หนึ่งในเรื่องที่ นาวาตรี หลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต) เขียนเล่าส่งมายังบรรณาธิการ “นาวิกศาสตร์” คือครั้งแรกเมื่อ “เจ้าพ่อ” กรมหลวงชุมพรฯ พบกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท

“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ถ58 - หัวปลี กับ กระต่าย

คุณหลวงเล่าว่า

“…ต่อมาเดือน ๕ หน้าร้อน เจ้าพ่อเสด็จประพาสตากอากาศไปทางเหนือ มีเรือกลไฟ ๑ ลำ จูงเรือพระประเทียบที่ประทับ ได้ไปจอดหุงข้าวต้มแกงที่ศาลาวัดมะขามเฒ่า ในวันนั้นบังเอิญท่านอาจารย์วัดมะขามเฒ่าใช้เด็กวัดไปตัดหญ้าที่ดงต้นกล้วยๆ ที่ออกปลีที่แก่แล้วมี ๗-๘ ต้น เด็กวัดก็ตัดหัวปลีกล้วยมากองไว้ พอตกเวลาบ่ายท่านอาจารย์ก็ลงมาจากกุฏิดูเด็กที่ตัดกล้วยแล้วไปนั่งอยู่ที่กองหัวปลีกล้วย ท่านเอาหัวปลีที่กองอยู่นั้นมาลูบๆ คลำๆ สักครู่หนึ่งก็วางหัวปลีลงที่ดิน หัวปลีนั้นก็กลายเป็นกระต่ายวิ่งเพ่นพ่านไปหมด เจ้าพ่อเห็นเข้าก็เรียกคนในเรือให้มองดู อีกสักครู่หนึ่งท่านก็เรียกกระต่ายที่วิ่งอยู่นั้นมาที่ท่านๆ ก็จับกระต่ายๆ ก็กลับกลายเป็นหัวปลีไปอย่างเดิม เมื่อเจ้าพ่อเห็นดังนั้นก็เลื่อมใสนับถือท่านอาจารย์วัดมะขามเฒ่าทันที แล้วเจ้าพ่อก็เสด็จขึ้นไปหาอาจารย์ที่ดงต้นกล้วย พร้อมด้วยบริวาร ๓ คน…คุยกันอยู่สักครู่ใหญ่ท่านอาจารย์ก็เชิญขึ้นไปคุยกันที่กุฏิ คุยกันไปคุยกันมา เจ้าพ่อก็พอพระทัย ประมาณ ๔-๕ ทุ่มจึงได้เสด็จกลับลงมาประทับเรือ ทางฝ่ายท่านอาจารย์ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นใคร รุ่งขึ้นจึงให้คนไปสืบถามพวกที่มากับเจ้าพ่อ จึงได้รู้ความว่านี่แหละพระองค์เจ้าอาภากร ลูกในหลวงรัชกาลที่ ๕ เมื่อท่านอาจารย์ทราบดังนั้นก็พอใจมาก…”

อย่างไรก็ดี สมควรต้องย้ำว่าหลวงรักษาราชทรัพย์แถลงไว้ชัดเจนว่า ในครั้งนั้น ท่านไม่ได้ตามเสด็จ และมิได้เป็นผู้พบเห็นหลวงปู่วัดปากคลองมะขามเฒ่าเสกหัวปลีเป็นกระต่ายด้วยตาตนเอง แต่มีผู้อื่นเล่าให้ฟังอีกต่อหนึ่ง

สิ่งที่คุณหลวงคงไม่ได้คาดคิด คือจากปากคำของผู้อื่น เมื่อท่านนำมาเล่าซ้ำ แล้วตีพิมพ์เผยแพร่ออกไป สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา คือเรื่องทั้งหมดจะถูกอ้างต่อกันไปเรื่อยๆ ในฐานะ “เรื่องจริง”

สองปีต่อมา ในเดือนธันวาคม ๒๔๙๘ หลวงรักษาราชทรัพย์ถึงแก่กรรม สิริอายุได้ ๗๒ ปี

เกร็ดพระประวัติฉบับของคุณหลวงที่เคยส่งไปลงใน “นาวิกศาสตร์” พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านเมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๙๙ ใช้ชื่อหน้าปกว่า “เกียรติประวัติ กรมหลวงชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ เวทย์มนต์ ตำรายาจากคัมภีร์ของ (เจ้าพ่อ)”

เรื่องเล่าชุดนี้จะแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เมื่อกองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ นำเกร็ดพระประวัติฉบับคุณหลวงรักษาราชทรัพย์ มาผนวกไว้ในหนังสือที่ระลึก “อนุสรณ์พิธีเปิดกระโจมไฟชุมพรเขตอุดมศักดิ์”ที่แหลมปู่เฒ่า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อปี ๒๕๐๓

อันเท่ากับเป็นการรับรองเนื้อหาของเรื่องเล่าชุดนี้ “อย่างเป็นทางการ”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ