บทนำ/สัมภาษณ์ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ถ่ายภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

 ฯพณฯ อะยิส ลุยซู (AGIS LOIZOU) เอกอัครราชทูตไซปรัส (ถิ่นพำนักที่นิวเดลี)

ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คนทั่วไปนอกวงการการทูตมักเชื่อว่า
การตั้งสถานทูตและแลกเปลี่ยนคณะทูต คือหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสัมพันธ์ว่าอยู่ในระดับใด

แต่หากลองลงลึกไปในรายละเอียด นักการทูตท่านหนึ่งบอกกับ สารคดี ว่า ความเชื่อดังกล่าวนั้นไม่จำเป็นเสมอไป หากประเทศเจ้าของสถานทูตนั้น มีทรัพยากรและกำลังคนจำกัด

ในกรณีของไทย น่าสนใจว่าเรามีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศที่มิได้มีสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ ในเมืองไทยหลายสิบประเทศ

และกลุ่มประเทศเหล่านี้ เป็นประเทศที่น่าสนใจ ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่หลายแห่ง “จิ๋วแต่แจ๋ว”

“สารคดี” มีโอกาสสนทนากับ ฯพณฯ อะยิส ลุยซู (AGIS LOIZOU) เอกอัครราชทูตไซปรัสประจำกรุงนิวเดลี (อินเดีย) ที่ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างไซปรัส-ไทย ทำให้เราเชื่อว่า “ไซปรัส” เป็นมิตรประเทศน่าสนใจไม่น้อย

cyprus02

สาธารณรัฐไซปรัส (Republic of Cyprus) เป็นรัฐที่ตั้งอยู่บนเกาะ (Island State) ที่ตั้งอยู่บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก หากเปิดแผนที่ทวีปยุโรป จะพบว่าในเชิงภูมิศาสตร์ เกาะไซปรัสนั้นตั้งอยู่บริเวณ “ทางแยก” (crossroad) ของ 3 ทวีป คือ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา

ในเชิงประวัติศาสตร์โดยย่นย่อ ไซปรัสได้รับอิทธิพลจากแหล่งอารยธรรมใหญ่มาตั้งแต่ช่วงก่อนคริสต์กาล ไม่ว่าจะเป็นอัสซีเรีย อียิปต์ เปอร์เซีย และกรีกนับตั้งแต่สมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช มีอาณาจักรที่เป็นมหาอำนาจผลัดกันเข้าปกครองเกาะแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะกรีก โรมัน เปอร์เซีย อียิปต์ ออตโตมัน

ตั้งแต่ ค.ศ.1878 อังกฤษได้เข้าปกครองไซปรัสในฐานะอาณานิคมและรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งแรก (ค.ศ.1914) โดยบนเกาะประชากรมีเชื้อสายกรีก (Greek Cypriots) ร้อยละ 77 อีกส่วนหนึ่งคือประชากรเชื้อสายเติร์ก (ตุรเคีย/Turkish Cypriots) ร้อยละ 18 โดยประชากรสองกลุ่มนี้มองอนาคตของเกาะไซปรัสต่างกัน คือ คนเชื้อสายกรีกมองว่าควรรวมกับกรีก คนเชื้อสายตุรเคียมองว่าควรไปรวมกับตุรเคีย ทั้งนี้ ไซปรัสได้รับเอกราชจากอังกฤษใน ค.ศ.1960 อย่างไรก็ตามความเห็นที่ขัดแย้งระหว่างคนสองเชื้อสายทำให้ไซปรัสแบ่งออกเป็นส่วนเหนือกับใต้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1983 โดยทางเหนือมีพื้นที่ร้อยละ 36 ของเกาะ และองค์การสหประชาชาติได้เข้ามาจัดตั้งเขตกันชนขึ้นในเวลาต่อมาเพื่อรักษาสันติภาพ

เกาะไซปรัสส่วนใต้ต่อมาเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป (ค.ศ.2004) เริ่มใช้เงินสกุลยูโรตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 โดยถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายทางการท่องเที่ยวสำคัญของยุโรป เป็นรัฐที่มีกิจการด้านการจัดการท่าเรือ (maritime business) โดดเด่น ประชากรมากกว่าร้อยละ 80 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หลังจากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ก็มีธุรกิจหลายแห่งตัดสินใจมาตั้งสำนักงานที่ไซปรัสมากขึ้น ส่วนเหตุการณ์ระหว่างโซนเหนือกับใต้เริ่มคลี่คลายมากขึ้นหลังจากปี ค.ศ.2003 เป็นต้นมาแม้จะยังรวมชาติกันไม่ได้สมบูรณ์ก็ตาม

ทั้งนี้ ไทยกับไซปรัสได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 โดยไทยใช้สถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงโรม (อิตาลี) ติดต่อกับไซปรัส ในขณะที่ไซปรัสใช้สถานเอกอัครราชทูตที่กรุงนิวเดลี (อินเดีย) ติดต่อกับรัฐบาลไทย โดยทั้งสองฝ่ายแต่งตั้ง “กงสุลกิตติมศักดิ์” ที่เป็นคนท้องถิ่นคอยประสานงานในประเทศทั้งสอง

(รวบรวมข้อมูล : สุเจน กรรพฤทธิ์)

cyprus03

ฯพณฯ อะยิส ลุยซู : ผมเป็นนักการทูตมา 32 ปี ผ่านงานในสถานทูต 7 แห่ง ใน 3 ประเทศหลังสุด รับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต คือที่ เคนยา (ทวีปแอฟริกา) สาธารณรัฐประชาชนจีน และอินเดีย สำหรับผม เป็นเกียรติมาที่มาดูแลความสัมพันธ์กับไทยตั้งแต่ปี ค.ศ.2020

สำหรับคนไทย อาจมองว่าไซปรัสทั้งไกลและใกล้ เพราะเรามีหลายเรื่องที่คล้ายกัน คนไทยกับไซปรัสไม่แตกต่างกันเรื่องความเป็นมิตร รักครอบครัว เคารพผู้อาวุโส อาหารไทยใช้พริก เราก็มีพริกในแบบของเรา โดยส่วนตัวผมสนใจประวัติศาสตร์ของประเทศในทวีปเอเชีย ผมเคยมาเมืองไทยครั้งแรกกับครอบครัวในปี ค.ศ.1988 มีโอกาสเห็นกรุงเทพฯ อยุธยาพัทยา จำได้ดีว่าคนไทยยิ้มเก่ง ต้อนรับคนต่างชาติอย่างอบอุ่น อากาศร้อนไม่ใช่ปัญหาเพราะผมมาจากประเทศที่อากาศอบอุ่น เมืองไทยแทบจะไม่มีอะไรที่ผมไม่ชอบ มีเรื่องเดียวคือผมต้องระวังเรื่องอาหารไทย ถ้าไม่ดูให้ดีจะเจอของที่เผ็ดมาก (หัวเราะ) ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ต่างกับอาหารอินเดียที่ผมต้องระวังในตอนนี้เช่นกัน

cyprus04

ฯพณฯ อะยิส ลุยซู : เมื่อคุณมาจากประเทศเล็กที่มีข้อจำกัดทางงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล แม้ว่าเราอยากจะส่งทูตไปประจำในประเทศที่เป็นมิตรกับเราแค่ไหน ก็ต้องบริหารจัดการด้วยการใช้ทูตหนึ่งคนดูแลเป็นพื้นที่ ผมจำได้ว่าตอนไปประจำที่เคนยา ผมต้องดูแลความสัมพันธ์กับอีก 7 ประเทศในทวีปแอฟริกาด้วย ซึ่งจะกินเวลาและพลังงานมากจนคุณแทบไม่มีเวลาส่วนตัว แต่ผมก็รักงานที่หนักนี้ และตอนนี้ผมประจำที่อินเดียแต่ก็ต้องดูแลความสัมพันธ์กับอีก 8 ประเทศในเอเชียด้วย

cyprus05

ฯพณฯ อะยิส ลุยซู : เราเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันในปี ค.ศ.1980 หลังจากนั้นจนถึงตอนนี้ ระหว่างสองประเทศไม่เคยมีเรื่องที่เป็นปัญหาระหว่างกันแต่อย่างใด แต่แน่นอนว่า แม้ว่าเราจะมีครอบครัว มีเพื่อนที่ดี ย่อมมีหลายเรื่องที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาต่อไปได้ แม้ว่าไซปรัสไม่มีสถานทูตในกรุงเทพฯ แต่เราก็มีกงสุลกิตติมศักดิ์ (คุณปณิธิ วสุรัตน์) ที่กระตือรือร้นในการทำงาน และเราไม่ได้มีกงสุลกิตติมศักดิ์ในทุกประเทศนะครับ

ตั้งแต่โรคโควิดระบาดทำให้เรายังไม่สามารถจัดประชุมร่วมกันได้สะดวกนัก หลังโรคระบาดซาลง ผมจึงพยายามเริ่มต้นกระบวนการนี้อีกครั้ง อย่างน้อยเรามีเรื่องต้องร่วมกันทำมากมาย เช่น ด้านวัฒนธรรม ไทยมีวัฒนธรรมที่น่าสนใจและเราน่าจะแลกเปลี่ยนเรื่องนี้กันมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ผมอยากเห็นนักท่องเที่ยวไทยไปไซปรัสมากขึ้น เราอาจจะเอารำไทยไปที่ไซปรัส และเราอาจเอาเทศกาลภาพยนตร์มาจัดที่ไทย นี่เป็นแนวคิด

ที่ผ่านมาบนเวทีระหว่างประเทศ ไทยกับไซปรัสสนับสนุนกันหลายเรื่องเพียงแต่คนทั่วไปมักไม่ทราบ เราสนับสนุนตัวแทนของไทยหลายครั้ง และไทยก็สนับสนุนเรา

ในส่วนของการท่องเที่ยว เราทั้งคู่เป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเหมือนกัน ไทยมีศักยภาพและจัดการเรื่องท่องเที่ยวได้ดี ผมนับถือนักการทูตของไทยเรื่องนี้มาก อยากให้สองประเทศมีการจัดแคมเปญร่วมกันทางด้านนี้มากขึ้น ท่านกงสุลกิตติมศักดิ์ก็พยายามส่งเสริมเรื่องนี้มาก การเดินทางไปไซปรัสมิใช่แค่การไปเกาะไซปรัสอย่างเดียว แต่คุณจะไปต่อได้อีกหลายประเทศในแถบนั้น ในแง่สถานที่ท่องเที่ยว เรามีร่องรอยอารยธรรมกรีก คุณจะพบวิหารแบบกรีก กระเบื้องโมเสกจากยุคอาณาจักรโรมัน ในไซปรัสคุณยังสามารถไปเที่ยวหาดที่ต่างจากหาดในเอเชีย และใช้เวลาไม่นานไปยังภูเขาที่มีหิมะ มีสกีรีสอร์ทภายในเวลา 40 นาที เราอาจจะเล็ก แต่เรานำเสนอสิ่งที่ประเทศที่ใหญ่กว่าอาจจะนำเสนอไม่ได้

ในแง่ของการท่องเที่ยวเรามีประชากรราวล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวถึงสี่ล้านคน มากกว่าสี่เท่า เราอยากเห็นคนไทยเดินทางไปไซปรัสมากขึ้น เรามีคนไทยในไซปรัสจำนวนหนึ่ง และส่วนหนึ่งไปแต่งงานกับคนไซปรัสและไปเรียนหนังสือ หรือทำธุรกิจ แน่นอนว่าเราอยากเห็นนักลงทุนไทยไปลงทุนในไซปรัสมากขึ้น

เมืองส่วนมากของเราเป็นเมืองเก่า มีหลายส่วนที่ยังได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ ดอกไม้ป่า สัตว์ป่าก็ยังมีมาก นักท่องเที่ยวบางคนก็ไปขี่จักรยานเสือภูเขา เอาเรือสำราญไปเทียบท่า เพราะเรามมีแสงแดแทบตลอดปี ฤดูใบไม้ผลิ ส้มออกผล ก็ไปเก็บได้ นั่นคือชีวิตผมสมัยเด็กๆ คนไปที่นั่นจะประทับใจเรื่องอาหารมาก

ในไซปรัสยังมีโอกาสทางธุรกิจ เราไม่ใช่แค่สมาชิกองค์การสหประชาชาติ เรายังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีประชาหลักร้อยล้านคน เราไม่มีความตึงเครียดเรื่องศาสนา การอยู่ใกล้สามทวีปคือ เอเชีย ยุโรป แอฟริกา ทำให้เราเป็นสะพานเชื่อมที่ประสบความสำเร็จทางด้านวัฒนธรรมและธุรกิจ เรามีอุตสาหกรรมการจัดการเรือเดินสมุทรที่ใหญ่ติดอันดับโลก ภาษาอังกฤษคนไซปรัสส่วนมากใช้งานได้เพราะติดต่อกับต่างชาติ เรามีระบบมหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประชากรมากกว่าร้อยละ 80 จบปริญญาตรี ทำให้เรามีทรัพยากรคนที่มีศักยภาพ ภาษาท้องถิ่นเรายังมีอีก 2 ภาษาคือกรีกและเตอร์กิซ (ตุรเคีย)

เวลาคนไทยนึกถึงประเทศที่เป็นเกาะ มักคิดถึงการฟอกเงินในเกาะหลายแห่ง นี่ไม่ใช่กรณีของไซปรัส ไซปรัสเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปที่มีกฎระเบียบซึ่งเราต้องทำตามกฎของอียูทั้งหมด ทำให้เราภูมิใจกับความโปร่งใสของระบบธนาคารของเรามาก

ปัจจุบัน การค้าระหว่างกันยังไม่เดินหน้าอย่างที่เราอยากเห็น หลังโควิดซาลง ถือว่ามีพัฒนาการตรงที่ไซปรัสนำเข้าสินค้าไทยมูลค่าราว 20 ล้านยูโร ส่วนไทยนำเข้าสินค้าจากไซปรัส 19 ล้านยูโร

cyprus06

อย่างแรกคือซื้อตั๋วเครื่องบิน ตอนนี้เรายังไม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างไทย-ไซปรัส เที่ยวบินพาณิชย์แบบบินตรงส่วนหนึ่งคงขึ้นกับว่าทำกำไรหรือไม่ แน่นอนว่ามันมีความหมายหากเรามีเที่ยวบินตรงระหว่างกัน แต่ด้วยความที่ไซปรัสใกล้กับตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกา คุณสามารถใช้ศูนย์กลางทางอากาศต่อเครื่องไปยังไซปรัสได้ ไม่ว่าจะเป็นผ่านกรุงโดฮา (กาตาร์) ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) อัมมาน (จอร์แดน) หรือจะไปต่อเครื่องจากเมืองในยุโรปตะวันออกก็ได้ บางทีเราก็อาจจะต้องการขยับแข้งขากันบ้างหลังบินหลายชั่วโมง (ยิ้ม)

เรามีเที่ยวบินตรงจากอังกฤษหลายเที่ยวเพราะคนอังกฤษมองไซปรัสไม่ต่างกับคนไทยมีเกาะภูเก็ต อย่างหนึ่งที่ผมอาจต้องอธิบายคือ ไซปรัสไม่ได้เข้าร่วมระบบเชงเก้นวีซ่าของยุโรป พูดง่ายๆ ว่าถ้ามีเชงเก้นวีซ่าคุณมาไซปรัสได้จากทวีปยุโรป แต่ถ้าจะบินไปไซปรัสโดยไม่ผ่านยุโรป ต้องขอวีซ่าจากสถานกงสุลในประเทศไทยก่อน

หมายเหตุ : การขอวีซ่าจากสถานกงสุลไซปรัสในประเทศไทย ใช้เวลาทำการไม่กี่วัน โดยทางกงสุลจะดูความเหมาะสมของระยะเวลาและจุดประสงค์ในการเดินทาง สามารถติดตามรายละเอียดได้ในการสัมภาษณ์กงสุลกิตติมศักดิ์ไซปรัสประจำประเทศไทยได้ในเฟซบุ๊กและสื่อช่องทางอื่นๆ ของนิตยสาร “สารคดี” ได้เร็วๆ นี้