เรื่อง : ภัคจิรา มาตาพิทักษ์
ภาพ : ศุภาวีร์ จุลบุตร

เพราะกาลเวลามิอาจพรากจิตวิญญาณแห่งโขนละครไปจากบางลำพู
ภาพลายปักผ้าโขนโบราณของกรมศิลปากรดั้งเดิม ที่แม่อ้อยยังคงอนุรักษ์ไว้

จากถนนพระอาทิตย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจดวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ยาวไกลไปจนถึงถนนข้าวสารและวัดสามพระยา คือพื้นที่อันอุดมไปด้วยความหลากหลายทางศิลปะ วัฒนธรรม และความทรงจำที่มีชื่อเรียกว่า “ชุมชนบางลำพู” ดินแดนที่ครั้งหนึ่งมีต้นลำพูรายล้อมไปทั่วบริเวณ ทั้งยังมีบ้านเรือนและตลาดเล็กๆ เรียงรายขนาบข้างเต็มสองฟากถนน เรื่อยไปจนถึงบริเวณริมคลอง

ครั้นเมื่อวันเปลี่ยน คืนผ่าน กาลเวลาหมุนไป สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ย่อมมีวันเก่าแก่ ชำรุดและทรุดโทรมไปตามยุคสมัย ผู้คนบ้างล้มหายตายจากดั่งสัจธรรมของชีวิต ทว่าสิ่งหนึ่งที่กาลเวลามิอาจพรากไปจากดินแดนบางลำพูแห่งนี้ คือมรดกและคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมที่ยังมีไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้เชยชม ดังจะเห็นได้จากตลอดทางตั้งแต่สวนสันติชัยปราการชัยจนถึงพิพิธบางลำพู ล้วนแต่งแต้มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันหลากหลายและงดงาม

ก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมชมชุมชนบางลำพู ฉันพอจะได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ แม่เปี๊ยกสมคิด หลาวทอง ณ บ้านปักชุดละคร แห่งชุมชนตรอกเขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้มาบ้าง ในฐานะบุคคลต้นแบบผู้ถ่ายทอดลายปักที่มีความประณีต และชุดโขนที่มีลวดลายวิจิตรตามแบบมาตรฐานจากกรมศิลปากร ความตั้งใจในการถ่ายทอดความงามด้วยเส้นด้ายสีต่างๆ ที่ค่อยบรรจงร้อยและเกาะเกี่ยวเป็นเส้นสายอย่างใจเย็น จนกลายมาเป็นชุดโขนอันสวยงามและช่วยส่งเสริมให้ผู้แสดงโขนละครดูงดงามระยับจับตา

เมื่อฉันเดินทางมาถึงพิพิธบางลำพู พื้นที่บริเวณใต้ถุนเรียงรายไปด้วยชุดเครื่องโขนและงานปักอันวิจิตรตระการตา ทว่าผู้หญิงที่กำลังนั่งปักเย็บชุดโขนอยู่ ณ บริเวณนั้นกลับไม่ใช่แม่เปี๊ยกแต่อย่างใด หากคือ แม่อ้อยชัญญาภัค แก่นทอง ผู้รับหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปักชุดโขนอันเก่าแก่ต่อจากแม่เปี๊ยก

“ตอนนี้แม่เปี๊ยกปลดเกษียณแล้ว อายุ 84 แล้ว แกพักอยู่ในบ้านนั่นแหละ แม่ก็เลยมารับทำงานปักชุดโขนให้โรงละครต่างๆ งานของแม่จะไม่ใช่ลายสมัยใหม่ จะเน้นเป็นลายโบราณของกรมศิลปากรดั้งเดิม”

khonblp02
กว่าจะถึงขั้นตอนสวมใส่ ชุดโขนหนึ่งชุดแม่อ้อยใช้เวลาในการสรรค์สร้าง 45 วัน
khonblp03
ผ้าโขนที่บรรจงปักด้วยมือเป็นศิลปะโบราณสืบสานจากแม่เปี๊ยกสู่แม่อ้อย

แม่อ้อยเล่าให้ฉันฟังว่าแม่เปี๊ยกสั่งสมองค์ความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากวังหลวง ทั้งยังเคยรับราชการในกรมศิลปากร ฝ่ายงานเครื่องอาภรณ์ ส่วนตัวแม่อ้อยนั้นเรียนรู้การปักชุดโขนโดยตรงจากแม่เปี๊ยกเท่านั้น ไม่ได้ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยหรือกรมศิลปากรแต่อย่างใด

“แม่ไม่ได้เรียนเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ได้เรียนจากมหาวิทยาลัย ไม่ได้เรียนมาจากในวัง ก็เรียนมาจากแม่เปี๊ยกอีกทีหนึ่ง เรียนแบบครูพักลักจำ พอได้ทำทุกวันมันก็ชิน เหมือนจะยาก แต่จริงๆ ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นนะ แม่ทำเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่อายุ 23 ปี ไม่เคยเบื่อเลย เพราะแม่รักที่จะทำ”

ด้วยความชำนาญ หรืออาจจะเรียกได้ว่าทำมานานจนเคยชิน ระหว่างที่พูดคุยกัน แม่อ้อยพลางตอบคำถาม พลางเล่าเรื่องราว และโชว์ฝีไม้ลายมือในการปักชุดโขนให้ฉันได้ดูไปพร้อมๆ กัน

แม่อ้อยบอกว่าชุดโขนหนึ่งชุดใช้เวลาปักประมาณ 45 วัน ทั้งยังเสริมว่าการปักชุดโขนนั้นเป็นงานที่ต้องลงทุนมาก ค่าใช้จ่ายประมาณ 4 หมื่นถึง 8 หมื่น แต่กว่าจะได้เงินกลับมาใช้เวลานาน และวัสดุก็เริ่มหายากแล้ว

เมื่อถามถึงที่มาของลวดลายบนผืนผ้าที่แม่อ้อยกำลังบรรจงถักทอทีละน้อย แม่อ้อยบอกว่าทั้งหมดนี้ล้วนเป็นลายที่แม่อ้อยวาดมือขึ้นมาเอง ทั้งยังเป็นลายโบราณที่มีคนแกะลายมาจากประตูวัดบ้าง หน้าต่างพิพิธภัณฑ์บ้าง หรือมาจากโคมไฟสมัยโบราณในพระราชวังเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 หรือตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ จึงเห็นได้ว่าลายของชุดโขนต่างมีเรื่องราวและมีที่มาแตกต่างกันออกไปตั้งแต่สมัยอดีตกาล

“สมัยแม่เด็กๆ แม่เคยเห็นนักศึกษาไปนั่งรอบวัด มีกระดาษกันคนละแผ่น ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกัน แต่พอโตมาได้มาปักชุดโขนก็ได้รู้ว่า อ๋อ เขาไปเอาลายพวกนี้มาจากตามวัดโบราณ เราก็มีหน้าที่รับเอาลายเหล่านั้นมาต่อๆ กันให้เป็นเสื้อผ้าหนึ่งชุด เหมือนเราได้เห็นความเป็นมาเป็นไปของมันตั้งแต่โบราณ”

แม้ศิลปะการปักชุดโขนจะมีคุณค่าต่อคนในชุมชนบางลำพูไม่น้อย ทว่าเรื่องที่น่าเศร้าคือการที่แม่อ้อยบอกว่า จริงๆ ชุมชนแถวนี้เคยมีคนปักชุดโขนเยอะกว่านี้มาก ทว่าตอนนี้เลิกทำกันไปหมดเสียแล้ว เพราะกว่าจะได้เงินตอบแทนกลับมากินเวลานานเป็นเดือน ทำให้สุดท้ายบ้านปักชุดโขนนอกจากบ้านของแม่อ้อยและแม่เปี๊ยกก็ไม่เหลือใครทำอีกแล้ว

“จริงๆ ลายพวกนี้จะพิมพ์เอาก็ได้ หรือจะสกรีนลงไปในเสื้อเลยก็ยังได้ แต่แม่ตั้งใจวาดมือเองเพื่อรักษาวิธีแบบโบราณ ตอนทำต้องใจเย็นมากๆ กว่าจะได้แต่ละชิ้น เพราะมันเป็นงานฝีมือ ถ้าวาดมือแม่จะรู้สึกภูมิใจมาก เพราะเหมือนได้เริ่มตั้งแต่ศูนย์”

แต่ถึงอย่างไรแม่อ้อยก็ยืนยันว่าไม่คิดจะผันตัวไปทำงานอย่างอื่น และไม่เคยคิดจะนำงานปักชุดโขนมาทำในเชิงธุรกิจ เพราะสำหรับแม่อ้อยแล้วนั้น งานปักชุดโขนได้กลายเป็น “ความสุข” ที่ไม่อาจมีสิ่งใดมาแทนที่ได้

“ให้แม่ไปประมูลอันนี้แม่ไม่รับ เพราะว่าแม่ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ แม่เน้นทำเป็นแนวอนุรักษ์ ให้เด็กมาดู ให้เด็กมาเรียน ให้คนที่สนใจมาเรียนรู้”

khonblp04
แม่อ้อยยินดีที่จะส่งต่อความรู้เกี่ยวกับศิลปะการปักชุดโขนให้กับคนรุ่นใหม่สืบต่อไป

ระหว่างที่แม่อ้อยกำลังบรรจงร้อยรัดปักชุดโขนให้ฉันดูอยู่นั้น เจเจและฟิล์ม ไกด์เด็กชมรมเกสรลำพูก็เล่าให้ฉันฟังว่าทั้งสองคนก็เคยเรียนปักชุดโขนกับแม่อ้อยเช่นกัน พวกเธอมองว่าถ้ารู้วิธีการปักแบบพื้นฐานแล้ว งานนี้ก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น ทว่าความยากง่ายจะขึ้นอยู่ที่ลายที่ปักด้วย ทั้งยังเสริมว่าเมื่อก่อนเวลานักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมจะมีการทำ workshop ปักชุดโขน และยังมีเด็กในชุมชนราวชั้นประถมฯมาเรียนกับแม่อ้อยอีกด้วย

“แม่สอนให้เด็กที่ชุมชนตลอด ไม่เคยเก็บเงิน ไม่เคยคิดค่าแรงอะไรเลย สอนให้ยันเด็กมหาวิทยาลัย แต่บอกได้เลยว่ามาเรียนปักชุดโขนแบบนี้ ถ้าใจไม่รักจริงทำไม่ได้ อยู่ไม่ทน ทุกวันนี้สะดึงที่เด็กทำค้างไว้ยังอยู่ที่บ้านแม่อยู่เลย และมีเยอะมาก เขาทำไม่เสร็จกัน ขนาดว่าแม่ให้เขาทำอันเล็กๆ นะ เพราะมันเป็นงานละเอียดอ่อน ต้องใช้สมาธิมาก”

เจเจบอกว่าตัวเองก็พอปักชุดโขนได้ แต่ว่าถ้าจะให้ทำจริงจังก็คงทำไม่ไหว ด้วยความที่สมาธิไม่ได้อยู่นิ่งตลอดเวลา ไม่เหมือนอย่างแม่อ้อยและแม่เปี๊ยกที่นั่งทำได้เป็นวันๆ และเล่าต่อว่าเคยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยมาเรียนปักชุดโขนกับแม่อ้อย ทว่าผ่านไปสักพักหนึ่งก็ทำไม่เสร็จ และไม่เอางานกลับไปทำต่อ ปล่อยทิ้งงานปักที่ค้างคานั้นไว้กับแม่อ้อย

“เด็กในชุมชนก็มาเรียนกับแม่อ้อยกันเยอะ” คือคำบอกเล่าจากเจเจ ไกด์เด็กชมรมเกสรลำพู

“แปลว่าแม่อ้อยมีลูกศิษย์เยอะมาก แต่คนที่ทำสำเร็จจริงๆ มีน้อยใช่ไหม” ฉันถาม

“ไม่มีเลยด้วยซ้ำ” เธอตอบกลับมาในทันที

ครั้นถามถึงเหตุผลที่แม่ยังคงทำงานปักชุดโขนนี้ต่อไป ในยุคสมัยแห่งโลกาภิวัตน์ที่ผู้คนเริ่มห่างหายไปจากศิลปวัฒนธรรมอันเก่าแก่เช่นนี้แล้ว แม่อ้อยตอบกลับมาสั้นๆ ว่า “ก็ใจมันรัก”

“พูดตามตรง จริงๆ แม่ไม่ทำก็ได้ เพราะแม่มีลูกคอยเลี้ยงดู ลูกยังบอกเลยว่าให้แม่หยุดทำได้แล้ว ตอนนี้หนูก็รับราชการแล้ว ดูแลแม่ได้ แต่แม่ก็ยืนยันจะทำต่อไป”

khonblp05
“แม่อ้อย” คนปักชุดโขนคนสุดท้ายในย่านบางลำพู โดยได้เผยเหตุผลว่าที่ยังทำอยู่นั้นเพราะ “ใจมันรัก”

ตัวฉันเองก็คงต้องยอมรับตามตรงว่าถ้าจะให้ลองนั่งปักชุดโขนแบบแม่อ้อยทุกวันก็คงจะทำไม่ไหว แต่ถึงแม้ฉันจะไม่ได้เกิดและเติบโตที่ชุมชนบางลำพู ไม่ได้รับรู้ประวัติศาสตร์แห่งการถักทอชุดโขนมากสักเท่าไร แต่ภาพที่ปรากฏให้ฉันเห็นอยู่ตรงหน้า ทั้งลวดลายของผ้าอันวิจิตรงดงาม รอยยิ้มของแม่อ้อยที่เปี่ยมไปด้วยความสุข สายตาอันเป็นประกายยามยกลายผ้ามาให้ฉันดู และมือที่บรรจงขยับไปตามเส้นด้ายที่ร้อยเรียงกันอยู่นั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ฉันรู้สึกว่า สิ่งนี้ช่างงดงามและมีคุณค่ามากเหลือเกิน

“แม่ก็อยากลองทำลายใหม่ๆ เหมือนกันนะ โลกมันก็ต้องหมุนไปตามกาลเวลา ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนแปลงไป เราก็ต้องยอมรับ แต่ตราบใดที่เรายังมีโรงละครแห่งชาติ ยังมีการแสดงโขน เราก็ยังนำไปโชว์ที่ต่างประเทศได้ แม่เชื่อว่ามันไม่สูญหายไปหรอก”

ท่ามกลางชุมชนโดยรอบที่เปลี่ยนแปลงไป แม่อ้อยยืนยันว่าทุกเช้าที่ตื่นมา แม่ยังคงมีความสุขทุกครั้งที่ได้นั่งลงมือปักชุดโขน งานเดิมๆ ซ้ำๆ ที่ทำจำเจทุกวัน แต่กลับไม่รู้เบื่อ ทั้งยังไม่เคยกลัวว่าวันหนึ่งสิ่งตรงหน้านี้จะหายไปตามกาลเวลา และตัวของฉันเองก็เชื่อมั่นเช่นนั้น เพราะถึงอย่างไรฉันก็เชื่อเสมอมาว่า “ชีวิตมันสั้น แต่ศิลปะนั้นยืนยาว”