ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

ค่ามาตรฐานใหม่ PM2.5 ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม
ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองเป็นตัวเลขที่ต้องให้ความสำคัญเพราะถูกใช้เป็นหลักอ้างอิงในการกำหนดแผนการเตือนภัย แม้แต่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศแบรนด์ต่างๆ ก็ใช้ตัวเลขเหล่านี้อ้างอิงและประมวลผล

เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา (ratchakitcha.soc.go.th) ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง “กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป” ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่ามาตรฐานใหม่ หลังยึดค่าเดิมมายาวนานหลายปี

หลังจากที่มีการกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน หรือ “PM 2.5” มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ [ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๖ (พ.ศ.๒๕๕๓) เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๓] ผ่านมากว่า ๑๐ ปี มีข้อเรียกร้องจากภาคส่วนต่างๆ ให้ปรับตัวเลขค่ามาตรฐานให้ทันยุคสมัย สอดรับสถานการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลายเป็นปัญหาใหญ่ แผ่ขยายไปทุกภูมิภาค ทวีความรุนแรงและซับซ้อน จนต้องมีการกำหนด “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ” นำเสนอผ่านที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ ก่อนยื่นเรื่องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) พิจารณา

หลังยึดโยงตัวเลขเดิมมายาวนานกว่าสิบปี ล่าสุดราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่าด้วยค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ใหม่ เพื่อเป็นเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีข้อความส่วนหนึ่งว่า

…มาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่าเฉลี่ยในเวลา ๒๔ ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้มีผลจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖ และตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๖ เป็นต้นไป ให้ค่าเฉลี่ย ในเวลา ๒๔ ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน ๓๗.๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

…มาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน ๒.๕ ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) ในเวลา ๑ ปี จะต้องไม่เกิน ๑๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเดิมในอดีต จากค่าเฉลี่ยราย ๒๔ ชั่วโมง เท่ากับ ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเปลี่ยนเป็น ๓๗.๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนค่าเฉลี่ยรายปี จากเดิมเท่ากับ ๒๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เปลี่ยนเป็น ๑๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นอกเหนือจากตัวเลขต่างๆ ข้างต้น ราชกิจจานุเบกษายังระบุถึง “ข้อกำหนด” อื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ วิธีการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง ว่าให้ทำในอุณหภูมิและความดันบรรยากาศสภาวะจริง (Actual conditions ) อยู่สูงจากพื้นดินอย่างน้อย ๑.๕๐ เมตร แต่ไม่เกิน ๑๕ เมตร

มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป โดยใช้วิธีการตรวจวัดตามที่ประกาศ

pmstandard02
pmstandard03
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ใหม่ หลังใช้ค่าเก่ามานานกว่าสิบปี

ย้อนเวลากลับไปในปี ๒๕๔๘ องค์การอนามัยโลกเคยมีข้อแนะนำในการกำหนดเป้าหมายของค่ามาตรฐานเฉลี่ย ๑ ปี กรณีฝุ่นละออง PM2.5 โดยแบ่งออกเป็น ๔ ระดับ ตามแต่ความพร้อมของแต่ละประเทศที่จะเลือกนำไปปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหมาะสมทางเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ ๓๕, ๒๕, ๑๕ และ ๑๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ต่อมาในปี ๒๕๕๓ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของประเทศไทย ได้ดำเนินการตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยกำหนดค่าเฉลี่ยในเวลา ๑ ปี อยู่ที่ไม่เกิน ๒๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง อยู่ที่ไม่เกิน ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และได้เริ่มติดตั้งเครื่องมือตรวจวัด PM2.5 ในปีต่อมา หากแต่กรมควบคุมมลพิษยังไม่มีการนำค่า PM2.5 มาใช้คำนวณดัชนีคุณภาพอากาศในประเทศไทย

สำหรับการปรับค่ามาตรฐานครั้งใหม่ เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ ๓ ขององค์การอนามัยโลก (WHO IT-3) ที่กำหนดให้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในกรณีค่าเฉลี่ย ๒๔ ชั่วโมง ควรอยู่ที่ ๓๗.๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปี ควรอยู่ที่ ๑๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

เสียงเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษทบทวนและปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดังถี่ขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี จนทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเคยก้าวขึ้นไปติดอันดับดัชนีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก

ขณะที่ตัวเลขค่ามาตรฐานเดิมก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเปิดช่องให้กับผู้ปลดปล่อยมลพิษมากกว่าที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด มีข้อมูลการวิจัยจากทั่วโลกที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ PM2.5 พบว่าค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศของประเทศไทยไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองได้ 

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การปรับค่าเป็นไปอย่างล่าช้า ภาครัฐชะลอการประกาศแก้ไขเรื่อยมา เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ ยังไม่มีแผนปฏิบัติการที่จะสามารถควบคุมฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นยวดยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า การเผาในพื้นที่โล่งแจ้ง ฯลฯ กลายเป็นความกังวลของหน่วยราชการเอง ว่าจะไม่สามารถควบคุมดูดแลให้เกิดการปฏิบัติตามค่ามาตรฐานใหม่ 

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย เคยให้สัมภาษณ์ The Active หัวข้อข่าว “ค่ามาตรฐานใหม่ (ดัก) ฝุ่น PM 2.5 : เปิดทางยกระดับแก้ปัญหาฝุ่น” ความตอนหนึ่งว่า

“กลัวหน่วยราชการด้วยกันเอง ที่จะมีคำถามว่า จะสามารถทำได้ตามค่ามาตรฐานใหม่หรือเปล่า เพราะทุกวันนี้แค่ตัวเลข ๕๐ เรายังทำไม่ได้เลย อย่างการใช้น้ำมันยูโร ๕ ตามแผนเดิมที่จะต้องใช้ในปี ๒๕๖๔ ก็ขอเลื่อนไปเป็นปี ๒๕๖๗ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่พร้อม และตอนนี้รถยนต์ใน กทม. ก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปี ๒๕๖๓ เพิ่มมากถึง ๗๐๐,๐๐๐ คัน เครื่องยนต์ดีเซลก็มีมากถึง ๒.๘ ล้านคัน”

ขณะที่ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงความสำเร็จของการปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยให้เข้มงวดขึ้นครั้งนี้ว่า เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้นเทียบเท่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียนลำดับต้นๆ ได้แก่สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงไต้หวัน

ฝุ่น PM2.5 เป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบรุนแรงในแต่ละปี ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพมีทั้งแบบเฉียบพลัน อาทิ แสบตา คัดจมูก ภูมิแพ้กำเริบ ไม่สามารถออกนอกบ้านไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปรกติ ฯลฯ และแบบเรื้อรัง อาทิ โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด ภาวะซึมเศร้า ฯลฯ

การกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะทำให้เกิดการบังคับ ควบคุม ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมา เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับอากาศที่เราหายใจ

อย่างไรก็ตาม แม้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ยังมีเรื่องต่างๆ อีกมากมายที่หน่วยงานรัฐต้องเร่งรัดจัดการ ยกตัวอย่างกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งกำหนดค่ามาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่นๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

กระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการจัดทำ ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) และเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรมเคยประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๗ (พ.ศ. ๒๕๖๓) กำหนดให้โรงงานที่มีสารมลพิษหรือสารเคมีตามที่รัฐมนตรีกำหนด ต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการประกาศรายชื่อสารมลพิษหรือสารเคมีที่ต้องจัดทำรายงานดังกล่าวแต่อย่างใด

การกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองใหม่เป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ตราบใดที่ไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จะปรับตัวเลขไปอย่างไร ก็ไม่มีประโยชน์