อีกแง่มุมหนึ่งของเกร็ดพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ฉบับนาวาตรี หลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต) คือการฉายให้เห็น “วีรภาพ” ของ “เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ” โดยเน้นพระอุปนิสัยดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึง คือการ “ไม่ถือพระองค์” ดังเช่นเรื่องที่ว่าเมื่อเรือรบเกิดรั่ว ก็ทรงร่วมยืนวิดน้ำ เคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารเรือคนอื่นๆ

กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ 60 - ฉันด้วย !

“…เจ้าพ่อประทับในเรืออัคเรศฯ พร้อมด้วยพวกฝ่ายธุรการ พอถึงปากอ่าวเกิดเรือรั่วขึ้น เจ้าพ่อสั่งให้เอาข้าวสารที่ใส่กระสอบไว้ไปอุดที่รูรั่ว ๓-๔ กระสอบ เมื่ออุดแล้วก็ยังรั่วอยู่ แต่เบาลงครึ่งหนึ่ง เจ้าพ่อสั่งให้เอาถังสังกะสีประมาณ ๑๐ ใบมา และรับสั่งว่า ‘เรียงแถววิดน้ำเรือหมดคน ฉันด้วย เว้นแต่เจ้าหน้าที่เดินเรือกับช่างกลและยาม ไม่ต้องวิด’ วิดจากท้องเรือส่งกันต่อๆ ไป เมื่อแห้งแล้วหยุดพัก เมื่อมีน้ำก็วิดอีก…”

หลวงรักษาราชทรัพย์บันทึกไว้อีกว่า ในระหว่างการเคลื่อนย้ายไปตั้งหน่วยฝึกพลทหารเรือที่บางพระ ชลบุรี เจ้าหน้าที่กองจัดเลี้ยงจัดอาหารให้ทหารทั้งหมดเหมือนกัน คือ “มีข้าว ๑ หม้อ แกง ๑ ถ้วย ใส่ฝาหม้อ ปลาเค็มหนึ่งชิ้นวางบนข้าว มี ๓ อย่างเท่านั้น รับเหมือนกันหมดตลอดถึงพลทหาร และเจ้าพ่อก็เสวยอย่างเดียวกัน…”

มีอยู่วันหนึ่ง เจ้าหน้าที่จัดเกิดอาหารพิเศษถวาย มีไข่ดาว หมูแฮม ขนมปังทอด กับของหวาน คุณหลวงรักษาราชทรัพย์เล่าว่าพระองค์ทรงกริ้ว และมีรับสั่งว่า “ฉันก็เป็นทหารคนหนึ่งเหมือนกัน จะกินอาหารพิเศษดีกว่าเพื่อนทหารทั้งหลายไม่ได้’”

เรื่องเล่านี้ลงเอยตรงที่คุณหลวงฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่การเงิน ควบคุมการจัดซื้ออาหาร จึงถือโอกาสไปขอรับ “อาหารพิเศษ” นั้นจากเจ้าหน้าที่กองจัดเลี้ยงแทน (ฮา)

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า เกร็ดพระประวัติเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ ฉบับหลวงรักษาราชทรัพย์ คงแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง ผ่านหนังสือที่ระลึก “อนุสรณ์พิธีเปิดกระโจมไฟชุมพรเขตอุดมศักดิ์”แหลมปู่เฒ่า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อปี ๒๕๐๓ จากนั้นจึงกลายเป็นคัมภีร์ต้นฉบับพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ ที่ถูกส่งต่อและขยายความกันออกไปเป็นทอดๆ เช่นเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๖ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี ได้รับเชิญให้ไปออกรายการโทรทัศน์ “ร่วมเครือนาวี” หัวข้อ “พระบิดาของทหารเรือ” เนื่องในวาระวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯ

เนื้อหาคำบรรยายส่วนหนึ่งของ “คุณครูสวัสดิ์” ก็คือการ “เล่าซ้ำ” เกร็ดพระประวัติฉบับหลวงรักษาราชทรัพย์ นั่นเอง เช่นว่า

“…เวลานั้นเรือรบใช้ถ่านหินกันเป็นส่วนมาก พอถ่านหินหมดกลางทะเลก็มีเรือฉางไปส่ง การขนถ่านหินก็ขนในขณะจอดข้างเกาะใดเกาะหนึ่ง พวกปากเรือต้องขนด้วยทุกคน ในกรมก็ขนกะพวกทหารด้วย เลยเป็นธรรมเนียมต่อๆ กันไปว่า แม้ผู้บังคับการเรือก็ต้องขนถ่านหินทุกคราวไป อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อครั้งเรืออัคเรศรัตนาสน์รั่ว เสด็จในกรมฯ รับสั่งว่า ‘เรียงแถววิดน้ำเรือหมดคน-ฉันด้วย’ พระองค์ไม่ให้วิดแต่พวกยามทั้งปากเรือและช่างกลเท่านั้น…”

นาวาเอกสวัสดิ์สรุปย้ำว่า

“คำว่า ‘ฉันด้วย’ นี่แหละ ซาบซึ้งยิ่งนัก”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ