เรื่องและภาพ : กลุ่มกลับบ้าน ค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๗

แปลงรักษา ป่าชุมชน คนห้วยหินดำ

เมื่อย่างเท้าเข้าป่า ก็รู้สึกว่าตัวเองหลุดเข้าไปในอีกโลกหนึ่ง…

สุดขอบด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดสุพรรณบุรีคือบ้านห้วยหินดำ อันเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ปักหลักอาศัยกันมายาวนาน ไม่ไกลจากชุมชนมีป่าเขียวขจี เสียงไผ่ลู่ลมและเสียงน้ำไหลประดังเข้าโสตประสาท อากาศค่อนข้างเย็นสบายและชื้นบ้างในบางช่วง ได้กลิ่นดินกลิ่นหญ้า มองเห็นต้นไม้แน่นขนัด แม้บรรยากาศจะร่มรื่นเสียจนคิดว่าป่านี้เหมาะเดินเที่ยวเล่น ทว่าพื้นที่นี้กลับเป็นป่าอนุรักษ์ที่ชาวบ้านอยู่ร่วมอย่างกลมกลืน

หลายคนคิดว่าการอนุรักษ์ป่า คือทุกสิ่งที่อยู่ในป่าล้วนแต่หวงห้ามครอบครอง อันที่จริงก็ถูกอยู่ครึ่งหนึ่ง เพราะนอกจากป่าจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรแล้วก็ยังมีพื้นที่บางส่วนให้ชุมชนดำรงอยู่ ชาวบ้านเข้ามาใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกับวิถีบรรพชนที่เคยเป็นมา

ป่าชุมชนบ้านห้วยหินดำอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติพุเตยอันเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่มีผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นศูนย์กลาง ประชาชนไม่มีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดิน แต่มีระบบจัดการที่ร่วมกันตกลงการใช้ประโยชน์ ว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ทำกินหรือพื้นที่อนุรักษ์ฟื้นฟู แนวคิดของป่าชุมชนจึงเป็นการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความสมดุล ทั้งตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนและดูแลป่าไม้ไม่ให้เสื่อมโทรม

plangraksa01
plangraksa02
จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านห้วยหินดำ จังหวัดสุพรรณบุรี คือการไม่ทำลายแต่ทำให้คงอยู่

ฉับๆ ฉึกๆ

เสียงจากมีดพร้าด้ามคมดังขึ้น

ประกิต พะง้า อดีตประธานป่าชุมชน พาเราไปยังพื้นที่ป่าอันเต็มไปด้วยต้นไผ่ พร้อมสาธิตวิธีขุดหน่อไม้และเล่าว่า ชาวบ้านเก็บหน่อไม้ไปรับประทานในครัวเรือน แบ่งปันแจกจ่ายให้ผู้คนบ้านใกล้เรือนเคียง และยังนำไปขายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ด้วย

ชาวกะเหรี่ยงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ โดยเฉพาะป่า พวกเขาดูแลป่าราวกับบ้านของตนเอง ซึ่งนอกจากการพึ่งพาป่าในแง่แหล่งทรัพยากรอาหารและการใช้สอยแล้ว ชาวบ้านยังบริหารและอนุรักษ์ทรัพยากร โดยจัดสรรและแบ่งพื้นที่ป่าของชุมชนเป็นสามพื้นที่หลัก ประกอบด้วย ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย และพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน ทำให้สภาพป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก

เมื่อเดินลึกเข้าป่าไปเรื่อยๆ สายตาเราสะดุดกับป้ายประกาศที่เขียนด้วยลายมือและรูปวาด

“ห้ามเก็บหาหน่อไม้บริเวณนี้ เนื่องจากจะฟื้นฟูสภาพป่าไผ่เพื่อให้สมบูรณ์…”

“ห้ามเก็บหาหน่อไม้ !เด็ดขาด!”

ลุงประกิตเสริมว่าในพื้นที่บ้านห้วยหินดำมีจุดที่ขุดหาหน่อไม้ได้หลายจุด แต่บางบริเวณต้นไผ่มีจำนวนลดลง จึงให้เก็บหน่อไม้ไปรับประทานได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เก็บหน่อไม้ไปขาย เพื่อรักษาความสมดุลของป่า

plangraksa03
มะขาม-สุกฤษฎิ์ ศรีทอง จากโครงการอาสาคืนถิ่น วางแปลงกำหนดพื้นตัวอย่างเพื่อศึกษาความหลากหลายของพืชพันธุ์ โดยเป็นหนึ่งในขั้นตอนการวิจัย ถือเป็นการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาด้วยความชอบของตัวเองมาสร้างประโยชน์ให้ชุมชน
plangraksa04
“มะขาม” เก็บรวบรวมข้อมูลพืชพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าตัวอย่าง เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้ให้เยาวชน

ชาวกะเหรี่ยงเคารพป่าเป็นอย่างสูงมาตั้งแต่อดีต พวกเขาเชื่อว่าป่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีจิตวิญญาณคอยปกปักรักษา สำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยงจึงไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยหลัง หากแต่เป็นวิธีคิดที่บรรพชนกะเหรี่ยงมีมาแต่เดิม ความร่วมมือในการฟื้นฟูป่าไผ่เกิดขึ้นจากสำนึกของชาวห้วยหินดำเอง แม้อุทยานฯ จะประกาศให้ชาวบ้านเก็บหาหน่อไม้ได้ แต่คนในหมู่บ้านต้องการให้ป่าได้ฟื้นฟู

ลุงประกิตเล่าว่า ปรกติแล้วต้นไผ่จะมีลำใหญ่มากกว่าที่เราพบเห็น แต่เหตุที่ไผ่มีลำเล็กลงเกิดจากการขุดหน่อไม้ซึ่งเป็นต้นอ่อนของไผ่ เมื่อไผ่แตกหน่อแล้วถูกตัดแต่เล็ก ส่วนต้นไผ่แก่ไม่สามารถแตกหน่อได้อีกและจะแห้งตายในที่สุด สภาพป่าไผ่จึงขาดความสมดุลหากใช้ประโยชน์อย่างไม่รู้คุณค่าเกินกว่าธรรมชาติจะสร้างขึ้นใหม่

มองดูสภาพแวดล้อมยังเห็นต้นไผ่กระจายทั่ว เราสงสัยว่าลุงประกิตรู้ได้อย่างไรว่าต้นไผ่ลดลง…

plangraksa05
หน่อไม้ วัตถุดิบท้องถิ่นจากป่าชุมชน มีข้อตกลงร่วมกันโดยอนุญาตให้ชาวบ้านเก็บหาเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก
plangraksa06
การกลับมายังบ้านเกิดของมะขามเป็นการช่วยพัฒนาบ้านห้วยหินดำ และเขายังช่วยให้ความรู้แก่บุคคลภายนอกเรื่องต้นยางนาอายุประมาณ ๒๐๐ ปี เปรียบเหมือนหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยง บ้านห้วยหินดำ

ราวกับรู้ว่าเราแปลกใจ ลุงประกิตไม่รอช้า พาไปหาคำตอบด้วยการสาธิตการวางแปลงตัวอย่าง อันเป็นวิธีสำรวจทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนทำต่อเนื่องยาวนานกว่า ๒๕ ปี โดยมี มะขามสุกฤษฎิ์ ศรีทอง ชายหนุ่มวัย ๒๘ ปี คนรุ่นใหม่คืนถิ่นซึ่งรับหน้าที่เป็นทั้งผู้ช่วยไกด์และคนดูแลป่าชุมชนมาช่วยแสดงขั้นตอน

มะขามกระชับเชือกฟางสีน้ำเงินที่หอบหิ้วติดตัวมาตลอดทาง เดินนำหน้าเราออกจากเส้นทางหลัก ปีนขึ้นไปบนเนิน ก่อนจะเริ่มผูกเชือกฟางรอบต้นไม้ต้นหนึ่ง จากนั้นดึงลากยาวขนานกับพื้นไปยังต้นอื่นๆ จนได้พื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัส

“เห็นชัดเลยว่าตรงนี้ไม่มีไผ่ลำหนุ่มๆ กอนี้เหลือแต่ลำแก่ครับ” ลุงประกิตชี้ให้สังเกตต้นไผ่สีเขียวไม่กี่ลำท่ามกลางไผ่สีดำแห้งกอใหญ่

ขั้นตอนการวางแปลงที่เราเห็นเป็นเพียงการสาธิตเท่านั้น ในความเป็นจริงจะต้องทำหลายสิบแปลงกระจายทั่วพื้นที่ป่า รวมอย่างน้อย ๓๐ แปลง แต่ละแปลงใช้พื้นที่ ๔X๔4 เมตร โดยหลังจากผูกเชือกฟางรอบต้นไม้เพื่อกำหนดพื้นที่ทำแปลงแล้ว ก็จะเริ่มสำรวจทรัพยากรป่าไม้ภายในแปลงนั้นๆ เช่น นับจำนวนไผ่ต้นเขียวและไผ่ต้นแห้ง จดบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด นำไปเปรียบเทียบกับจำนวนที่บันทึกไว้ในปีก่อนหน้า ฯลฯ

ปีนี้ต้นไผ่หนุ่มลดลง ส่วนไผ่แห้งมีมากขึ้น สะท้อนว่าจำนวนไผ่ที่เกิดใหม่ไม่สามารถทดแทนทรัพยากรที่ถูกใช้ไปอย่างเพียงพอ นำไปสู่การรณรงค์ให้คนในชุมชนหยุดขุดหน่อไม้ชั่วคราว เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นฟูนั่นเอง

“นี้คือวิกฤตที่เรารู้จากการวางแปลงว่านี่คืออันตรายที่จะมาถึง เพราะฉะนั้นก็นำมาสู่เรื่องที่ว่าจะวางแผนยังไงให้ไผ่รุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมาได้”

ไม่น่าเชื่อว่าการวางแปลงจะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของป่าผืนใหญ่ที่เราไม่สามารถสำรวจอย่างทั่วถึง

วิธีการวางแปลงเช่นนี้เกิดจากชุมชนและศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า-ประเทศไทย (RECOFTC-Thailand) ที่ร่วมมือออกแบบกระบวนการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ เพื่อเรียนรู้และรักษาป่าชุมชนร่วมกัน

plangraksa07
การกลับมายังบ้านเกิดของมะขามเป็นการช่วยพัฒนาบ้านห้วยหินดำ และเขายังช่วยให้ความรู้แก่บุคคลภายนอกเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน
plangraksa08
ดั่งเมล็ดพันธุ์ที่หยั่งรากลึกลงผืนแผ่นดิน เจริญเติบโตงอกงามผลิใบ เพื่อสืบต่อลมหายใจของบ้านห้วยหินดำ

ปัจจุบันนอกจากการวางแปลงจะใช้สำรวจว่าพรรณไม้ที่เกิดขึ้นใหม่ทดแทนส่วนที่ถูกใช้ไปได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ยังใช้สำรวจความหลากหลายของพันธุ์พืชในป่าได้อีกด้วย ซึ่งทรัพยากรที่มีคุณค่ามากมายจากป่านี้ คนในชุมชนนำไปใช้สอยในชีวิตประจำวัน

“นอกจากหน่อไม้ ยังมีเห็ดโคน เห็ดไข่ และสมุนไพรอีกหลายอย่างที่เราใช้ประโยชน์จากป่า กลุ่มผู้หญิงก็ใช้สีย้อมผ้าจากเปลือกมะค่าโมงและเปลือกประดู่ อันนี้คือความผูกพันของคนในชุมชนกับป่า ซึ่งถ้าป่าหมดไป ก็ไม่รู้จะใช้สีที่ไหนมาย้อมผ้า จะเอาไม้ที่ไหนมาทำบ้าน มันเป็นระบบที่เราต้องดูแลรักษา”

ทว่าการดูแลป่าทั้งผืนคงเกิดขึ้นไม่ได้หากไร้ทีมร่วมลงแรงและกลุ่มคนที่เข้ามาศึกษาเพื่อต่อยอดวิธีการดั้งเดิมให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนมากยิ่งขึ้น คนรุ่นใหม่อย่างมะขามจึงมาเข้าร่วมกิจกรรมรักษาป่าชุมชนและศึกษาการวางแปลงร่วมกับลุงประกิตแล้วถึง ๒ ปี ขณะเริ่มทำงานวิจัยเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์และอัตลักษณ์พื้นถิ่นชุมชนกะเหรี่ยง

“ผมศึกษาพันธุ์ไม้ พันธุ์พืชพื้นถิ่น เพื่อจะเก็บเป็นคลังความรู้ เพราะจุดอ่อนของชุมชนคือไม่มีผู้รู้เรื่องพันธุ์ไม้ ถ้ามีการศึกษาหรือแลกเปลี่ยนกับอาจารย์มหาวิทยาลัยและคนอื่นก็คิดว่าเป็นการสร้างคุณค่าและเป็นประโยชน์แก่ชุมชนด้วย”

แปลงเชือกสี่เหลี่ยมค่อยๆ ถูกเก็บหลังจบการสาธิต เราอดคิดในใจไม่ได้…

การทดลองวิจัยขนาดย่อมเพื่อรักษาป่าแห่งนี้ คือความผสมผสานและอยู่ร่วมอย่างกลมกลืนระหว่างคนกับป่าชุมชนบ้านห้วยหินดำที่น่าทึ่งไม่น้อย