เรื่อง : พิรฎา อุตตโมทย์
ภาพ : จารุเดช ไชยเลิศ

อดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่จะมาถึงของป้อมพระสุเมรุ
กิจกรรมของเด็กๆ ที่มาเล่นว่าวบริเวณป้อมพระสุเมรุ

ชั่วขณะหนึ่ง ฉันหลงคิดไปว่าตัวเองกำลังย้อนอดีต…

ตรงมุมถนนพระอาทิตย์ตัดกับถนนพระสุเมรุ ใกล้กับชุมชนวัดสังเวชวิศยาราม มีป้อมปราการสีขาวสะอาดตาตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ประดับประดาไปด้วยใบเสมาลดหลั่นกันเป็นชั้น ช่องตีนการูปกากบาทที่บากอยู่ตามส่วนต่างๆ ของป้อมก็ดูขลังและเก๋ไปในคราวเดียวกัน ในขณะที่ปืนใหญ่ก็ยังคงตั้งตระหง่าน ราวกับว่าที่แห่งนี้ยังไม่เคยลืมเลือนบทบาทของมันในอดีต พอฉันสาวเท้าเข้าไป ด้วยหวังว่าจะได้เห็นความโอ่อ่าของป้อมเก่าแก่อายุมากกว่า 200 ปี แต่ภาพตรงหน้าก็ทำให้ฉันประหลาดใจ เพราะนอกจากตัวป้อมแล้ว ก็ยังมีสวนสาธารณะร่มรื่นที่ผู้คนต่างพากันมาทำกิจกรรมในยามว่างร่วมกัน ถัดไปตรงริมน้ำก็มีพลับพลาขนาดย่อม ล่ามโซ่ไว้มิให้ผู้ใดเข้าไป ความผสมปนเปนี้ทำให้ฉันงุนงงไปพักใหญ่

ป้อมปราการอันได้ชื่อว่าเป็นโบราณสถานแห่งนี้เป็นทั้งสวนสาธารณะและเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งองค์น้อย สถานที่ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นพื้นที่ของอดีต แท้จริงแล้วก็ยังมีมิติของเวลาที่ทับซ้อนกันอีกด้วย

“สวนสาธารณะเป็นของใหม่ เพิ่งมาสร้างเอาช่วงประมาณปี 2542” คำอธิบายดังขึ้นตรงเบื้องหน้าของฉัน ชายวัยกลางคนร่างสันทัดเป็นผู้กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นแต่นุ่มนวล ใบหน้าใจดีของอาจารย์สมปอง ดวงไสว ดูมีความสุขอย่างเห็นได้ชัด ดวงตาของเขาเป็นประกายจากการที่ได้บอกเล่าในสิ่งที่เขารักและศึกษามาโดยตลอด ถึงแม้ว่าแดดของวันนั้นจะร้อนเหลือทน แต่เมื่อฉันได้ฟังในสิ่งที่อาจารย์สมปองบรรยาย ฉันก็พร้อมจะลืมทุกอย่าง และจดจ่ออยู่กับเรื่องราวอันมีมนตร์เสน่ห์นี้

อาจาย์สมปองเป็นอดีตครูโรงเรียนวัดสังเวชวิศยาราม ถึงพื้นเพของเขาจะไม่ใช่ชาวกรุงเทพฯ มาตั้งแต่กำเนิด แต่การที่เขาได้ใช้ชีวิตในช่วงวัยหนุ่มอยู่ในย่านบางลำพูมาตั้งแต่ปี 2519 ทำให้เขามีความสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชุมชนบางลำพู นั่นรวมถึงป้อมพระสุเมรุที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของย่านบางลำพูด้วย

pommhk02
ภาพกิจกรรมการพักผ่อนของผู้คนบริเวณป้อมพระสุเมรุ
pommhk03
ภาพกิจกรรมการพักผ่อนของผู้คนบริเวณป้อมพระสุเมรุ

ป้อมพระสุเมรุมีอายุมากกว่า 200 ปี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็น 1 ใน 14 ป้อมปราการที่สร้างพร้อมกับกำแพงพระนคร โดยมีความสำคัญในฐานะแนวป้องกันพระนครจากภัยสงคราม และเป็น 1 ใน 2 ป้อมปราการที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน สถาปัตยกรรมของป้อมเป็นการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูน มีลักษณะเป็นทรงแปดเหลี่ยมด้านเท่าสามชั้น ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 มีช่องสำหรับใส่ปืนใหญ่ และชั้นบนสุดก็เป็นหอรบ มีหลังคาทำจากโครงไม้ฉาบปูน

อาจน่าประหลาดใจ ถ้าจะบอกว่าป้อมพระสุเมรุหรือแม้แต่ป้อมปราการแห่งอื่นในพื้นที่พระนคร ไม่เคยได้ใช้ในการศึกสงครามอย่างจริงจัง เนื่องจากสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็มีนโยบายด้านการสงครามที่ให้นำทัพไปรบบริเวณหัวเมืองให้ห่างจากพระนคร ดังนั้นแล้วจึงไม่มีศึกไหนที่เข้ามาประชิดถึงพระนครเลย กลายเป็นว่าป้อมปราการทั้งหลายก็อดทำหน้าที่ของมันไปโดยปริยาย

ในสมัยหลังจากนั้นพระนครก็เกิดการขยายตัวมากขึ้น โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ป้อมปราการและกำแพงเมืองในหลายจุดถูกรื้อทิ้งเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการตัดถนนและก่อสร้างอาคารบ้านเรือน มีเพียงป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬที่ไม่ถูกรื้อ มาถึงตรงนี้น้ำเสียงของอาจารย์สมปองก็สลดลง พลางบอกแก่ฉันว่า ถึงแม้ว่าป้อมพระสุเมรุจะไม่ถูกรื้อ แต่ก็แทบไม่ได้รับการเหลียวแล สภาพของป้อมในตอนนั้นก็มีแต่จะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือราวสมัยรัชกาลที่ 6-7 หอรบของป้อมก็พังทลายลงมา เหลือเพียงแต่ตัวฐานป้อม ซึ่งกว่าจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ก็ล่วงเลยไปจนถึงปี 2524 กรุงเทพมหานครและกรมศิลปากรจึงเข้ามาบูรณะปรับปรุง เพื่อให้ป้อมพระสุเมรุมีสภาพเสร็จสมบูรณ์ทันงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี 2525

ป้อมพระสุเมรุได้รับการบูรณะอีกครั้งในปี 2542 และทำการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบที่แต่เดิมเป็นโกดังสินค้าและบ้านเรือนของประชาชนที่รุกล้ำเข้ามา ให้เป็นพื้นที่สำหรับสร้างสวนสาธารณะและพระที่นั่งสันติชัยปราการ โดยสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ตลอดจนถึงเพื่อใช้เป็นที่ประทับในการทอดพระเนตรขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในโอกาสเดียวกันอีกด้วย ทำให้พื้นที่ของป้อมพระสุเมรุ นอกจากจะเป็นโบราณสถานที่สำคัญแล้ว ก็ยังคงเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้ามาใช้งานได้อีกด้วย

“แต่ก่อนตรงนี้แออัด มีชุมชนอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ตอนกลางคืนก็น่ากลัว แทบไม่มีคนกล้าผ่านมาด้วยซ้ำ แต่พอสร้างสวนสาธารณะขึ้นมา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมด”

สวนสาธารณะสันติชัยปราการเป็นจุดขายเลื่องชื่อของที่นี่ โดยมีชื่อเสียงในฐานะสวนสาธารณะที่สวยงามแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร นอกจากจะมีโบราณสถานอย่างป้อมพระสุเมรุอยู่ในพื้นที่เดียวกันแล้ว ต้นไม้เขียวขจีและบรรยากาศริมแม่น้ำก็ทำให้เป็นที่เจริญใจแก่ผู้ที่ย่างกรายเข้ามาไม่น้อย ตลอดวันของสวนสาธารณะแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยผู้คน ไม่ว่าจะเข้ามาสังสรรค์ พบปะพูดคุย ออกกำลังกาย หรือแม้แต่เป็นที่พึ่งพิงของเหล่าคนไร้บ้าน ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แม้แต่ชาวบางลำพูเองก็แทบไม่เชื่อว่า นี่คือบริเวณที่พวกเขาคุ้นตาในอดีต จากป้อมเก่าแก่ทรุดโทรมก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันและอยู่ร่วมกับกระแสของโลกในปัจจุบันอย่างกลมกลืน

“หลังจากที่ซ่อมป้อมเสร็จก็มีการทำปรับปรุงภายในตัวป้อมให้เป็นพิพิธภัณฑ์อย่างดีเลย มีให้เห็นโครงสร้างภายในที่เป็นของโบราณจริงๆ อย่างการวางรากฐานด้วยไม้ซุงหรือตุ่มสามโคก ซึ่งหาดูยากมาก คนก็ไม่ค่อยจะรู้กัน” ข้อมูลใหม่จากอาจารย์สมปองทำให้ฉันหูผึ่ง ด้วยไม่รู้มาก่อนว่าภายในป้อมพระสุเมรุนั้นทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เพราะภาพจำของป้อมแห่งนี้สำหรับฉัน มันก็คือป้อมเก่าแก่ที่แสนจะเป็นพื้นที่หวงห้าม กั้นทางขึ้นไว้มิให้ใครย่างกรายขึ้นไปชม ทว่ายังไม่ทันจะได้เอ่ยปากถามอะไร ก็ต้องมารับรู้ความจริงอันน่าเจ็บปวดว่าพิพิธภัณฑ์ภายในตัวป้อมเคยเปิดเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น หลังจากนั้นก็ปิดยาวมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริง

“เสียดายมาก คนก็หมดโอกาสได้เรียนรู้ กลายเป็นว่าที่สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์มันไม่มีประโยชน์ไปซะอย่างนั้น” อาจารย์สมปองกล่าวด้วยน้ำเสียงถอดใจ ป้อมพระสุเมรุอันเป็นทั้งโบราณสถานและพื้นที่สาธารณะที่ควรจะให้ทุกคนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมและไม่ควรมีผู้ใดเสียโอกาสในการเรียนรู้ ก็กลับกลายเป็นว่าป้อมแห่งนี้ “ถูก” ทำให้ไม่ได้ทำหน้าที่ของโบราณสถานที่ควรจะให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชมอย่างเต็มที่ หรือแม้แต่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนควรจะเข้าถึงได้ ความเป็นมาต่างๆ ย่อมต้องหล่นหายออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของป้อมพระสุเมรุ

หลักฐานชิ้นสุดท้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือความทรงจำของอาจารย์สมปอง ตลอดจนถึงชาวบางลำพูที่ได้ทันเห็นช่วงเวลาที่ป้อมพระสุเมรุได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่

กาลเวลามีแต่จะล่วงเลยไป มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากป้อมเก่าแก่โอ่อ่า ที่นอกจากจะให้คนมาพักผ่อนแล้วก็ยังมาหาความรู้เพิ่มเติมได้ ทว่าป้อมแห่งนี้ก็แปรสภาพไป กลายเป็นพื้นที่ปิดที่แทบไม่มีใครใช้ประโยชน์จากมันได้โดยตรง

pommhk04
.ภาพผู้คนที่มาเต้นเเอโรบิกบริเวณป้อมพระสุเมรุ
pommhk05
ภาพกิจกรรมการพักผ่อนของนักท่องเที่ยวต่างชาติบริเวณป้อมพระสุเมรุ
.

“ชุมชนมีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง ป้อมนี้ก็มี ผมอยากให้คนได้เรียนรู้ ได้ศึกษา ป้อมพระสุเมรุเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบางลำพู ปิดป้อมไปก็ไม่ต่างอะไรกับทำให้ประวัติศาสตร์ของบางลำพูต้องลบเลือนไปด้วย”

คำพูดของอาจารย์สมปองทำให้ฉันสะท้อนใจไม่น้อย ป้อมพระสุเมรุไม่ได้เป็นแค่โบราณสถานหรือพื้นที่สาธารณะ หากแต่เป็นสถานที่ที่จดจารประวัติศาสตร์แห่งชุมชนบางลำพู

แม้ว่าป้อมแห่งนี้จะถูกปิดพื้นที่ไม่ให้ขึ้นไปเข้าชม หรือประวัติศาสตร์ของชุมชนบางลำพูจะเริ่มจางหายไปตามกาลเวลา ทว่าจิตวิญญาณที่เข้มแข็งและยืนหยัดของอาจารย์สมปอง ป้อมพระสุเมรุ ตลอดจนถึงชุมชนบางลำพู ก็ยังคงจับใจผู้ที่ได้พบเห็นและรับฟังเสมอมา

แสงตะวันทอประกายจ้า พาดผ่านตัวป้อมสีขาวจนดูโดดเด่นจับตา ทำให้ป้อมโบราณแห่งนี้ดูสง่างามและฮึกเหิมขึ้นมา ฉันรู้สึกว่าแท้จริงที่แห่งนี้ยังไม่ไร้ซึ่งความหวัง หากมีใครเดินเข้าไปปลุกป้อมพระสุเมรุให้ตื่นจากการหลับใหล ฉันก็เชื่อว่าป้อมแห่งนี้ก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ของมันอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน