จอดเรียงรายหน้าโฮสเทลที่ปิดไฟมืดสนิท เห็นกี่ครั้งก็หดหู่ แก้วใจทำได้เพียงโบกมือลาเพื่อนๆ ที่เคยช่วยเหลือกันมาสมัยธุรกิจยังรุ่งเรือง พวกเขาจากบางลำพูไปแล้ว เหลือเพียงแผ่นป้าย “ให้เช่า” แขวนไว้หน้าประตู พร้อมเบอร์โทรศัพท์
จุดเปลี่ยนชีวิตนักสู้
“ทุกวันต้องรออาหารจากวัด” แก้วใจเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ จากเจ้าของโฮสเทลที่มียอดจองเต็มทุกวัน โรคระบาดทำร้ายเธออย่างสาหัส ไม่ใช่ทางกาย แต่เป็นใจ
หลังปิดกิจการได้ 4-5 เดือน เธอเริ่มมองเห็นว่าคนรอบข้างยังไม่หยุดทำมาหากิน บ้านตรงข้ามขายอาหารตามสั่ง บ้านข้างๆ ขายกาแฟโบราณ กิจการของเพื่อนๆ ยังไปต่อได้ ในขณะที่เธอขาดรายได้และต้องรออาหารแจกฟรีจากวัด แทนที่จะยอมแพ้ให้กับโชคชะตา แก้วใจตระหนักว่าเธอต้องสู้ โดยการลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง
“เอาสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมาเปลี่ยนประเด็น จากที่เคยชอบดูซีรีส์ ก็เก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาสร้างอาชีพ สร้างความแตกต่าง จนเกิดเป็นขนมไร้กังวล” แก้วใจเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ในชีวิต
สมัยเด็กๆ เธอและพี่ชายกินเก่งกันทั้งคู่ แม่ซื้อขนมเลี้ยงไม่ไหวจนต้องหัดทำขนมเอง เพื่อให้ลูกๆ กินอิ่มแบบสบายกระเป๋า พอเห็นลูกๆ กินอย่างเอร็ดอร่อย แม่จึงเริ่มทำขายเป็นอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกล้วยบวชชี ขนมดอกจอก ขนมฝักบัว และขนมไทยอื่นๆ ที่เธอยังไม่ทันได้กล่าวถึง ไม่มากก็น้อย ความทรงจำวัยเยาว์คงมีส่วนนำทางเธอมาสู่อาชีพใหม่ ด้วยการเปิดคาเฟ่และขายขนมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากซีรีส์จีนเรื่องโปรด
ไกด์เด็กผู้ให้กำเนิดขนมเกสรลำพู
“เราเอาต้นลำพูของเราที่ตายไปแล้วมาสร้างเป็นเรื่องเล่ากันไหม” ต้า-ปานทิพย์ ลิกขะไชย ประธานชมรมเกสรลำพู ผู้ริเริ่มโครงการเสน่ห์บางลำพู และปั้น “ไกด์เด็กบางลำพู” กลุ่มเยาวชนที่รู้และเล่าเรื่องบางลำพูได้ทุกซอกทุกมุมแบบที่หนังสือประวัติศาสตร์ก็ทำไม่ได้ ต้าเอ่ยปากชวนแก้วใจแบบทีเล่นทีจริง เมื่อได้เห็นและลองชิมขนมไร้กังวลเป็นครั้งแรก
“ขนมไร้กังวล” เป็นชื่อดั้งเดิมของ “ขนมเกสรลำพู” ที่แก้วใจลองผิดลองถูกมาหลายสูตร โดยมีเหล่าไกด์เด็กอาสาเป็นนักชิมและให้ฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมา บ้างบอกหวานเกินไป บ้างบอกเหม็นกลิ่นแป้ง บ้างไม่ชอบกินมันม่วง แก้วใจเอาคำติเหล่านี้มาปรับปรุงจนได้ส่วนผสมที่ลงตัวในที่สุด เธอใช้แป้งเค้กคั่วกับดอกหอมหมื่นลี้เพื่อไล่กลิ่นสาบแป้ง นำมันเทศ (ใช้มันสีม่วงและสีส้ม) ไปนึ่งให้สุก แล้วบดให้เป็นเนื้อเดียว (แยกสี) เพิ่มความหอมหวานละมุนลิ้นด้วยน้ำตาลอ้อย เสร็จแล้วเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อให้ทุกอย่างเซตตัว
เช้าวันรุ่งขึ้นจึงเริ่มกระบวนการทำไส้ โดยใช้ครีมเทียมผสมนมข้น ปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเล็กเท่านิ้วหัวแม่มือ แล้วเตรียมประกอบตัวแป้งและไส้เข้าด้วยกัน โดยปั้นมันม่วงเป็นก้อนกลมขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของไข่ไก่ จากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงตรงกลางเพื่อเปลี่ยนก้อนมันม่วงกลมดิกให้เป็นถ้วยสำหรับโอบรับไส้ แล้วใช้มันสีส้มที่ปั้นเป็นก้อนกลมขนาดพอๆ กับนิ้วหัวแม่มือปิดทับลงไปเพื่อไม่ให้ไส้หลุดออกมา เสร็จแล้วคลึงให้กลมดิกอีกครั้ง ก่อนจะยัดใส่พิมพ์กดสปริง แล้วตั้งสติให้มั่น ก่อนจะ… “ปึก ปึก ปึก” เสียงกดสปริงสามครั้ง เป็นสัญญาณว่าขนมเกสรลำพูหนึ่งชิ้นได้กำเนิดขึ้นแล้ว
ยุคทองครั้งใหม่ของบางลำพู
ด้วยขนมเกสรลำพูที่ถูกสร้างสรรค์รสชาติและแต่งแต้มเรื่องราวโดยแก้วใจและไกด์เด็ก บางลำพูกลายเป็นย่านที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมาได้อีกครั้ง และครั้งนี้ต่างไปจากเดิม บางลำพูไม่ใช่ย่านที่เพียงแต่ให้บริการห้องพักชั่วคราวเท่านั้น แต่เป็นย่านที่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง มีเหล่าไกด์เด็ก ผู้ที่ภูมิใจในบ้านเกิด และถ่ายทอดเอกลักษณ์ของที่แห่งนี้ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และสัมผัส ผ่านโปรแกรมทัวร์เดินชมสถานที่ต่างๆ ในชุมชน และกิจกรรมสาธิตทำขนมเกสรลำพู ที่ไม่มีสอนที่ไหนนอกจากที่บางลำพู
แก้วใจปรับสูตรขนมเกสรลำพูให้อร่อย ถูกปากคนรับประทาน ในขณะที่ต้าและเหล่าไกด์เด็กช่วยกันใส่เรื่องราวของชุมชนบางลำพูลงไปในขนม ด้วยลายพิมพ์ที่บอกเล่าถึงวัฏจักรของต้นลำพู อันเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ตั้งแต่เป็นต้นอ่อน เติบโต ผลิบาน ร่วงโรย และลาลับไปตามกาลเวลา
“เพราะชุมชนเข้มแข็ง ทุกคนมีท่อน้ำเลี้ยง ทำอะไรก็รุ่ง” แก้วใจกล่าวด้วยความภูมิใจเมื่อเล่าถึงความสำเร็จครั้งใหม่ ขนมเกสรลำพูและกิจกรรมสาธิตทำขนมโดยแก้วใจและไกด์เด็กได้พาสีสันและความอุดมสมบูรณ์กลับมาสู่ชุมชนอีกครั้ง และกำลังจะนำทางย่านบางลำพูไปสู่ยุคทองอีกสมัย