กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 59 - นิทานชาวไร่

นับจากช่วง ๒๕๐๐ เป็นต้นมา เกร็ดพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ค่อยๆ งอกงามขึ้นทีละเล็กละน้อย ผ่านหน้ากระดาษของ “นาวิกศาสตร์”

นายทหารเรือคนสำคัญที่มีส่วนเพิ่มเติมเนื้อหาของพระประวัติ คือ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี อดีตบรรณาธิการ“นาวิกศาสตร์”

กรณี “แมนฮัตตัน” ทำให้นาวาเอก สวัสดิ์ ต้องถูกให้ออกจากราชการ แล้วจึงผันตัวเองไปเป็น “ชาวไร่” อยู่ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ต่อมาเมื่อได้รับเชิญจากบรรณาธิการ “นาวิกศาสตร์” ให้กลับมาเขียนเล่าเกร็ดเก่าสมัยก่อนให้นายทหารเรือรุ่นหลังและผู้อ่านทั่วไปได้อ่าน จึงเป็นที่มาของชื่อ “นิทานชาวไร่” คอลัมน์ประจำของท่านใน “นาวิกศาสตร์” ตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๐๐ จนถึงต้นทศวรรษ ๒๕๑๐

ภายหลังมีการคัดเลือกบางเรื่องมาชำระตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือชุดภาษาไทยโดยองค์การค้าของคุรุสภาได้เป็นหนังสือขนาดพ็อคเก็ตบุ๊คถึง ๑๒ เล่ม

ในช่วงแรกๆ “นิทานชาวไร่” มักเป็นบันทึกเกร็ดประวัติศาสตร์ของราชนาวีไทย ผ่านปากคำนายทหารเรืออาวุโส เล่าถึงสถานที่ บุคคล เหตุการณ์ ที่ผู้เขียนผ่านพบในระหว่างชีวิตราชการ และเนื่องจากเป็นการเล่าให้ผู้อ่านที่เป็นพรรคพวกแวดวงเดียวกันเป็นหลัก จึงมักเต็มไปด้วยศัพท์เฉพาะ สมญานาม หรือเรื่องที่พอรู้ๆ กันในหมู่ทหารเรือ

หลายตอนเป็นเรื่องของบุคคลที่เป็นที่เคารพรักในราชนาวี โดยเฉพาะ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่ง “คุณครูหวัด” เมื่อสมัยยังเป็นนักเรียนนายเรือ ยังเคยทันได้พบเห็นพระองค์

บางเรื่องที่นาวาเอกสวัสดิ์บันทึกไว้ กลายเป็นหลักฐานที่ใช้อ้างอิงกันต่อๆ มา เช่นเรื่องเล่าจาก เรือโท ถวิล เสถียรสวัสดิ์ ที่ว่าเสด็จในกรมฯ ทรงมีรอยสักเต็มไปหมดทั้งพระองค์

แต่แน่นอน เรื่องเล่าก็คือเรื่องเล่า

จากปากต่อปาก ด้วยความรัก ความเคารพเลื่อมใส คำบอกเล่าบางเรื่องที่ถ่ายทอดกันมาในหมู่ทหารเรือเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรฯ จึงเกินเลยความจริงไปมาก

นาวาเอกสวัสดิ์เองจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยสอบทาน “ตำนาน” เหล่านั้นด้วย

เช่นที่ท่านเขียนเล่าว่า “คนแต่เก่า” บอกกันมาว่า ราชนาวีอังกฤษไม่ยอมรับชาวเอเชียให้เข้าเรียนวิชาทหารเรือชั้นสูง เพราะในปีที่กรมหลวงชุมพรฯ สอบไล่ได้ที่ ๑ คนที่สอบได้ที่ ๒ คือโตโง หรือพลเรือเอก โตโง เฮฮะชิโระ (Togo Heihachiro) ซึ่งต่อมาเป็นผู้บัญชาการกองเรือผสมของญี่ปุ่นในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ค.ศ. ๑๙๐๔ (๒๔๔๗) ส่วนผู้ที่ได้คะแนนเป็นอันดับ ๓ ได้แก่ติงจูฉ่าง หรือที่ออกเสียงเป็นภาษาจีนกลางว่าติงหรู่ชาง (Ding Ruchang) ผู้บัญชาการกองเรือจักรวรรดิจีนในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ค.ศ. ๑๘๙๔-๙๕ (๒๔๓๗) ทำให้นับแต่นั้นมา ทางการอังกฤษจึงไม่ยอมรับคนเอเชียเข้าเรียนอีก เพราะเกรงว่าจะเก่งกว่าฝรั่ง

ทั้งหมดนี้ นาวาเอกสวัสดิ์วิจารณ์ว่า “อย่าไปเชื่อเขาโม้ให้มากนัก” เพราะท่านตรวจสอบแล้ว

“ปรากฏว่าคนละยุคคนละสมัย”

หลังจากนาวาเอกสวัสดิ์ถึงแก่กรรมไปหลายสิบปี ในปี ๒๕๔๑ มีการประกาศผลการวิจัยที่เรียกกันว่ารายชื่อ “หนังสือดี ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน” ปรากฏว่า “นิทานชาวไร่”เป็นหนังสือชุดที่ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐๐ ด้วย เมื่อไม่กี่ปีมานี้จึงมีการนำมาตีพิมพ์ซ้ำเป็นหนังสือสี่เล่มชุดขนาดใหญ่ยักษ์ โดยสำนักพิมพ์ศยาม


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ