ในเดือนกันยายน ๒๔๙๖ สองปีให้หลังจากกรณี “แมนฮัตตัน” ท่ามกลางความหดหู่เศร้าหมองที่ปกคลุมทั่วกองทัพเรือ “นาวิกศาสตร์” นิตยสารภายในกองทัพเรือ จัดพิมพ์โดยราชนาวิกสภา ลงพิมพ์บทความของกองประวัติศาสตร์ กองทัพเรือ เรื่อง “กรมหลวงชุมพรฯ ผู้สร้างทหารเรือไทย” โดยทิ้งท้ายไว้ว่า

“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๕๗ - จดหมายจากคุณหลวง

“กองประวัติศาสตร์มีความประสงค์อย่างยิ่งที่จะรวบรวมพระชีวประวัติทั้งในด้านส่วนราชการและส่วนพระองค์ขึ้น เพื่อให้ละเอียดพิสดาร แต่ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะกระทำได้ เพราะการจะเขียนจะต้องมีหลักฐานหรือได้รับการยืนยันจากผู้ที่ใกล้ชิดพระองค์ท่านกับเหตุการณ์ทุกระยะ

”ฉะนั้น หากท่านสมาชิกหรือบุคคลภายนอกผู้ใดสนใจ และสามารถเสนอพระชีวประวัติของพระองค์ท่านเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งให้แก่กองประวัติศาสตร์ได้ กรุณาส่งไปยังกองประวัติศาสตร์ทหารเรือ จะเป็นพระคุณแก่ทหารเรืออย่างสูง…”

แม้ในวันนี้อาจไม่สามารถประเมินความรู้สึกนึกคิดของผู้จัดทำ หรือผู้อ่าน “นาวิกศาสตร์” เมื่อเกือบ ๗๐ ปีมาแล้วได้ แต่ขอตั้งเป็นข้อสังเกตว่า นี่คือการมองย้อนกลับไปยัง “วีรบุรุษ” จากอดีต ในยุคสมัย “วันชื่นคืนสุข” ของทหารเรือ เพื่อปลอบประโลมสร้างขวัญกำลังใจให้แก่องค์บุคคลที่ระส่ำระสายเสียขวัญตลอดสองปีที่ผ่านมา และกำลังรู้สึกว่าเป็น “ลูกกำพร้า” ขาดไร้ “ผู้ใหญ่” ที่เคยพึ่งพาอาศัย นับแต่หลังกรณี “แมนฮัตตัน”

กรมหลวงชุมพรฯ เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นี้ เพราะพระองค์ทรงเป็นวีรบุรุษในอุดมคติของทหารเรือ และที่สำคัญ ทรงอยู่เหนือพ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานับแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

จากประกาศเชิญชวนของบรรณาธิการ “นาวิกศาสตร์” ฉบับเดือนกันยายน ๒๔๙๖ ไม่นานจึงปรากฏคำขานรับ

ด้วยวัยเกือบ ๗๐ ปี นาวาตรี หลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต, ๒๔๒๖-๒๔๙๘) อดีตนายทหารการเงินของกองทัพเรือ ผู้เคยมีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดกรมหลวงชุมพรฯ เริ่มต้นเขียนจดหมายเล่าเรื่องเสด็จในกรมฯ ตามที่ท่านเคยรับรู้ส่งมาให้ และบรรณาธิการได้ทยอยนำลงตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านหน้ากระดาษของ “นาวิกศาสตร์”

เกือบ ๔๐ ปีให้หลังจากที่กรมหลวงชุมพรฯ เคยทรงมีบทความลงพิมพ์ใน“นาวิกศาสตร์” ตั้งแต่ฉบับแรกสุดในปี ๒๔๖๐ นี่คือการแปรรูป “เรื่องเล่า” และ “ความทรงจำ” เกี่ยวกับเสด็จในกรมฯ ที่ล่องลอยอยู่ในกองทัพเรือ ให้กลายเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อส่งต่อแก่คนรุ่นหลังในวงกว้างผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ อันถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญยิ่งในการประกอบสร้างพระประวัติของ “เสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรฯ”

ในจดหมายเหล่านั้น หลวงรักษาราชทรัพย์เรียกขานพระองค์ด้วยความเคารพว่า “เจ้าพ่อ” ทุกคำ


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ